เศรษฐกิจ : มองอนาคตโลกในอีก 30 ปีข้างหน้าในมุมการลงทุน

เศรษฐกิจ : มองอนาคตโลกในอีก 30 ปีข้างหน้าในมุมการลงทุน

โดย … ดร.โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

วันนี้มามองกันต่อในมิติของการลงทุนบ้างครับ ในมิติของการลงทุนระหว่างประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน การลงทุนทางตรงและการซื้อขายควบรวมกิจการมีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่การไหลย้อนกลับของการลงทุนในรูปของการส่งกำไรกลับคืน (Divestment) เพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่ประชาชนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเริ่มเข้าสู่วัยสูงอายุ (Aging Society) นอกจากนี้ แนวโน้มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนมีแนวโน้มมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของนักลงทุนสถาบัน เช่น เฮดจ์ฟันด์ ซึ่งมีพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างรวดเร็วและในปริมาณที่สูงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบการเงินได้ โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) ซึ่งมีขนาดเล็กและมีสภาพคล่องต่ำตลาดการเงินขยายตัวมากขึ้น

ทั้งนี้ สินทรัพย์ทั่วโลกจะเติบโตอย่างมากในปี ค.ศ. 2030 เมื่อเทียบกับปัจจุบันโดยภูมิภาคเอเชียจะมีขนาดเงินฝากธนาคารเพิ่มขึ้นประมาณสี่เท่าและมีสัดส่วนเงินฝากธนาคารมากถึงกว่าร้อยละ 40 ของเงินฝากทั้งหมดทั่วโลก จะมีขนาดการปล่อยสินเชื่อภาคเอกชนประมาณสี่เท่าและมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อภาคเอกชนจากฐานเงินฝากของธนาคารประมาณหนึ่งในสามของโลก มูลค่าหุ้นรวมจะเพิ่มขึ้นประมาณสี่เท่าและมีสัดส่วนถึงประมาณหนึ่งในสามของโลก ส่วนพันธบัตรเอกชนจะเพิ่มขึ้นสูงที่สุดประมาณแปดเท่าและมีสัดส่วนมากกว่าสามเท่าของเศรษฐกิจโลก

ในด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะเพิ่มขึ้น โดยองค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization: UNWTO) ได้ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปี ค.ศ. 2020 ไว้ที่ 1,600 ล้านคน โดยภูมิภาคที่มีแนวโน้มเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีผู้นิยมเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

สำหรับในด้านราคาพลังงานโลกจะต้องสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ โดยพลังงานที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) ซึ่งได้แก่ น้ำมัน (Oil) ก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) และถ่านหิน (Coal) ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อโลกและต่อภูมิภาคเอเชีย ซึ่งสัดส่วนการบริโภคพลังงานที่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงถึงร้อยละ 80 ในปี ค.ศ. 2035 ราคาน้ำมันดิบจะอยู่ในช่วง 110 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ถึง 130 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (ณ ราคาคงที่หรือ Real terms)

ขณะที่ราคาของก๊าซธรรมชาติ (Natural Gas) จะมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ช่องว่างระหว่างราคาน้ำมันดิบกับราคาก๊าซธรรมชาติจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงก่อนปี 2035 ราคาของก๊าซธรรมชาติจะแพงกว่าราคาน้ำมันดิบอยู่เล็กน้อย สำหรับราคาถ่านหิน (Coal) จะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบๆ เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ

ที่มา : คมชัดลึก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *