เศรษฐกิจ,สงคราม และ สันติภาพ กับ ทฤษฎีเกม และ บ๊อบ ออมานน์ นักเศรษฐศาสตร์โนเบล
|เศรษฐกิจ,สงคราม และ สันติภาพ กับ ทฤษฎีเกม และ บ๊อบ ออมานน์ นักเศรษฐศาสตร์โนเบล
รายงานพิเศษ ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์ มติชนรายวัน วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10386
ผมใช้เวลาเกือบทั้งวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมากับ โรเบิร์ต เจ. ออมานน์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์คนล่าสุด เริ่มจากการพูดคุยอย่างเป็นกันเองที่ห้องพักในโรงแรมโอเรียนเต็ล จบด้วยการนั่งฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สงครามและสันติภาพ” ที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นทั้งวันที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเขลากว่าที่เคยคิดไว้ไม่น้อยเลย
บ๊อบ ออมานน์ ไม่ได้เป็นเจ้าของทฤษฎีเกม แต่เขาได้รับการยกย่องให้เป็นผู้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับโธมัส เชลลิ่ง ศาสตราจารย์อเมริกัน จากมหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์ เมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา เพราะ “ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจว่าด้วยความขัดแย้ง และความร่วมมือระหว่างกันผ่านการวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีเกม”
ศาสตราจารย์ ดร.โรเบิร์ต เจ. ออมานน์ เกิดที่แฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกา เกือบค่อนชีวิตจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางด้านคณิตศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเส็ตต์ (เอ็มไอที) ก่อนที่จะกลับมาปักหลักเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลับฮีบรูแห่งอิสราเอล ในนครเยรูซาเลม
เขาเลยถือทั้งสัญชาติอเมริกันและอิสราเอล
ศาสตราจารย์ออมานน์ยังกระฉับกระเฉง แข็งแรง แม้อายุจะสูงวัยถึง 77 ปี ถ้าใครคุ้นเคยกับสังคมยิวมากพอก็จะบอกได้ว่า ท่านศาสตราจารย์เป็นยิวแท้ๆ เป็นยิวที่เคร่งครัดอย่างยิ่งอีกต่างหาก
ด้วยท่าทีที่สุภาพ นุ่มนวล ยิ้มง่าย บ๊อบ ออมานน์ พยายามอธิบายความถึงทฤษฎีเกมและการศึกษาของตนเอง ซึ่งส่งผลให้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ให้คนธรรมดาๆ ที่คณิตศาสตร์เป็นเหมือนยาขมอย่างผมฟังอย่างอดทน เราเริ่มต้นการพูดคุยกันด้วยคำถามพื้นๆ ที่ว่า อะไรคือทฤษฎีเกม? มันมีเป้าหมายอะไร? และประยุต์ใช้ได้อย่างไร?
ในทรรศนะของ ดร.ออมานน์ทฤษฎีที่มีมาก่อนหน้านี้ไม่น้อยกว่า 6 ทศวรรษนี้ เป็นศาสตร์สาขาหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์ ที่คนเรามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยที่แต่ละคนที่มีปฏิสัมพันธ์กันนั้น มีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายแตกต่างกัน น้อยครั้งที่จะมีเป้าหมายร่วมกัน
ศาสตราจารย์วัย 77 ปี อุปมาให้เห็นอย่างง่ายๆ ว่า ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนเราก็เหมือนกับการเล่นหมากรุก หรือโป๊กเกอร์ หรือเกมอย่างหนึ่งอย่างใด ที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังจะให้อีกฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้และตนเองได้รับชัยชนะ
การเปรียบเทียบดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นพื้นฐานของทฤษฎีเกมอย่างง่าย คือเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนสองคน แต่ในความเป็นจริงปฏิสัมพันธ์ในสังคมมนุษย์ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ระหว่างคนสองคน หากเกิดขึ้นระหว่างคนหลายคน ที่มีปฏิสัมพันธ์ต่อเนื่องกัน สิ่งที่ทำให้เกมที่คนเราเล่นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก ซับซ้อนจนยากที่จะมองเห็นว่า มันเป็นเพียงเกมก็เพราะเกมที่เรามีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันนั้นเกิดขึ้นซ้ำๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก และก่อให้เกิดผลที่กลายเป็นที่มา ของปฏิสัมพันธ์ต่อเนื่อง ซึ่งท่านศาสตราจารย์เรียกว่า “รูปแบบของปฏิสัมพันธ์ในระยะยาว” ขึ้น
ในกระสวนหรือแพทเทิร์นของปฏิสัมพันธ์ในระยะยาวดังกล่าวนั้น สามารถจำลองแบบออกมาเป็นสมการในเชิงคณิตศาสตร์ได้ เหตุปัจจัยต่างๆ ที่กอปรกันขึ้นเป็นสมการด้านหนึ่ง กับเหตุปัจจัยของสมการอีกด้านหนึ่งเมื่อสมมาตรย่อมก่อให้เกิดผล
ผลที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนออกมาให้เห็นเป็น 2 รูปแบบ คือผลที่กลายเป็น “ความร่วมมือ” กับผลที่เป็น “ความขัดแย้ง” ท่านศาสตราจารย์พยายามอธิบายสมการเชิงคณิตศาสตร์อีกบางประการ
แต่ถึงตอนนั้นในห้วงสมองของผมขาวเวิ้งว้าง ใสยิ่งกว่ากระจกใส เพราะไม่สามารถไล่ตามความคิดระดับนั้นได้อีกต่อไปแล้ว
เพราะกระสวนปฏิสัมพันธ์ในทฤษฎีเกมสามารถขยายกว้างใหญ่ออกไปครอบคลุม “ปฏิสัมพันธ์ระยะยาว” ของสังคมทั้งสังคมได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถจำแนกย่อยลงไปจนถึงหน่วยเล็กที่สุดก็คือปฏิสัมพันธ์ในระยะยาวระหว่างคนเพียงสองคนได้ สมการในทฤษฎีเกมจึงสามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวาง
ทฤษฎีเกมสามารถนำมาพิจารณาถึงพื้นฐานของการตัดสินในเรื่องหลากหลาย ตั้งแต่การทำความตกลงระหว่างประเทศ การเจรจาต่อรองทางการค้า การเจรจาต่อรองเรื่องแรงงาน การเก็บภาษี แม้กระทั่งนำมาใช้เพื่อพิจารณาตัดสินใจว่า หนทางใดคือทางที่ดีที่สุดในการทำงานของคนเรา
การศึกษาส่วนใหญ่ของศาสตราจารย์ออมานน์ เน้นไปทางด้านเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ลืมที่จะใช้แนวความคิดของเขา ในด้านทฤษฎีเกมมาใช้พิจารณาแง่มุมทางสังคมของโลกด้วย แง่มุมหนึ่งที่ บ๊อบ ออมานน์ ใช้เวลาให้กับมันมากไม่ใช่น้อยก็คือ การใช้แนวความคิดของตนเองมาพิจารณาเรื่องของสงครามและสันติภาพ
ยังไง? ผมเริ่มงุนงงอีกแล้ว
“ลองคิดอย่างนี้นะ” ศาสตราจารย์ออมานน์โน้มตัวมาข้างหน้าอย่างตั้งอกตั้งใจ “หลุยส์ ปาสเตอร์ ศึกษาเรื่องโรคในตัวคนเรา เขาพบว่ามันเกิดจากแบคทีเรีย เขาศึกษาแบคทีเรียต่อ พยายามทำความเข้าใจมัน เรียนรู้ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง เติบโตได้ยังไง เพื่อหาทางฆ่ามัน
เราสามารถใช้ทฤษฎีเกมในการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจได้เหมือนกันว่าสงครามเกิดขึ้นได้ยังไง มีเหตุปัจจัยอะไรในสมการสองด้านที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ออกมาเป็นความขัดแย้ง เป็นสงคราม เราศึกษาสงครามไม่ใช่เพื่อฆ่ามัน แต่เพื่อแก้ไขมัน ปรับปรุงแก้ไขให้เกิดสันติภาพขึ้นมา”
ท่านศาสตราจารย์ยิ้มอย่างสบอารมณ์ เอนหลังสบายๆ ใบหน้ายังเต็มไปด้วยริ้วรอยของอารมณ์ร่าเริง ที่สามารถเรียกรอยยิ้ม และการพยักหน้าแสดงความเข้าใจจากผมได้
“สงครามเกิดมาพร้อมๆ กับคนเรา มันเป็นมาอย่างนี้กว่า 500 ปีแล้ว และมันคงจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก 500 ปี” ทางศาสตราจารย์กล่าวต่อ ผมแทรกถามขึ้นทันทีว่าเพราะเหตุใด “เราไม่ได้พยายามเพียงพอที่จะเข้าใจถึงรากเหง้าที่เป็นสาเหตุของความขัดแย้ง” คือคำตอบจากบ๊อบ ออมานน์
ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮีบรูบอกว่า สงครามเป็นเรื่องของเหตุผล คนเราต้องมีเหตุผลถึงได้ทำสงคราม การคิดถึงและมองสงครามว่าเป็นเรื่องของความป่าเถื่อนไร้เหตุและผลเป็นสิ่งผิด เมื่อใดก็ตามที่เราศึกษาสาเหตุที่เป็นรากเหง้าของสงครามได้มากพอ และดีพอ ศึกษาองค์ประกอบทั้งในเชิงจิตวิทยา และแรงจูงใจที่ทำให้เราก่อสงครามขึ้นมาได้มากพอและถี่ถ้วนเพียงพอ เราสามารถปรับเปลี่ยนสมการให้สมมาตรและยังผลให้เกิดสันติภาพขึ้นมาได้
ในการบรรยายที่จุฬาฯ ท่านศาสตราจารย์บอกถึงหนทางหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดสันติภาพขึ้นบนโลกบูดๆ เบี้ยวๆ ใบนี้ได้ นั่นคือการเติมสิ่งที่เป็น “เจตนารมณ์ร่วม” ลงไปในสองด้านของสมการแห่งความขัดแย้ง
แต่ต้องเป็น “เจตนารมณ์ร่วมแห่งคุณงามความดี” เท่านั้น
“ท่านเคยนำทฤษฎีเกมมาใช้ศึกษาสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางหรือเปล่า? ผลออกมาเป็นอย่างไร?” เป็นคำถามพื้นๆ อีกคำถาม
“แน่นอน” ศาสตราจารย์ออมานน์ตอบรับหนักแน่น ก่อนนิ่งไปครู่ใหญ่แล้วพูดต่อด้วยเสียงแผ่วเบา “คุณรู้ไหม ปัญหาในตะวันออกกลางคืออะไร ปัญหาก็คือเจตนคติของอาหรับ ที่คิดว่าไม่ควรมีอิสราเอลอยู่ในโลกนี้ ในอดีตไม่เคยมีอิสราเอล ในวันนี้ก็ไม่ควรมี ไม่ว่าจะในวันนี้หรือในอนาคต อิสราเอลต้องไม่มีอยู่ในตะวันออกกลาง”
ถ้าเปลี่ยนเจตนคตินี้ได้ โฉมหน้าของตะวันออกกลางอาจเปลี่ยนไป
“ผมคิดถึงพลังทางเศรษฐกิจ การช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของอิสราเอลต่ออาหรับ ผมไม่ได้พูดถึงการนำเอาคนอาหรับ มาทำงานในอิสราเอล แต่พูดถึงการไปตั้งโรงงานการผลิตในดินแดนของอาหรับ” ดวงตาของท่านศาสตราจารย์ ยังทอประกายหนักแน่น แม้จะไม่เทียบเท่ากับหลายช่วงของการสนทนาที่ผ่านมาก็ตาม
“เมืองไทยก็อยู่ระหว่างเกิดความขัดแย้งทางการเมืองระดับวิกฤต ถ้านำเอาทฤษฎีเกมมาจับ จะสามารถอธิบายได้ไหม?”
“ได้แน่นอน” รอยยิ้มของท่านออมานน์กลับมาอีกครั้ง “แต่ผมต้องบอกก่อนว่า ตั้งแต่ได้รับรางวัลโนเบลมานี่ ผมยังไม่ได้ทำงานวิจัยอะไรอีกเลย แถมไม่รู้รายละเอียดอีกต่างหากว่า เกิดอะไรขึ้นที่นี่ แล้วถ้าเราไม่รู้อะไรละก็ เงียบไว้เป็นดีที่สุด” ท่านศาสตราจารย์บอกพร้อมเสียงหัวเราะ
เอ่อ…คงถึงเวลาที่ผมต้องเงียบไปด้วยแล้วละซินี่!