เปลี่ยน “อารมณ์โกรธ” เป็นพลังสร้างสรรค์เชิงบวก

เปลี่ยน “อารมณ์โกรธ” เป็นพลังสร้างสรรค์เชิงบวก

วันที่ : 1 กุมภาพันธ์ 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : หนังสือพิมพ์พิษณุโลกทูเดย์

อารมณ์โกรธ คือ สภาวะความรู้สึกขุ่นเคืองใจที่มีต่อคน หรือเหตุการณ์บางอย่าง คล้ายน้ำเดือดที่พร้อมจะพลุ่งพล่านออกมาได้ตลอดเวลา อันอาจเกิดขึ้นเนื่องมาจากความผิดหวังในบางสิ่ง หรือการถูกล้ำเส้นความเป็นตัวเราในบางเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการทำงานร่วมกันซึ่งอาจต้องมีการกระทบกระทั่งไม่พอใจเกิดแรงเสียดทานต่อกัน

อารมณ์โกรธไม่ได้เป็นภาวะที่ผิดปกติแต่เป็นอารมณ์พื้นฐานของมนุษย์ทุกคน เช่นเดียวกับ อารมณ์เศร้า อารมณ์รัก อารมณ์สนุก ฯลฯ อย่างไรก็ตามหากเราไม่สามารถจัดการอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นมาอย่างชาญฉลาดแล้ว รูปแบบการแสดงออกของความโกรธที่เกิดขึ้นย่อมนำมาซึ่งผลเสียร้ายแรงเทียบได้กับระเบิดไดนาไมต์ที่ฝังอยู่ใต้ดินรอการจุดชนวนให้ระเบิดเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็น

การทำลายล้างภายนอก อารมณ์โกรธที่ปะทุออกมาภายนอก แสดงออกอย่างชัดเจนทางสีหน้า แววตา ท่าทาง คำพูด พฤติกรรมการแสดงออกในทางก้าวร้าวและการใช้ความรุนแรง เพื่อต้องการแก้แค้นสิ่งที่เราคิดว่าเป็นต้นเหตุของความโกรธให้สาแก่ใจ

การทำลายล้างภายใน คนจำนวนมากมีความเชื่อว่าอารมณ์โกรธเป็นอารมณ์ที่น่ารังเกียจ ไม่ควรที่จะแสดงออกมาควรเก็บเอาไว้ในใจ ความเชื่อดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเก็บงำความโกรธไว้ภายในสู่ภาวะเก็บกดซึ่งเป็นการทำลายล้างตัวเองส่งผลต่อความป่วยไข้ทางร่างกายและอารมณ์ความรู้สึกตามมา

อารมณ์โกรธโดยตัวมันเองไม่ได้เป็นเรื่องที่เลวร้ายเพราะในบางกรณีบางเหตุการณ์เป็นเรื่องที่เราสมควรโกรธด้วยซ้ำ อาทิ เราควรโกรธที่เห็นเพื่อนร่วมงานไม่รับผิดชอบงานอย่างเต็มที่ ชอบมาสาย อู้งาน คอร์รัปชั่น ยักยอกทรัพย์ในที่ทำงาน แต่หากมีการแสงออกของอารมณ์โกรธออกมาในเชิงทำลายล้างอย่างผิด ๆ ผลลัพธ์ของอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นย่อมนำไปสู่หนทางแห่งความสูญเสียมากมายเกินกว่าที่เราจะคาดคิด

ดังนั้นทักษะในการจัดการอารมณ์โกรธจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่เราทุกคนควรเรียนรู้ว่าเมื่อเรามีความโกรธเกิดขึ้นภายในใจแล้ว เราควรแปรเปลี่ยนพลังการทำลายล้างจากอารมณ์โกรธนั้นให้เป็นพลังในทางบวกที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร

แนวทางการแปรเปลี่ยนอารมณ์โกรธให้เป็นพลังสร้างสรรค์เชิงบวก ด้วยการคิดใหม่ทำใหม่ 2 ประการ

ประการแรก : มองที่ปัญหามากกว่าตัวบุคคล เมื่อมีเหตุการณ์อันนำมาซึ่งความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ หากเรามุ่งเน้นไปโทษแต่เฉพาะที่ตัวบุคคลโดยจมอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกโกรธ โมโห เคียดแค้นชิงชัง บนพื้นฐานความเจ็บปวดที่ได้รับเป็นหลัก อารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นมักจะนำไปสู่การแสดงออกในทางทำลายล้างเนื่องจากความต้องการเอาชนะและการแก้แค้น

ในทางตรงกันข้ามหากเราเปลี่ยนมุมมองใหม่ไปที่ตัวปัญหาหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่าที่ตัวบุคคล เราจะก้าวไปสู่มิติใหม่ในการแปรเปลี่ยนพลังแห่งการทำลายล้างที่เกิดจากอารมณ์โกรธไปสู่พลังแห่งการสร้างสรรค์เชิงบวกในการพยายามคิดหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแทนที่

ตัวอย่างเช่น หากลูกน้องในแผนกของเราไม่รับผิดชอบในการเข้าเวรการทำงาน มักมาเข้าเวรสายเป็นประจำ ทำให้หลายครั้งเราต้องทำงานแทนทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นหน้าที่ ส่งผลให้เรารู้สึกโกรธลูกน้องคนนี้มาก เราควรมองหาวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น อาจต้องมีการจัดระบบการทำงานใหม่ การสร้างระบบให้คุณให้โทษ การใช้ระบบรายงานความผิดพลาด เป็นต้น ไม่ต้องเสียเวลาไปทะเลาะเบาะแว้ง โกรธเคือง มีอคติ หรือเก็บกดความข่มขื่นใจต่อลูกน้องคนนี้ไว้เพื่อรอการแก้แค้นแต่อย่างใด

ประการที่สอง : ตั้งเป้าเพื่อพัฒนาตนเอง ผู้ที่สามารถควบคุมและสามารถจัดการอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดีนั้นเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์สูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอันนำไปสู่ชีวิตที่ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการทำงาน การใช้ชีวิตครอบครัวและการอยู่ร่วมกันในสังคม ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์นั่นคือความสามารถในเรื่อง “การอดทน รอคอย”

ในการแปรเปลี่ยนอารมณ์โกรธให้เป็นพลังในทางสร้างสรรค์เชิงบวก สิ่งที่ควรทำหากรู้ตัวว่าเป็นคนที่โกรธง่าย โกรธเร็ว และชอบแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกไปในยามโกรธโดยไม่รู้ตัว คือ ต้องมีการตั้งเป้าหมายว่าเราจะโกรธให้ช้าลง โดยการจับเวลาทุกครั้งในยามโกรธ ตัวอย่างเช่น หากในครั้งแรกมีคนมาทำให้เราไม่พอใจ เรารู้สึกโกรธและแสดงออกด้วยการด่าว่า ประชดประชัน ชักสีหน้า ขึ้นมาในทันที และ ในครั้งต่อไปหากมีคนมาทำให้เราไม่พอใจในเรื่องเดิมอีกเราต้องทำสถิติเอาชนะตัวเองในการแสดงออกซึ่งความโกรธให้ช้าลงไปเรื่อย ๆ แทนที่จะด่าออกไปทันทีเราอาจสามารถอดทนได้ถึง 5 นาที และฝึกฝนตนเองไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเราสามารถพัฒนาไปสู่การควบคุมวุฒิภาวะทางอารมณ์ของตน เองในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี โดยหากมีเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก แทนที่เราจะแสดงอาการโกรธออกไปทันที เราสามารถที่จะนิ่งคิดไตร่ตรองแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าใช้อารมณ์เพ่งไปที่ตัวบุคคล เป็นต้น

พลังจากอารมณ์โกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว เป็นพลังที่มีอานุภาพในการทำลายล้างที่น่ากลัวทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง อย่างไรก็ตามหากเราสามารถจัดการอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นอย่างชาญฉลาดโดยการแปรเปลี่ยนพลังในการทำลายล้างดังกล่าวให้กลายเป็นพลังในทางสร้างสรรค์เชิงบวกในการแก้ปัญหาและพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้นต่อไปได้แล้ว สังคมรอบข้างที่บ้าน ที่ทำงาน และสังคมไทยของเราย่อมเป็นสังคมที่น่าอยู่ขึ้นอย่างแน่นอน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *