เทคนิคที่ช่วยสนับสนุนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (5)
เทคนิคที่ช่วยสนับสนุนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (5)
5. การสืบสวน
การสืบสวน เป็นการค้นหาความจริงโดยอาศัยหลักการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการจะพัฒนาความสามารถในการใช้สติปัญญาของผู้เรียนได้มาก เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง
5.1 สำหรับคุณค่าของวิธีการดังกล่าวอาจสรุปได้ ดังนี้
5.1.1 ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนการสอนเพราะเขาจะต้องกำกับการเรียนการสอนด้วยตนเอง ดังนั้นบทบาทของผู้เรียนจึงเป็นผู้ที่มีความกระฉับกระเฉง
5.1.2 การเรียนโดยการเน้นที่ปัญหาจะมีประโยชน์ต่อผู้เรียนในแง่ที่ว่าฝึกให้เขาเป็นผู้รู้จักลักษณะวิธีการแก้ปัญหา
5.1.3 เป็นการเรียนที่จะฝึกทักษะและความสามารถในการตัดสินใจ
5.1.4 บทบาทของผู้สอนเปลี่ยนจากผู้บอกมาเป็นผู้ถาม ซึ่งวิธีการดังกล่าว จะทำให้ผู้เรียนกระตือรือร้นมากขึ้น
5.1.5 เป็นการยอมรับเจตคติของผู้เรียนแต่ละคนโดยเฉพาะในเรื่องค่านิยมและ เจตคติของผู้เรียน เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้พัฒนาค่านิยมและเจตคติไปในด้านที่ดีด้วย
5.2 องค์ประกอบของการสืบสวน
การสอนด้วยวิธีการสืบสวนจะสำเร็จได้มากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับองค์ประกอบที่มีประสิทธิภาพของวิธีการสอนดังกล่าว ดังนี้
5.2.1 ผู้สอน แม้ว่าผู้สอนจะไม่ได้เป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน แต่มิได้หมายความว่าผู้สอน จะหมดความสำคัญลงไป ตรงกันข้ามยิ่งมีความสำคัญต่อการเรียนการสอนมากในกรณีที่นำวิธีการสอนแบบสืบสวนมาใช้กับผู้เรียนกลุ่มใหญ่ผู้สอนจะทำหน้าที่ในการเป็นผู้นำของกาอภิปราย และเป็นผู้สรุปในตอนท้าย นอกจากนั้นยังเป็นผู้ดำเนินการในการอภิปรายด้วยรวมทั้งแก้ไขความเข้าใจผิดถ้ามีขึ้น ส่วนในการที่เน้นการเรียน ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนไปสืบเสาะหาคำตอบเอาเองแต่ละคน ผู้สอนจะเป็นผู้ให้คำแนะนำทั้งในแง่วิธีการหาความรู้ และการวิเคราะห์ข้อมูลอีกด้วย ในการเรียนการสอนด้วยวิธีการสืบสวน ผู้สอนจะต้องคอยช่วยเหลือผู้เรียนในหลาย ๆ ประการด้วยกัน เช่น แนะนำแนวทางในการค้นหาคำตอบ แนะนำวิธีการคิดอย่างมีระบบระเบียบ ช่วยสรุปคำตอบ รวมทั้งแก้ไขข้อเข้าใจผิด เป็นต้น สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้สอนจะต้องตระหนักก็คือ ต้องยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นและต้องพยายามส่งเสริมและให้กำลังใจแก่ผู้เรียน
5.2.2 ผู้เรียน วิธีการสอนแบบสืบสวนเน้นความสำคัญของผู้เรียน ความสำเร็จ ของวิธีการสอนดังกล่าวหรือบทเรียนจะมีความหมายและคุณค่าเมื่อผู้เรียนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนเองผู้เรียนเป็นผู้กำกับการเรียนการสอนด้วยตนเอง กล่าวคือ เริ่มจากการกำหนดปัญหาหรือประเด็นที่ตนสนใจจะศึกษา เมื่อได้ปัญหาแล้วจะไปเสาะหาความรู้เพื่อมาตอบปัญหานั้น การวางแผนการหาแหล่งข้อมูลหรือความรู้ถือว่าผู้เรียนเป็นผู้จัดทำทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้สอนควรชี้ให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของตนเอง แนะนำให้เขาศึกษาด้วยตนเองอย่างถูกวิธี ถ้ามีการฝึกฝนบ่อย ๆ เช่นนี้แล้วผู้เรียนจะเป็นผู้เคยชินกับระบบการศึกษาด้วยตนเองโดยไม่ต้องให้ใครมากำกับหรือคอยควบคุมอยู่ต่อไป ในท้ายที่สุดเขาจะมีนิสัยเป็นผู้ใฝ่รู้ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก
5.2.3 สภาพห้องเรียน สภาพห้องเรียนหรือบรรยากาศในห้องเรียนมีส่วนส่งเสริมการเรียน ด้วยวิธีสืบสวนสอบสวนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ในการสร้างบรรยากาศในห้องเรียนนั้นผู้สอนควรส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นของผู้เรียน ความกระตือรือร้นในการค้นหาคำตอบ การยอมรับนับถือความคิดเห็นของแต่ละฝ่ายแต่ละคน บรรยากาศดังกล่าว จะเป็นไปได้อยู่ที่ผู้สอน ถ้าผู้สอนมีหัวใจเป็นประชาธิปไตยรับฟังความคิดเห็นของผู้เรียนส่งเสริมความใฝ่รู้ของผู้เรียนแล้วบรรยากาศแห่งการเรียนรู้จะเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้เรียนแสดงอาการเบื่อหน่าย เฉยเมยไม่กระตือรือร้นบรรยากาศในห้องเรียนก็พลอยอับเฉาและผู้เรียนเกิดความรู้สึกไม่อยากเรียนต่อไป ในการสร้างบรรยากาศดังกล่าวผู้สอนอาจใช้คำถามที่น่าสนใจ ท้าทายให้คิดหรืออาจนำสื่อการสอน ทั้งสิ่งพิมพ์และโสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ มาเสริมก็อาจทำให้ผู้เรียนอยากเรียนและสนใจในการสืบเสาะ หาความรู้ได้
5.2.4 ปัญหาหรือประเด็นที่จะนำมาสืบสวนปัญหาที่จะนำมาศึกษานั้น อาจเป็นปัญหาที่เป็นที่น่าสนใจ หรือประเด็นที่ถกเถียงกันคำตอบจากปัญหาโดยวิธีการสอนแบบสืบสวนนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นคำตอบเดียว คำตอบหรือทางเลือกอาจสรุปได้หลาย ๆ ประการ ตามความคิดเห็นของผู้เรียน
5.2.5 แหล่งความรู้ การสอนโดยวิธีการสืบสวนสอบสวนนั้นผู้เรียนจะต้องค้นหาความรู้ด้วยตนเอง ดังนั้นจะต้องอาศัยแหล่งความรู้โดยที่ผู้สอนควรจะหามาให้ เช่น หนังสือ สิ่งพิมพ์ สื่อการสอน
5.3 ขั้นตอนของการสืบสวน
กระบวนการสืบสวน อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นต้นแบบ โดยมีลำดับขั้นตอนของการสืบสวนสอบสวน ดังนี้
5.3.1 ขั้นการสังเกต ผู้สอนพยายามจัดสถานการณ์หรือเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการสังเกตและความสงสัยในเหตุการณ์หรือเรื่องราวนั้น เพื่อนำไปสู่ปัญหาที่จะศึกษาความสำคัญในขั้นแรกผู้สอนจะต้องวางแผนการเรียนการสอนก่อนว่าจะทำอย่างไรจึงจะเสนอเหตุการณ์ที่น่าสนใจหรือจัดสถานการณ์อย่างไรที่จะให้ผู้เรียนสนใจอย่างมาก เพราะถ้าเหตุการณ์หรือสิ่งที่ผู้สอนเสนอให้แก่ผู้เรียนเพื่อการนำไปสู่ปัญหาหรือข้อสงสัยนั้นไม่เป็นที่น่าสนใจของผู้เรียนแล้ว การดำเนินการสอนโดยวิธีการสืบสวนสอบสวนก็อาจประสบกับความล้มเหลว เมื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสงสัยแล้ว แน่นอนผู้เรียนย่อมต้องการคำตอบเพื่อขจัด ความสงสัยนั้น ผู้เรียนอาจถามผู้สอนว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น หรือผู้สอนเองอาจเป็นผู้ถามผู้เรียนก็ได้ แล้วแต่กรณีและความสนใจของผู้เรียนว่ามีมากน้อยเพียงใดคำตอบที่จะต้องในขั้นนี้อาจเป็นเพียงแนวทางกว้าง ๆ ยังไม่ให้รายละเอียดมากนัก เพื่อนำไปสู่ขั้นที่สองคือขั้นการอธิบายและการค้นหาคำตอบ
5.3.2 ขั้นการอธิบาย ครูจะกระตุ้นให้ผู้เรียนช่วยกันค้นหาคำตอบสำหรับความสงสัยนั้น ๆ อาจใช้วิธีการตั้งสมมุติฐาน คือการให้ผู้เรียนช่วยกันคิดว่าคำตอบหรือคำอธิบายของปัญหาหรือความสงสัยนั้นควรเป็นอย่างไร ผู้สอนอาจจัดกิจกรรมการอภิปรายรูปแบบระดมความคิดจากความรู้เดิมของผู้เรียนในการตั้งสมมุติฐาน ถ้าความรู้เดิมไม่เพียงพออาจต้องใช้ข้อมูลจากแหล่งอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งกลุ่มผู้เรียนหรือผู้สอนอาจช่วยกันกำหนดชนิดและวิธีการในการแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ข้อมูลชนิดใด ที่สมควรนำมาใช้หนังสือ ข้อเขียน คำสัมภาษณ์ ผลการทดลองรวมทั้งวิธีการที่จะได้ข้อมูลนั้นด้วย เช่น การสัมภาษณ์ การทดลอง การทัศนศึกษา การแสดงบทบาทสมมุติ กลุ่มอาจมอบหมายให้สมาชิกไปค้นหาข้อมูลดังกล่าว
5.3.3 ขั้นการพยากรณ์ ข้อมูลที่สืบค้นหามาได้ จะนำมาอธิบายข้อสมมุติฐานที่ตั้งไว้ รวมทั้งนำความรู้ดังกล่าวไปอธิบายปรากฏการณ์อื่นๆ ที่มีสภาพใกล้เดียงกัน
5.3.4 ขั้นการนำไปใช้ เมื่อผู้เรียนได้ค้นหาความรู้ และคำตอบเพื่อขจัดความสงสัยแล้ว ผู้สอนจะกระตุ้นให้ผู้เรียนนำเอาความคิดดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยไม่จำกัดเฉพาะสิ่งที่ได้แก้ไขปัญหาไปแล้วเท่านั้น การกระตุ้นให้ผู้เรียนนำความรู้ไปใช้ในสภาพการณ์หรือเหตุการณ์อื่น ๆ จะทำให้ผู้เรียนมีความคิดกว้างขวางขึ้น และยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์โดยเอาข้อมูลที่มีอยู่เป็นเครื่องมือ
5.4 ข้อจำกัดของการสืบสวน
5.4.1 ในกรณีที่นำวิธีการสืบสวนมาใช้กับกลุ่มผู้เรียนที่มิใช่รายบุคคลแล้ว ผู้เรียนอาจไม่มีโอกาสร่วมกิจกรรมทุกคน มีผู้เรียนเพียงบางคนเท่านั้นที่มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นการตัดสินใจ
5.4.2 การสอนแบบสืบสวนสอบสวนนั้นเป็นวิธีการที่มุ่งให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผล วิธีการดังกล่าวต้องใช้เวลามากพอสมควรแต่การสอนในชั้นเรียนส่วนใหญ่ ผู้สอนมักมีแนวโน้มจะเร่งรัดคำตอบหรือข้อโต้ตอบของผู้เรียนเสมอ
5.4.3 ในบางครั้งผู้เรียนเกิดความรู้สึกว่าปัญหาหรือประเด็นที่ผู้สอนหยิบยกขึ้นมาเพื่อการสืบเสาะหาความรู้นั้นแท้จริงแล้วผู้สอนมีคำตอบอยู่ในใจไว้ก่อน ซึ่งดูเหมือนว่าผู้เรียนถูกตะล่อมให้เป็นไปตามสิ่งที่ผู้สอนคิดไว้แล้ว (http://203.154.131.24/03/uploads/school077/2005-07-13_162250_การสอน. doc)