เมล็ดพันธุ์คิดบวก

เมื่อเรียนรู้ว่าในวิกฤติมีโอกาสหนทางออก และตระหนักอยู่เสมอว่าความคิดเปลี่ยนชีวิตได้ ทำให้ พญ.พรพรรณ์ วรรณฤทธิ์ หัวหน้าพัฒนาระบบบริการสุขภาพ โรงพยาบาลลำพูน ผ่านพ้นห้วงยามเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างและแนวทางปฏิบัติงาน อันเนื่องมาจากนโยบายของผู้บริหารสูงสุดขององค์กรได้ โดยไม่เกิดความเครียดตามมามากมาย แม้นว่าการปรับเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อภารกิจการงาน ในฐานะผู้ปฏิบัติและผู้บริหารลำดับรองของเธอก็ตามที

เพราะระยะเวลาแค่ 2 ปี 2547-2549 แต่โรงพยาบาลลำพูนมีผู้อำนวยการมากถึง 5 คน ตลอดจนเกิดนโยบายองค์กรโดยผู้บริหารสูงสุดที่เปลี่ยนแปรไป ทั้งในแง่มุมเสริมสร้างนโยบายก่อนหน้าและสวนทางตรงข้ามกับของเดิม ย่อมทำให้บุคลากรทั่วไปอึดอัดคับข้อง วิตกกังวลใจได้ไม่น้อย โดยเฉพาะผู้ที่ค่อนข้างคิดลบ มองการเปลี่ยนแปลงเป็นวิกฤติที่สร้างความวุ่นวายไร้ทางออกมาให้

หากกระนั้น ความรู้สึกทางลบก็ไม่เคยเกิดกับ พญ.พรพรรณ์สักครั้ง ดังเธอให้ความหมายสถานการณ์ยากลำบากว่าเป็นความท้าทาย และถือเป็นห้วงยามเก็บเกี่ยวโอกาสในวิกฤติ ถึงแม้ว่านโยบายใหม่ๆ ที่มาพร้อมผู้บริหารใหม่ๆ จะไปในทิศทางตรงข้ามกับของเดิมที่เคยคุ้นโดยสิ้นเชิงก็ตาม

ทั้งนี้ เพราะนอกจากส่วนตัวเธอจะผ่านพ้นไปได้ ด้วยเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงหลุดพ้นกรอบเดิมๆ และมองเห็นแง่มุมเปลี่ยนแปลงเป็นประโยชน์แก่การงาน ดังเช่นระบบ ISO ที่ถึงจะเพิ่มขั้นตอนการปฏิบัติขึ้นมากมาย หากทว่าท้ายสุดเธอก็ยินดีทำ เพราะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเอกสารได้ ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นธุระขมีขมัน กระตุ้นบุคลากรให้กระตือรือร้น ปฏิบัติตามนโยบายใหม่ให้ได้โดยไม่ขัดเขิน เพื่อจะยกระดับงานส่วนรวมของโรงพยาบาลให้ตรงตามปณิธานผู้บริหาร

เหนือสิ่งอื่นใดยังถ่ายทอดความ “คิดบวก” ว่าด้วยโอกาสในวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบุคลากรสูงอายุหลายคนถูกนโยบายใหม่กระทบจิตใจจนจิตตก แต่เธอก็ชักชวนผู้คนที่ท้อแท้ถอดใจเหล่านั้นเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน ช่วงชิงนิยามความหมาย “ส.ว.” ที่หมายถึงผู้สูงวัย ให้เปลี่ยนแปรเป็นผู้สวยทุกวันได้ กระทั่งคืนชีวิตชีวาและความภาคภูมิใจสู่บุคลากรโรงพยาบาล ผู้ผ่านวันเวลากรำงานหนักมาเนิ่นนาน

ทั้งหมดทั้งมวลที่เธอทุ่มเททำ จนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่การงานและองค์กรสังกัด ตลอดจนชีวิตคนไข้ได้นั้น ไม่เพียงเพราะคิดบวกบนสถานการณ์ราวไร้ทางออกเท่านั้น ทว่า ยังสั่งสมองค์ความรู้ที่เกิดจากการบริหารจัดการเพื่อการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอด้วย จนวิกฤติขวากหนามต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในรูปของนโยบายหรือบุคลคล เป็นเพียงบททดสอบเพื่อพัฒนาจิตใจตนเองเท่านั้น

“การทำงานในช่วงที่ผ่านมาเหมือนมีอะไรชนตลอด ไม่ราบเรียบ แต่วิกฤติก็เป็นโอกาสเสมอ”

บทสรุปสุดสั้น แต่มีมิติมุมมองชีวิตและการงานใหญ่ยิ่งของ พญ.พรพรรณ์ เช่นนี้เองทำให้การงานทั้งในอดีตเคยทำ ปัจจุบันทำอยู่ และอนาคตจะทำต่อ มีความสุขเป็นพื้นฐานรองรับ ดังเหตุการณ์ประทับใจครั้งยังเยียวยาดูแลเด็กและสตรีที่ถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ตอนทำเรื่องเด็กและสตรีที่ถูกกระทำรุนแรง เราก็ช่วยได้เป็นรายๆ และช่วยได้ระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะติดสังคมบ้าง ชุมชนบ้าง ครอบครัวบ้าง ก็เลยต้องมาคิดใหม่ทำใหม่ เปลี่ยนมาป้องกันเฝ้าระวัง เหมือนเคสหนึ่งเป็นเด็กผู้ชายอายุ 10 ปี ถูกพ่อทุบตีตลอดเพราะพ่อแม่เลิกกัน เด็กต้องอยู่กับพ่อตามลำพังเพราะแม่หนีไปทนพ่อทุบตีไม่ไหว เด็กจะมาห้องฉุกเฉินเป็นประจำ เนื้อตัวเขียวมาเลย ไม่ถึงกับแขนขาหัก แต่ก็ต้องนอนโรงพยาบาล เพื่อว่าตอนเช้าจะได้ให้คำปรึกษาโดยทีมจิตเวชได้ ทางสหวิชาชีพก็มาพูดคุยกันเพื่อหาทางออกให้เด็ก โดยมีการเสนอทางออกมากมาย แต่สุดท้ายก็ใช้วิธีพูดคุยปรับความเข้าใจโดยหลายหน่วยงาน เพื่อให้พ่อเด็กสัญญาว่าจะไม่ทำร้ายลูกชายคนเดียวอีก”

การคิดเชิงบวกที่มองว่าพ่อทุกคนย่อมรักลูก โดยใช้ไม้อ่อน ไม่ใช้ไม้แข็งเข้าจัดการปัญหา ทำให้วิกฤติในชีวิตเด็ก รวมถึงชีวิตพ่อที่ทำร้ายลูกนั้นกลับกลายเป็นโอกาสที่ทั้งคู่ได้พูดคุยกัน กระทั่งผ่านไป 3 ปีกับการไปเยี่ยมบ้านสม่ำเสมอ ครอบครัวร้าวรานไม่สมบูรณ์นี้ก็มีความอบอุ่นสมัครสมานมากขึ้น พ่อลูกได้อยู่ด้วยกันแทนที่จะต้องแยกเด็กไปอยู่ที่อื่น หรือร้ายแรงขนาดจับกุมพ่อข้อหาทำร้ายร่างกาย

โอกาสจึงอยู่ในวิกฤติการเปลี่ยนแปลง ขอเพียงแต่มองแง่มุมบวก หนทางเรียนรู้ย่อมเปิดกว้างเสมอ ยิ่งคิดบวกมากยิ่งเปิดกว้างมาก หากก็ต้องมีบริบทข้อเท็จจริงรองรับด้วยเหมือนกัน เหมือนดังกรณีที่เธอช่วยนำพาแสงสว่างมาสู่แพทย์คนหนึ่ง ที่แสนดีกับคนไข้แต่ไม่ค่อยดีกับคนอื่นๆ ด้วยการพูดเพียงไม่กี่ประโยค แต่โดนใจคนฟังมากมาย เพราะเธอเห็นแล้วว่าแพทย์คนนี้มีจิตใจอ่อนโยนงดงาม

“เราเข้าไปพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น บอกว่าเขาไม่ใช่ไม่ถูกใจเรา หรืออุปนิสัยพฤติกรรมแตกต่างกับเรา จนต้องผลักดันให้ไปอยู่ที่อื่น แต่เราพยายามทำให้ทุกคนอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข พูดเท่านี้เขาก็ร้องไห้เลย จากนั้นมาเราพูดอะไรเขาก็ฟัง เหมือนกับเราได้ช่วยเขี่ยผงออกจากตาเขา ทำให้เขาทำงานต่อไปได้ เพราะตัวเขาและเพื่อนร่วมงานมีความสุขมากขึ้นจากการมองบวกมากขึ้น”

พญ.พรพรรณ์เผยแง่งามการคิดบวกที่ถูกถ่ายทอดถึงผู้อื่น จนพ้นผ่านห้วงทุกข์ยากไปด้วยความเข้าใจ และมองโลกด้วยสายตาสว่างไสว เห็นความสวยงามของผู้คนและสรรพสิ่งมากกว่าเดิม

นอกเหนือจากการสร้างเสริมความผูกพันระหว่างคนไข้กับแพทย์และพยาบาล ด้วยการทำให้พวกเขาเห็นคนไข้เป็นญาติที่ต้องดูแลรักษาทั้งทางกายและใจ รวมถึงร้อยถักบรรยากาศเพื่อเพิ่มพูนการบริการสุขภาพด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ อันเป็นวัตรปฏิบัติประจำของเธอแล้ว บทบาทหน้าที่หัวหน้าพัฒนาระบบบริการสุขภาพยังทำให้มีช่องทางและโอกาสหว่านเพาะ “เมล็ดพันธุ์คิดบวก” สู่บุคลากรสาธารณสุขและคนไข้ได้มากมาย จนปัจจุบันโรงพยาบาลลำพูนอุดมด้วยผู้คิดบวก

มุมมองเมล็ดพันธุ์เชิงบวกเช่นนี้เอง ทำให้รู้ทั้งรู้ว่าถ้าส่งเสริมคนดีคนเก่งในโรงพยาบาล ท้ายสุดเขาจะไปผลิบานที่อื่น เธอก็ยังคงสนับสนุนต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าถึงต้องสร้างคนใหม่ทดแทน แต่ก็คุ้มค่ามหาศาล เพราะเมล็ดพันธุ์เชิงบวกเหล่านั้นจะไปงอกเงยต่อยอดที่ใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามมา เพราะสามารถมองวิกฤติเป็นโอกาส เหมือนดังเธอที่คิดบวกจนค้นพบโอกาสในวิกฤติทั้งของตนเอง ผู้อื่น และองค์กร.

ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *