เศรษฐกิจ : ผลจากการอุดหนุนพลังงาน ตอน 1

เศรษฐกิจ : ผลจากการอุดหนุนพลังงาน ตอน 1

รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : ผลจากการอุดหนุนพลังงาน บทเรียนสำหรับประเทศไทย (1)

รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : ผลจากการอุดหนุนพลังงาน บทเรียนสำหรับประเทศไทย (1) : โดย … ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาพลังงานได้ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้หลายประเทศเลือกที่จะดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เช่นเดียวกันกับนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่รัฐบาลมักจะมีความตั้งใจที่ดีที่จะทำให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจนสามารถเข้าถึงพลังงานราคาถูก และเพื่อให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจเพื่อภาคธุรกิจ เพื่อปกป้องตลาดภายในประเทศจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่กำหนดโดยปัจจัยนอกประเทศ และเพื่อลดแรงกดดันด้านค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่จะบอกว่า เงินต้นทุนที่ใช้สำหรับการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ถือเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่ขาดประสิทธิภาพ และจัดเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่ราคาแพงมาก รวมทั้งล้มเหลวในการให้กลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนี้ นโยบายดังกล่าวมักจะนำไปสู่ผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจ เช่น การลงทุนที่ไม่เพียงพอในภาคพลังงาน การลักลอบค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อได้ส่วนต่างของกำไร เป็นต้น

ก่อนอื่น ผมว่า เราต้องถามตัวเองว่าอะไรคือเงินอุดหนุนพลังงาน? โดยหลักใหญ่แล้ว นโยบายที่กำหนดมาเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานนั้นเรียกว่า “เงินอุดหนุนของผู้บริโภค” ในขณะที่นโยบายที่มุ่งเป้าไปที่การสนับสนุนผู้ผลิตในประเทศนั้นเรียกว่า “เงินอุดหนุนผู้ผลิต” ซึ่งถือเป็น 2 ประเภทหลักของนโยบายการอุดหนุนราคาพลังงาน

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ เงินอุดหนุนพลังงานในทั้ง 2 รูปแบบถือเป็นกลไกที่รัฐบาลสามารถเลือกใช้สนับสนุนการผลิตและการบริโภคของพลังงาน เช่น

    1) การโอนเงินโดยตรง ให้แก่ผู้บริโภคและ/หรือผู้ผลิตผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และหรือการค้ำประกันการกู้ยืมโดยภาครัฐ
    2) การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ผ่านการเครดิตภาษี การคืนภาษี การกำหนดข้อยกเว้นในค่าลิขสิทธิ์ เป็นต้น
    3) ข้อจำกัดทางการค้าผ่านภาษีศุลกากร การกำหนดโควตานำเข้าและกีดกันการค้า
    4) การให้บริการด้านพลังงานโดยตรงจากภาครัฐที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง
    5) การกำกับดูแลธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะการควบคุมราคาพลังงาน

เราจะเห็นได้ชัดว่าผู้ที่จะต้องรับผิดชอบจ่ายสำหรับเงินอุดหนุนพลังงานที่ส่วนใหญ่มักจะเป็นรัฐบาล (ก็คือประชาชนผู้เสียภาษีนั้นเอง) ซึ่งสร้างภาระทางการคลังและต้นทุนค่าเสียโอกาสสำหรับเงินอุดหนุนพลังงาน ที่จะกลายเป็นภาระหนักสำหรับงบประมาณของรัฐบาล และเมื่อรัฐบาลต้องอุดหนุนพลังงานยังทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเสียโอกาส ที่สิ้นเปลืองทรัพยากรงบประมาณที่ควรจะนำไปใช้สำหรับความต้องการเร่งด่วนอื่น ๆ เช่น การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และการพัฒนาโครงสร้างสังคมที่ดีผ่านการดูแลสุขภาพและระบบการศึกษาของประชาชน

นอกจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลอาจจะหวังดี แต่อาจจะมิได้สัมฤทธิผลตามที่ตั้งใจ คือการที่กลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์หลักของเงินอุดหนุนพลังงานเป็นกลุ่มคนชั้นกลางมากกว่าคนจน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้มีการวิจัยพบว่า ผลประโยชน์ที่ผู้ที่มีรายได้สูงที่สุดร้อยละ 20 ได้ประโยชน์ร้อยละ 42 ของเงินอุดหนุนพลังงาน ในขณะที่กลุ่มผู้ยากจนที่สุดร้อยละ 20 ได้รับประโยชน์เพียงร้อยละ 8.9 เท่านั้น

ผมขอค้างไว้เพียงเท่านั้นก่อนนะครับ สัปดาห์หน้ามาคุยเรื่องผลกระทบของนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานกันต่อครับ

———————-

(รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : ผลจากการอุดหนุนพลังงาน บทเรียนสำหรับประเทศไทย (1) : โดย … ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *