เรื่องโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว (Tourism logistics)
เรื่องโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว (Tourism logistics)
แนวคิดเรื่องโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว (Tourism logistics) คล้ายคลึงกับเรื่องการขนส่งสำหรับการท่องเที่ยว (Tourism and Transport) แต่ครอบคลุมกว้างกว่า โดยโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยวครอบคลุมสามเรื่องใหญ่คือ การขนส่งนักท่องเที่ยวและวัตถุสิ่งของ (Physical flow) การให้และรับข้อมูลข่าวสาร (Information flow) และการรับจ่ายเงิน (Financial flow) ในขณะที่เรื่องการขนส่งสำหรับการท่องเที่ยวจะครอบคลุมเฉพาะเรื่องการขนส่งนักท่องเที่ยวและวัตถุสิ่งของเท่านั้น
ในประเทศไทยผู้ที่ริเริ่มนำแนวคิดโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยวมาใช้ในการวิจัยคือ ศาสตราจารย์ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์คมสัน สุริยะ โดยมีผลงานวิจัยที่สำคัญสองเรื่อง เรื่องแรกคือ มิ่งสรรพ์ และคณะ (2551) เรื่องที่สองคือ คมสัน ศิริพร และกันต์สินี (2551) โดยมีผู้ต่อยอดโดยการเพิ่มมิติทางเศรษฐศาสตร์เข้าไปคืออาจารย์ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์ ซึ่งอาจารย์ทั้งสามท่านร่วมงานด้วยกันที่สถาบันวิจัยสังคม และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2552
เว็ปไซต์นี้มีจุดมุ่งหมายที่จะแนะนำแนวคิดเรื่องโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยว ให้ความรู้เรื่องการวิจัยและการทำวิทยานิพนธ์ เกร็ดการทำวิจัย แบบจำลองเศรษฐมิติและการวิเคราะห์เชิงปริมาณที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ตัวอย่างการทำวิจัยทางด้านโลจิสติกส์และการท่องเที่ยว รวมทั้งอภิปรายผลกระทบของสถานการณ์สำคัญด้านโลจิสติกส์การท่องเที่ยว นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเพื่อลดภาวะโลกร้อน และแนะนำการใช้ภาษาเพื่อเอาตัวรอดในประเทศที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ภาพประกอบเกือบทั้งหมดถ่ายภาพโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์คมสัน สุริยะ ระหว่างที่ปฎิบัติราชการวิจัยอยู่ที่ต่างประเทศ
การวิจัยทางด้านโลจิสติกส์สำหรับการท่องเที่ยวเป็นการวิจัยที่อาศัยความรู้หลายสาขาประกอบกัน (Interdisciplinary) ซึ่งงานวิจัยร่วมกันหลายสาขานี้ช่วยตอบคำถามที่วิชาการเพียงสาขาเดียวไม่สามารถให้คำตอบได้ และช่วยขยายขอบเขตของความรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ่นในพื้นที่เดิมที่เคยเป็นช่องว่างทางวิชาการแต่ไม่เคยเป็นช่องว่างของปัญหา เว็ปไซต์นี้จึงได้ขยายกรอบออกไปเพื่อรองรับการวิจัยแบบ Interdisciplinary ในเรื่องที่ใกล้ตัวก่อน คือ การท่องเที่ยวกับการลดความยากจน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวด้วยการผสานความรู้ทางเศรษฐศาสตร์และการวิจัยตลาด นอกจากนั้นยังแนะนำการฝึกฝนตนเองให้ก้าวไปสู่ความเป็นมืออาชีพในการทำวิจัย
komsan@tourismlogistics.com