เผยคนไทยกินหวานเกิน เสี่ยงสารพัดโรค!?!
เผยคนไทยกินหวานเกิน เสี่ยงสารพัดโรค!?!
• อาหาร
ทั้งหัวใจวาย-เบาหวาน ลดน้ำตาลเพื่อสุขภาพกันดีกว่า
น้ำตาล เป็นสารให้ความหวานที่เราคุ้นลิ้นกันเป็นอย่างดี ใช้เพื่อการปรุงแต่งรสชาติอาหารให้หอมหวานกลมกล่อมถูกปาก แต่ท่านทราบหรือไม่ว่า ความหวานที่เราติดอกติดใจกันนั้นแม้จะมีประโยชน์แต่ก็มีโทษต่อร่างกายมหาศาล
น้ำตาลทรายขาวที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทำมาจากอ้อย มีประโยชน์ต่อร่างกายในการให้พลังงาน ซึ่งพลังงานนี้เราได้รับจากคาร์โบไฮเดรตในการรับประทานข้าว แป้งหรือไขมันอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต่อร่างกาย แต่รับประทานกันเพราะความพึงพอใจ กินแล้วมีความสุข สดชื่น ถือเป็นประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของน้ำตาล ซึ่งหากทานมากเกินไปอาจเกิดโทษต่อร่างกายได้
รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าแต่ละวัน ควรใช้น้ำตาลในการปรุงแต่งรสชาติอาหารไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานทั้งหมด ตามข้อปฏิบัติการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีจึงแนะนำว่า ถ้าหากเป็นผู้ใหญ่ควรรับประทานไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ส่วนเด็กเล็กไม่เกินวันละ 4 ช้อนชา โดยเราสามารถคำนวณปริมาณน้ำตาลได้ในการบริโภคของเราได้เองด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้
ปริมาณน้ำตาล 1 ช้อนชามี 4 กรัม ให้เราอ่านฉลากโภชนาการ เช่น ถ้าฉลากระบุน้ำตาล 12 กรัม เท่ากับมีน้ำตาล 3 ช้อนชา แต่อาหารบางชนิดไม่มีข้อมูลโภชนาการ บอกเป็นค่าร้อยละ เช่น น้ำผลไม้หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ถ้าระบุว่ามีน้ำตาล 10 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า 100 มิลลิลิตร มีน้ำตาล 10 กรัม เมื่อดื่มเครื่องดื่ม 1 แก้ว (200 มล.) มีน้ำตาล 20 กรัม หรือเท่ากับ 5 ช้อนชา แค่นี้ก็สามารถคำนวณน้ำตาลในแต่ละวันที่เราจะรับประทานได้แล้ว
ปัจจุบันพบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยประมาณ 23 ช้อนชาต่อวัน (จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ปี 2550 คนไทยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ย ประมาณ 33.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) ถือเป็นปริมาณที่มากเกินกว่าที่แนะนำถึงเกือบ 4 เท่า
ถ้าเรากินน้ำตาลมากเกินความจำเป็นก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาคือฟันผุ โรคอ้วน และเมื่อทานมากขึ้นจะเป็นโรคเบาหวาน นอกจากนี้เมื่อน้ำตาลเปลี่ยนเป็นไขมันไปสะสมที่เส้นเลือดเกิดอุดตัน เสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจและสมองขาดเลือด ทำให้หัวใจวาย เป็นอัมพาต และอาจเกิดความดันโลหิตสูงด้วย ซึ่งโรคที่กล่าวมานี้ไม่ใช่แค่บริโภคน้ำตาลมากเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การบริโภคอาหารที่ให้พลังงานและไขมันสูงด้วย เช่น อาหารที่หวานจัด มันจัด เค็มจัด และไม่ออกกำลังกาย
เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงน้ำตาลหรือลดจำนวนน้ำตาลลง อาจารย์แนะนำว่า ควรดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวานหรือน้ำอัดลม ไม่เติมน้ำตาลในอาหาร จะช่วยลดปริมาณน้ำตาลได้มากทีเดียว สำหรับผู้ที่ไม่สามารถควบคุมการรับประทานหวานได้หรือเป็นโรคเบาหวาน อาจใช้น้ำตาลเทียมแทนเนื่องจากมีพลังงานน้อยแต่ให้ความหวานใกล้เคียงน้ำตาล
ควรรับประทานผักผลไม้เพิ่มขึ้น เช่น ฝรั่ง มะละกอ ส้ม หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานมาก ๆ เช่น ทุเรียน ขนุน เหนือสิ่งอื่นใดเราควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอและหลากหลาย หมั่นดูแลน้ำหนักตัวและออกกำลังกายเป็นประจำ แค่นี้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงก็จะอยู่กับเราไปอีกนาน
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์