เรื่องลับนักเศรษฐศาสตร์

เรื่องลับนักเศรษฐศาสตร์
คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา โดย ปกป้อง จันวิทย์ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3821 (3021)
คุณสฤณี อาชวานันทกุล เจ้าของคอลัมน์ “ล่องคลื่นโลกาภิวัตน์” ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ และ “คนชายขอบ” ของเว็บไซต์โอเพ่นออนไลน์ (www.onopen.com) กรุณาแบกหามหนังสือหนึ่งถุงใหญ่มาให้ผมยืมอ่านเมื่อปลายเดือนก่อน
หนึ่งในนั้นเป็นหนังสือที่ผมอ่านด้วยความเพลิดเพลินบันเทิงใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นหนังสือแนวโปรด ว่าด้วยประวัติความคิดของวิชาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสอดแทรกเรื่องลึกเรื่องลับในชีวิตของนักคิดเศรษฐศาสตร์คนสำคัญของโลก ตลอดจนเกร็ดประวัติศาสตร์เศรษฐศาสตร์ ที่ผู้เขียนเล่าได้สนุกและมีเสน่ห์เหลือเกิน
หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า The Making of Modern Economics: The Lives and Ideas of the Great Thinkers (2001) เขียนโดย Mark Skousen
สนุกเสียจนอดยกบางเสี้ยวส่วนมาเล่าสู่กันฟังไม่ได้
เรื่องแรก ทุกคนคงรู้จัก Adam Smith (1723-1790) บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ ผู้เขียนหนังสือ The Wealth of the Nations (1776) เป็นอย่างดี
ทราบไหมครับว่า อาชีพในช่วง 12 ปีสุดท้ายของนักเศรษฐศาสตร์ผู้เชื่อมั่นในระบบตลาดเสรี สนับสนุนนโยบายการค้าเสรี อย่างการยกเลิกภาษีนำเข้าคืออะไร ?
ตลกร้ายไหมครับ ถ้าจะบอกว่า Smith เป็นหัวหน้าศุลกากรในสกอตแลนด์ ทำหน้าที่ดูแลการจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้า และตรวจสอบสินค้าหนีภาษี ! ทั้งที่งานเขียนของ Smith ก่อนหน้านั้นเรียกร้องให้มีการยกเลิกภาษีนำเข้า ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการค้าเสรีระหว่างประเทศ
เมื่อ Smith รับตำแหน่ง ก็อุตส่าห์ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน ในจดหมายของ Smith ถึง Lord Auckland บรรยายว่า เมื่อเขาตรวจพบว่าเสื้อผ้าส่วนตัวบางตัวถูกนำเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย ก็ปวารณาตัวขอทำเป็นตัวอย่างด้วยการเผาทิ้งให้หมด ! และยังยุให้ Lord Auckland และภรรยาตรวจสอบด้วยว่าได้ซื้อเสื้อผ้าหนีภาษีหรือไม่ ถ้ามีก็ควรจะเผาทิ้งเช่นเดียวกับเขา
นั่นไม่ใช่การ “เผา” ครั้งเดียวของ Smith ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในปี 1790 Smith ขอร้องให้เพื่อนสนิท 2 คน ที่เขากินข้าวด้วยทุกวันอาทิตย์ เผาร่างต้นฉบับงานเขียนที่ไม่ได้ตีพิมพ์ของเขาทิ้งให้หมด น่าเสียดายที่ร่างต้นฉบับงานเขียนของ Smith 16 เล่ม ต้องจบลงที่กองเพลิงแทนที่จะเป็นแท่นพิมพ์
จาก Smith เราจะมาฟังเรื่องลับของ John Maynard Keynes (1883-1946) ผู้ซึ่ง John Kenneth Galbraith ให้เครดิตว่า เป็นผู้ช่วยปกปักรักษาระบบทุนนิยม ด้วยการนำพาเศรษฐกิจโลกผ่านพ้นจากวิกฤตครั้งสำคัญ คือเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Depression) ในทศวรรษ 1930s ไว้ได้
หนังสือ The General Theory of Employment, Interest and Money (1936) ของ Keynes เปลี่ยนวิธีคิดของนักเศรษฐศาสตร์ด้านการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจมหภาค (ขอใช้ศัพท์ยุคปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจอย่างกระชับ เพราะสมัยนั้นยังไม่มีการใช้ศัพท์คำว่าเศรษฐกิจมหภาค หรือเศรษฐศาสตร์มหภาคทำนองเดียวกับสมัยนี้) อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะบทบาทของรัฐบาล ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ภายใต้ระบบทุนนิยมที่เต็มไปด้วยความผันผวน
Keynes เสนอว่า ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลควรมีบทบาทในการเพิ่มความต้องการใช้จ่ายรวมของระบบเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายการคลังแบบขาดดุล เพื่อปรับจูนระบบเศรษฐกิจสู่ระดับการจ้างงานเต็มที่ ความคิดนี้แตกต่างจากนักเศรษฐศาสตร์ยุคก่อนหน้า (สำนักคลาสสิก) ที่เชื่อว่ารัฐบาลไม่ควรมีบทบาททางเศรษฐกิจ เพราะตลาดเสรีสามารถปรับตัวแก้ปัญหาความไม่สมดุลในระบบได้ด้วยตัวเอง
ตลอดชีวิตของ Keynes เขาผลิตวรรคทองมากมาย ที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็น “In the long run we are all dead.” กระนั้น วรรคทองอีกอันหนึ่งซึ่งสะท้อนตัวตนของเขาได้ดีคือ [It] is too late to change. I remain, and will always remain, an immoralist. เนื่องเพราะ Keynes เป็นคนให้คุณค่ากับการใช้ “ชีวิตที่ดี” มากกว่ายึดมั่นถือมั่นในกรอบกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม ที่สังคมให้คุณค่า จะว่าไป หากเว้น Karl Marx ไว้สักคน Keynes คงเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีคนเขียนประวัติชีวิต อันเต็มไปด้วยสีสัน และความคิดอันน่าทึ่งของเขามากที่สุด
หลายคนคงคุ้นเคยกับเรื่องเล่าว่าด้วยความเป็นคนรักร่วมเพศ (homosexuality) ของ Keynes แต่คงมีน้อยคนที่รู้ว่า Keynes ยังเป็นนักดู “มือ”
เขาชอบสังเกตขนาดและรูปร่าง “มือ” ของผู้คน และทำนายบุคลิกลักษณะ นิสัยใจคอ ของคนด้วยการดู “มือ” มาตั้งแต่อายุ 16 ปี Keynes เคยวิเคราะห์วิจารณ์ “มือ” คนดังหลายคนที่เขาเคยพบเจอในการประชุม เช่น ประธานาธิบดี Woodrow Wilson และประธานาธิบดี Franklin D. Roosevelt ของสหรัฐอเมริกา มีครั้งหนึ่งที่ Keynes แสดงอาการเสียใจที่ประธานาธิบดี ฝรั่งเศสในขณะนั้นใส่ถุงมือมาประชุม !
การดู “มือ” อาจเป็นงานอดิเรกของ Keynes แต่ทราบหรือไม่ว่า Keynes ผู้เขียนหนังสือว่าด้วยความผันผวนของระบบทุนนิยม ยังเป็น “พ่อมดการเงิน” อีกด้วย ตั้งแต่ซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน ซื้อขายสินค้าในตลาดล่วงหน้า ยันเล่นหุ้น หลักการลงทุนที่เขาเคยเขียนไว้ในจดหมายถึงผู้จัดการการเงินคือ “ต้องลงทุนสวนทางกับความเห็นที่คนเชื่อกันทั่วไป”
ในฐานะนักลงทุนทางการเงิน Keynes ถือว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียว แม้เขาจะใช้ชีวิตในช่วงสงครามโลก และเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ แต่ในปี 1946 ที่เขาเสียชีวิต สินทรัพย์ทางการเงินของเขามีมูลค่าสูงถึง 411,000 ปอนด์ เทียบกับมูลค่า 16,315 ปอนด์ ที่เขาเริ่มต้นลงทุนในปี 1920
นอกจาก Keynes แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในประวัติศาสตร์ที่นับได้ว่าเป็น “พ่อมดการเงิน” คนสำคัญ กระทั่งบางคนกล่าวว่า เป็นนักคิดเศรษฐศาสตร์ที่ร่ำรวยที่สุดในประวัติศาสตร์ คือ David Ricardo (1772-1823) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษคนสำคัญ ในยุคคลาสสิก ผู้คิดค้นกฎความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Law of Comparative Advantage) เพื่อนรักของ Robert Malthus
Ricardo สร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองด้วยการเป็นนักเก็งกำไร ในตลาดหุ้น ตลาดล่วงหน้า รวมถึงซื้อขายหนี้รัฐบาล เขาเริ่มต้นธุรกิจการเงินด้วยเงินเพียง 800 ปอนด์ เมื่ออายุได้เพียง 21 ปี สามสิบปีให้หลังสินทรัพย์เขามีมูลค่าสูงถึง 675,000-775,000 ปอนด์
ในช่วงศึกวอเตอร์ลู (1815) Ricardo เสี่ยงครั้งใหญ่ในชีวิตด้วยการซื้อพันธบัตรกู้ยืมเงินเพื่อใช้ในสงคราม ในตอนนั้น ราคาพันธบัตรตกต่ำ เพราะมีการออกพันธบัตรกู้ยืมมูลค่าสูงจำนวนมาก และยังมีความไม่แน่นอนว่าฝ่ายใดจะชนะสงคราม แต่ Ricardo กลับไม่ยอมขายพันธบัตรทิ้งดังเช่นนักลงทุนรายอื่นในตลาด (ซึ่งรวม Malthus เพื่อนรักของเขาที่ขายหมูตั้งแต่ไก่โห่ด้วย)
กระทั่งในที่สุดฝ่ายนโปเลียนแพ้สงครามที่ วอเตอร์ลู ราคาพันธบัตรจึงพุ่งสูงลิ่ว ประเมินกันว่า Ricardo ได้เงินจากการนี้สูงถึง 1 ล้านปอนด์ทีเดียว
พูดถึงความสำเร็จของ Keynes และ Ricardo ในฐานะ “พ่อมดการเงิน” แล้ว อดกล่าวถึงนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอีกคน ที่เผชิญชะตากรรมตรงกันข้าม อย่าง Irving Fisher (1867-1947) ไม่ได้
Fisher เป็นเจ้าพ่อเศรษฐศาสตร์การเงิน เจ้าของทฤษฎีว่าด้วยปริมาณเงิน (Quantity Theory of Money) ผู้เชื่อมั่นว่า “Only money matters.” มาตลอดชีวิตของเขา นักประวัติความคิดเศรษฐศาสตร์อย่าง Mark Blaug เคยขนานนาม Fisher ว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันผู้มากสีสันที่สุด
Fisher เกิดในครอบครัวชนชั้นนำ สนใจคณิตเศรษฐศาสตร์มาก วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง “Mathematical Investigations in the Theory of Value and Price” เป็นวิทยานิพนธ์ที่ Paul Samuelson ยกย่องว่าเป็นวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์
ในช่วงขาขึ้นของชีวิตนักวิชาการหนุ่มวัยเพียง 31 ปีแห่งมหาวิทยาลัยเยล Fisher กลับเผชิญเคราะห์กรรมแรกในชีวิต ด้วยหมอตรวจพบว่าเขาเป็นวัณโรค (Tuberculosis) ซึ่งในขณะนั้นเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตเพราะรักษาไม่หาย Fisher เลยต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเองด้วยการลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย อย่างจริงจัง จนมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ยาวนาน
นอกจากเป็นนักวิชาการแล้ว Fisher ยังประกอบธุรกิจ เขาเป็นผู้คิดค้น Rolodex (ที่เก็บการ์ดแบบเจาะรูร้อยห่วง) ในช่วงต้นทศวรรษ 1910 กระทั่งปี 1925 เขาขายกิจการจนกลายเป็นมหาเศรษฐี และเข้าซื้อ Lincoln Automobile ในช่วงทศวรรษ 1920s Fisher ยังโด่งดังในฐานะนักวิเคราะห์หุ้นใน Wallstreet อีกทั้งยังเข้าลงทุนในตลาดหุ้นด้วยตัวเอง
แม้จะร่ำรวยอู้ฟู่ในช่วงแรก แต่บิดาแห่งเศรษฐศาสตร์การเงินผู้นี้ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ในช่วงวิกฤตการณ์ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาในปี 1929 ต้องเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว มิหนำซ้ำยังเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ถูกเก็บภาษีย้อนหลังจากรัฐบาลจำนวนมหาศาล ถึงขั้นไม่มีปัญญาผ่อนบ้าน จนมหาวิทยาลัยเยลต้องเข้ามาช่วยซื้อบ้าน และให้ Fisher เช่าต่ออีกทอดหนึ่ง
นอกจากเศษเสี้ยวของหนังตัวอย่างที่ยกมาเล่าสู่กันฟัง ยังมีเกร็ดของวิชาเศรษฐศาสตร์ และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังในประวัติศาสตร์อีกมากมาย ในหนังสือเล่มนี้ เช่น
รู้หรือไม่ว่าแนวคิดแรกเริ่มของ GDP (GDP = C + I + G) ถูกคิดค้นขึ้นมาจากนักเศรษฐศาสตร์เชื้อสายรัสเซีย !
ใครกันแน่ที่เป็นคนคิดค้นคำว่า Macroeconomics ในเมื่อ Paul Samuelson บอกว่า เขาไม่ใช่คนแรกที่ใช้คำนี้ ?
นักเศรษฐศาสตร์การเงินคนใดที่อยากเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจให้มุสโสลินี ?
ใครคือนักเศรษฐศาสตร์อัจฉริยะที่ได้ปริญญาตรีสองใบ (คณิตศาสตร์และฟิสิกส์) ในเวลาเพียงสองปี และต่อสู้เพื่อสิทธิในการทำแท้งมาตลอดชีวิต แต่กลับต้องมาติดคุกเมื่อวัยใกล้เกษียณ เมื่อวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาคริสต์อย่างรุนแรงในที่สาธารณะ ?
ใครเป็นเจ้าของทฤษฎีหนังสือเล่มหนา (Fat-book Theory) ที่ว่า หนังสือที่มีศักยภาพนำไปสู่การปฏิวัติ จักต้องมีความหนามากๆ ?
ใครคือนักเศรษฐศาสตร์ผู้ไม่ยอมใช้โทรศัพท์ ไม่ยอมทำงานบ้าน ไม่ค่อยชอบแปรงฟัน เคยให้เกรด C แก่นักศึกษาเท่ากันทุกคนทั้งชั้น โดยไม่สนใจว่างานดี ไม่ดี และโดนมหาวิทยาลัยชิคาโก และสแตนฟอร์ดให้ออก ด้วยปัญหาอื้อฉาวทางเพศกับนักศึกษา ?
อยากรู้คำตอบ หาหนังสืออ่านครับ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *