เมื่อเรื่องเด็กๆ ไม่ใช่เพียงเรื่องเล็กๆ อย่างที่คาด

เมื่อเรื่องเด็กๆ ไม่ใช่เพียงเรื่องเล็กๆ อย่างที่คาด
มุมมองบ้านสามย่าน : ณัฏฐาภรณ์ เลียมจรัสกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
ภาพข่าวปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเด็กที่ปรากฏผ่านสื่อโทรทัศน์เมื่อหลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ย้อนกลับมาสู่ความคิดอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเห็นภาพเด็กชายรูปร่างผอมแกร็นที่เกาะอยู่หลังลูกกรงกั้นท้ายของรถขนของคันใหญ่ที่ขับอยู่เบื้องหน้า รูปร่างที่ผอมเล็กและสายตาที่มองออกมาอย่างว่างเปล่า สะท้อนความโหดร้ายของสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่ความจริงแล้วเด็กๆ ที่มีวัยขนาดนี้ สมควรจะได้วิ่งเล่นอยู่ในโรงเรียนเช่นเดียวกับเพื่อนๆ มากกว่าที่จะต้องมาทำงานเป็นเด็กขนของแบบนี้
เช่นเดียวกันกับสี่แยกอีกหลายแห่งที่เป็นที่ทำงานของอีกหลายชีวิต ภาพที่เห็นจนชินตาของเจ้าของรถที่จอดติดไฟแดง ก็คือ ภาพเด็กชายหญิงตัวเล็กๆ ทำงานแข่งกับไฟจราจรสีเขียวแดงที่นับถอยหลัง พวงมาลัยมะลิดาวเรืองหลายพวงถูกส่งแลกกับเงินไม่กี่บาท ซึ่งเงินจำนวนนั้นไม่มีทางคุ้มค่าไม่ว่าจะมองจากความเสี่ยงที่ชีวิตเล็กๆ ต้องเผชิญอยู่กับทุกไฟแดง หรือการข่มขู่รีดไถจากมาเฟียในเขต แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่าความหิวนั้นร้ายกาจยิ่งกว่าความเสี่ยงบนท้องถนนที่ต้องเผชิญ
เมื่อย้อนกลับไปเปรียบเทียบช่วงเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา ก็น่าแปลกใจว่า การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีความก้าวหน้าในปัจจุบันไม่ได้ทำให้ชีวิตเด็กเร่ร่อนในยุคศตวรรษที่ 21 ต่างอะไรกับเด็กกำพร้าหรือเด็กเร่ร่อนในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมสักเท่าใด ทั้งสองกลุ่มล้วนแต่เป็นผู้ถูกกระทำจากสังคม สิ่งที่เปลี่ยนไปคงเป็นเพียงสถานที่ทำงานจากหลังลูกกรงของ Workhouse มาสู่ท้องถนนที่รถราขวักไขว่เท่านั้น ซึ่งในกรณีหลังอาจเสี่ยงชีวิตมากกว่าด้วยซ้ำไป
ในศตวรรษที่ 21 ท่ามกลางความเป็นมหานครของกรุงเทพฯ แรงดึงดูดที่ยั่วใจทางเศรษฐกิจ กลิ่นอายความทันสมัยหรือความโก้หรูเป็นแม่เหล็กอย่างดี ที่ดึงให้ผู้คนเดินทางสู่มหานครแห่งนี้ แม้ว่าผู้คนบางส่วนจะไม่ชอบความเป็นมหานครที่วุ่นวายยุ่งเหยิงเท่ากับละแวกบ้านของตนเองที่มีความสงบเรียบง่าย แต่แรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้เปิดทางให้ผู้คนได้เลือก เมื่อวงล้อแห่งทุนนิยมทั่วโลกหมุน ชนบทก็หมุนด้วยแรงฉุดดึงของเมืองใหญ่ ซึ่งสถานการณ์ของกรุงเทพมหานครก็ไม่ต่างไปจากมหานครทั่วโลกแห่งอื่น ที่มีทั้งปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหามลพิษอากาศเสีย ปัญหาด้านสุขภาพ ฯลฯ
นอกจากผู้คนที่เข้ามาแสวงหาโอกาสจะต้องประสบปัญหาต่างๆ ในเมืองแล้ว เด็กที่เกิดจากพ่อแม่เหล่านั้นก็ประสบปัญหาไปพร้อมกันด้วย ทั้งปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย ปัญหาสุขภาวะ ปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษา หรือกรณีที่เลวร้าย เด็กอาจพบกับปัญหาถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และต้องกลายมาเป็นเด็กเร่ร่อนตามพื้นที่ต่างๆ
งานศึกษาของเฮอร์เบิร์ต จิราเดต์ ในหนังสือ “The Gaia Atlas of Cities” ได้ชี้ว่าปัญหาการขยายตัวของเมืองในประเทศกำลังพัฒนาได้ก่อให้เกิดผลกระทบกับเด็ก โดยอ้างอิงรายงานของสถาบันปาโนส (Panos Institute) ว่า มีเด็กถูกทิ้งกว่า 100 ล้านคนจากหลายร้อยเมืองทั่วโลก ในจำนวนนั้นมีอยู่ประมาณ 10,000 คน ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในอีกกว่า 10 ปีต่อมา งานศึกษาของ รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ในหนังสือชื่อ “กรุงเทพมหานคร : เมืองสีเทาของเด็กและเยาวชน” ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2550 ได้ตอกย้ำภาพปัญหาเด็กให้เด่นชัดขึ้น เมื่อสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้า ทั้งความรุนแรงจากปัญหาเก่าที่ยังไม่คลี่คลายอย่างปัญหาเด็กเร่ร่อน และปัญหาในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีอิทธิพลจากสื่อต่างๆ อาทิเช่น ปัญหาเด็กติดเกม ปัญหาสื่อลามกอนาจาร ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งไม่นับรวมปัญหาการค้ามนุษย์และโสเภณีเด็กที่เกิดขึ้นในทุกซอกมุมของเมืองยามราตรี
ในปัจจุบันผู้ใหญ่ต่างเบียดบังทรัพยากรในอนาคตของเด็กรุ่นใหม่มากแล้ว อาทิเช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ก็น่าประหลาดใจว่าผู้ใหญ่บางส่วนสามารถทำใจให้คุ้นชินกับอนาคตที่ถูกวางอยู่ริมทางโดยไม่ใส่ใจได้ เพราะคิดว่านั่นคือปัญหาของสังคมไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาเศรษฐกิจหรือจะกระทบต่อตนเอง และเพราะคุ้นชินกับการมองปัญหาแบบแยกส่วน ทำให้ไม่ได้ตระหนักว่าอนาคตในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า สังคมไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่สัดส่วนประชากรวัยชราจะเพิ่มมากขึ้น เด็กและเยาวชนเหล่านี้เองที่จะเป็นกำลังหลักของระบบเศรษฐกิจ เป็นวัยทำงานที่ต้องแบกรับและส่งภาษีเข้าประเทศ เพื่อเป็นงบประมาณและสวัสดิการต่างๆ และแน่นอนว่า ส่วนหนึ่งจะมาเป็นสวัสดิการของกลุ่มวัยชราหรือผู้ใหญ่ในปัจจุบัน ทั้งหมดยิ่งทำให้จินตนาการไม่ออกว่า หาก “ว่าที่อนาคต” ของประเทศอ่อนแอ ไม่เพียงแต่ไม่สามารถดูแลรับผิดชอบตนเองได้ ผลลัพธ์ของสังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ในระดับรัฐบาล ปัญหาหลักๆ ในการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนไม่ได้อยู่ที่วิธีการดำเนินการ หากแต่อยู่ที่มุมมองความคิดของผู้บริหารที่ตีค่าปัญหาว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่เท่ากับปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชนที่เห็นได้ชัดเจนมากกว่าในยุควิกฤติเศรษฐกิจ หรือไม่ดีเท่าการสร้างภาพลักษณ์ที่สวยงามของรัฐบาลให้มิตรประเทศได้เห็น ซึ่งไม่ปฏิเสธว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่หากรัฐบาลปล่อยให้ปัญหาเด็กและเยาวชนยืดเยื้อต่อไป จะกลายเป็นการผูกปมปัญหาอนาคตให้ขมวดเกลียวแน่นขึ้นและยากต่อการแก้ไข
ซึ่งรัฐบาลที่ดีงามและมีความจริงใจ จะสามารถวางเฉยต่อความทุกข์ยากของเด็กที่กุมอนาคตเศรษฐกิจ สังคมของประเทศได้กระนั้นหรือ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *