เติมเต็มอีหม่าน..ด้วยการคิดบวก

เติมเต็มอีหม่าน..ด้วยการคิดบวก

เมื่อ 2 วันก่อน ฉันได้มีโอกาสใช้บริการของรถเมล์ร่วม ข.ส.ม.ก ที่เป็นรถมินิบัสคันสีเขียวโดยขึ้นจากหน้าสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จุดหมายปลายทางคือปากซอยลาดพร้าว 112 ที่ต้องตัดสินใจขึ้นก็เพราะรอรถเมล์หรือรถตู้บริการสายอื่น ๆ ที่ผ่านเส้นทางนี้มาประมาณครึ่ง ช.ม.แล้ว แต่..ยังไม่มีวี่แววว่าจะผ่านมาสักคัน อีกทั้งก็ใกล้เวลาที่นัดหมายแล้ว ด้วยเกรงจะพลาดนัดจึงตัดสินใจขึ้นมา จากการที่เคยได้ยินคำเล่าขานถึงรถขนส่งมวลชนประเภทนี้มานานว่ามีอะไร ๆ ที่น่าตื่นเต้น วันนี้เลยได้รับประสบการณ์จริงใหม่ ๆ ในชีวิตที่ค่อนข้างสนุกสนานพอสมควรมาเล่าสู่กันฟัง
ก่อนอื่นต้องขอชมผู้ที่ใช้บริการของรถกระป๋องสีเขียวนี้เป็นประจำว่า ท่านเป็นผู้มีความสามารถพิเศษคนหนึ่งเลยละ (สภาพภายนอกและภายในรถทำให้คิดถึงกระป๋องสังกะสีเก่า ๆ) เพราะตัวฉันเอง แค่พอก้าวเท้าขึ้นไปหนึ่งข้างรถก็ออกตัวอย่างรวดเร็ว อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ที่ตอนเป็นเด็กฉันชอบปีนป่ายห้อยโหนอยู่บนต้นไม้เป็นประจำ เลยได้ใช้วิชานี้โหนตัวขึ้นบนรถอย่างรวดเร็วเท่าที่คนวัยนี้จะทำได้ ทำให้ไม่ต้องตกลงไปนอนแอ้งแม้งข้างถนนให้เป็นที่เวทนาของผู้คนที่ยืนรอรถเมล์อยู่ในบริเวณนั้น ดีเลยนาน ๆได้ออกกำลังเสียที
ในขณะที่ขึ้นไปสอดส่ายสายตามองหาที่นั่ง พนักงานเก็บค่าโดยสารก็เดินรี่เข้ามาหาแล้วพูดด้วยเสียงเข้ม ๆ ว่า “ ค่าโดยสาร” ฉันเงยหน้าขึ้นจากการควานหาเงินเหรียญในกระเป๋ามองไปยังทีมาของเสียงก็พบใบหน้าที่ปราศจากรอยยิ้มและเข้มไปด้วยสีสันไม่แพ้เสียง ใจพลันนึกไปถึงคุณหมอคนดังท่านหนึ่งทันที ด้วยสไตล์การแต้มแต่งสีสันบนใบหน้าของสาวเจ้านั้นเหมือนจำลองแบบมาจากเธอเลยแหละ
คิดถึงตรงนี้เลยทำให้ยิ้มออกมาได้ เพราะจำได้ว่าคุณหมอท่านนั้นเคยให้สัมภาษณ์ว่า การที่เธอแต่งตัวแบบนี้เป็นการผ่อนคลายความเครียดที่วัน ๆ ต้องทำงานอยู่กับศพ น้องคนนี้เธอคงมีทางออกให้ตัวเองแบบคุณหมอ เพราะการทำงานบนรถเมล์ที่ทั้งร้อนและแออัดทั้งวันในสภาพการจราจรเช่นนี้คงทำให้เธอเครียดพอสมควรละ ดูจากสีหน้าของเธอก็พอรู้
“ค่าโดยสารเท่าไรคะ” ฉันถามไปเพราะอยู่แถวบ้านจะใช้บริการรถตู้หรือ สองแถวเป็นประจำ เนื่องจากเป็นคนชายขอบกรุงเทพไม่ค่อยมีรถเมล์มาให้บริการ แล้วถามต่อไปอีกว่า
“ รถคันนี้ผ่านลาดพร้าว 112 หรือเปล่าคะ” ที่ถามเพราะไม่แน่ใจ เพราะเคยขึ้นรถเมล์ผิดสายต้องเดินเป็นกิโล
“8 บาท” เธอตอบด้วยโทนเสียง และสีหน้าแบบเดิม “ จะลงไหนล่ะ” เธอถามต่อ
“ก็จะลงที่ป้ายปากซอยนั้นแหละค่ะ ถึงแล้วช่วยบอกด้วยนะคะ” ฉันบอก พร้อมยื่นเหรียญ 10 บาทให้เธอด้วยใบหน้าที่เกลื่อนยิ้ม คราวนี้เธอกระตุกยิ้มตอบ แถมยังขอแลกเหรียญที่เหลืออยู่ในมือไปด้วย
“เหรียญหมดพอดี ขอบใจนะ ใกล้ถึงป้ายแล้วจะบอก” เธอทิ้งท้ายก่อนหันไปสาละวนกับการเก็บค่าโดยสารจากผู้โดยสารที่ขึ้นมาใหม่อย่างกระฉับกระเฉง
รถกระป๋องคันเล็กยังคงวิ่งแบบแซงซ้ายป่ายขวาโคลงเคลงไปตามเส้นทาง หันไปมองคนขับที่ดูจะสนุกสนานกับวิธีการขับแบบนี้ ผู้โดยสารหลายคนคงจะคุ้นชินกับลีลาของเขาเป็นอย่างดี เลยไม่คิดอะไรมาก บางคนวางใจขนาดนั่งหลับได้เกือบตลอดทาง ฉันเองก็ทำใจสบาย ๆ คิดในทางบวกเข้าไว้ พร้อมกับอ่านดุอาไปเงียบ ๆ ด้วย ขอต่อ อัลลอฮฺ ให้เราได้ไปถึงยังที่หมายโดยสวัสดิภาพด้วยเถิด
เมื่อถึงป้ายที่จะลง พอดีรถติดตรงช่วงนั้น เลยไม่ต้องรอให้น้องพนักงานคนนั้นต้องบอกเตือน เพราะเธอยังคงต้องวุ่นวายกับการแทรกตัวเข้าไปเก็บค่าโดยสารให้ทั่วถึง จุดนัดหมายของฉันอยู่ในซอยลึกเข้าไปมาก เดินด้วยเท้าเข้าไปคงปวดเข่าเป็นแน่แท้ เลยไม่คิดจะออกกำลังต่อในขณะที่แสงแดดเริ่มแรงขึ้น ที่ปากซอยมีมอเตอร์ไซด์รับจ้างจอดเรียงรายรอผู้โดยสารตามคิวอยู่ เดินเข้าไปดูเผื่อจะมีคนขับที่เป็นผู้หญิงบ้างจะได้ลองใช้บริการ ก็ไม่มีสักคนเลยสอบถามดูว่าพอจะมีรถประเภทอื่น เช่น สองแถวบ้างมั้ย น้องๆ เค้าบอกให้ไปยืนรอตรงป้ายนั่นแหละจะมีรถสี่ล้อเล็กรับส่งผู้โดยสารในซอยนี้
จากมินิบัสมาถึงสี่ล้อเล็ก ในที่สุดฉันก็มาถึงจุดหมายปลายทางด้วยความเมตตาของอัลลอฮฺ แต่..ปรากฏว่า มาถึงเช้าเกินไป ที่ทำงานของน้องที่นัดหมายกันยังไม่เปิด ทำไงดีล่ะ รีบโทรหาทันที เธอรับสายด้วยเสียงงัวเงียเต็มทีแล้วบอกว่า
“ เมื่อคืนกลับมานอนบ้านแม่ที่งามวงศ์วาน ไม่มีใครเฝ้าออฟฟิศค่ะ พี่หาที่นั่งรอแล้วทานอะไรไปพลาง ๆก่อนได้มั้ยคะ แต่เอ..กว่าจะไปถึงคงเกือบ 2 ช.ม.ช่วงนี้รถติดมากด้วย หรือพี่เอาของไปฝากที่ร้านพี่นาได้มั้ยคะ ก่อนเที่ยงหนูจะเข้าไปรับ ถ้างานมีปัญหาแล้วจะโทรหาพี่หรือเมล์บอกแล้วกันนะ หนูเร่งงานนอนตี 3 ยังงง ๆ อยู่เลยไม่อยากขับรถ ขอโทษด้วยนะคะ” แล้วเธอก็วางสายไป
งานเข้าแล้วซิเรา แต่เข้าใจน้องเค้านะคนง่วงนอนขับรถคงไม่ปลอดภัยแน่ ให้เธอนอนพักให้เต็มอิ่มก่อนเถอะ ฉันเลยเดินย้อนกลับมาที่ร้านเสื้อของน้องที่สนิทชิดเชื้ออีกคนหนึ่งเพื่อจะเอาของไปฝากไว้ ก็มาเจอร้านยังไม่เปิดเช่นเดียวกัน เลยต้องโทรหาก่อนเพื่อความแน่ใจว่ามีใครอยู่หรือเปล่า สักครู่ใหญ่ เธอจึงออกมาเปิดประตูรับในสภาพที่พร้อมจะออกนอกบ้าน พร้อมกับบอกว่า
“ หนูกำลังจะออกไปซื้อผ้าที่พาหุรัดพอดีเลยพี่” ก็ถามต่อไปว่า
“ แล้วมีใครเฝ้าร้านหรือเปล่าพี่จะฝากของไว้ให้น้องพิมหน่อยได้มั้ย ร้านเค้ายังไม่เปิด”
“ไม่มีใครอยู่เลยพี่ เด็กต้องช่วยหนูถือของ ช่างเย็บก็ลาวันนี้ หนูเลยต้องปิดร้าน”
ทำไงดีละคราวนี้ ต้องรอร้านโน้นเปิดถึงเที่ยงเลยหรือนี่ น้องร้านเสื้อเลยเสนอทางออกให้ว่า
“ เอาอย่างนี้ดีกว่า พี่เอาของงานฝากไว้บ้านหลังถัดไปนี่แล้วกัน แล้วโทรบอกน้องเค้าอีกที คนรู้จักสนิทกันไม่เป็นไรหรอกวางใจได้”
ก็คงต้องเป็นอย่างนั้นแหละ ฉันตัดสินใจไปฝากของอีกบ้านหนึ่ง ซึ่งเค้าก็รับฝากอย่างเต็มใจด้วยสีหน้ายิ้มแย้มอย่างอย่างคนมีอัธยาศัยอันดี ฉันกล่าวขอบคุณในความมีน้ำใจของเค้าแล้วลาจากมา สบายใจไปเปลาะหนึ่งเรื่องงาน เมื่อความกังวลหมดไป ความหิวก็เริ่มคืบคลานเข้ามา เมื่อเช้าดื่มแค่นมแพะ 1 ขวดกับ อินทผาลัม 3 ผลเท่านั้น แล้วยังมาใช้พลังในการเดินวนไปวนมาอยู่แถวนี้พอสมควร เท้าพาเดินไปร้านอาหารข้างมัสญิดพร้อมนั่งลงสั่งอาหารแบบง่าย ๆ ที่คิดว่าน่าจะได้กินอย่างรวดเร็วที่สุด คือข้าวผัดไก่เชียง พร้อมน้ำชานมสดหนึ่งแก้ว รอเพียงครู่เดียวอาหารก็มาถึงทันใจอย่างที่คาดไว้ ฉันลงมือกินทันทีด้วยความหิว (โดยไม่ลืมกล่าวบิสมินลาฮฺ ค่ะ)
ท้องอิ่มแล้วจึงเรียกเด็กเสิร์ฟมาเก็บเงิน เด็กบอกว่า “ พี่คนนั้นจ่ายให้แล้วค่ะ” ถามไปว่า
“ คนไหนคะ” เด็กผายมือไปที่ผู้หญิงในชุดผ้าไหมมัดหมี่สีน้ำทะเล คลุมฮิญาบสีอ่อนกว่าเล็กน้อย
“ คนนั้นค่ะ ที่นั่งโต๊ะใต้ต้นไม้แล้วส่งยิ้มให้พี่นั่นแหละ” ฉันมองตามมือเด็กเสิร์ฟไป ผู้หญิงคนนั้นตรงรี่เข้ามาพร้อมพูดอย่างตื่นเต้นดีใจว่า
“ อัสลามุอะลัยกุมฯ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ไม่คาดคิดมาก่อนเลยว่าจะมาเจอพี่สาววันนี้” พร้อมกับกอดฉันซึ่งกำลังมีความรู้สึกเดียวกัน เพราะไม่ได้เจอน้องคนนี้มานานเกือบ 2 ปีเห็นจะได้ เนื่องจากเธอเองมีภารกิจวุ่นวายทั้งจากหน้าที่การงานและหน้าที่ต่อครอบครัว รับสลามน้องไปแล้วถามว่า
“ มาทำไรแถวนี้คะน้องดา ส่งลูก ๆ เหรอ”
เธอตอบว่า “ ค่ะเค้าเรียนที่นี่ แล้วพี่ล่ะมาทำธุระอะไรแถวนี้ รู้มั้ยว่าดีใจมากที่ได้เจอ เห็นพี่แต่แรกแล้ว คิดว่าให้พี่เรียบร้อยก่อนค่อยเข้ามาทักทาย เพราะดูท่าทางคงหิว” ทำเอาชักอาย นี่เราคงจะก้มหน้าก้มตากินจนไม่ได้สังเกตสิ่งรอบข้างเลยซินะ น้องถามต่อไปว่า
“ แล้วพี่มาไงคะ แท็กซี่ ? หรือใครขับรถมาส่ง” ฉันจึงได้เล่าเรื่องราวการเดินทางที่สนุกสนานให้เธอฟัง น้องหัวเราะแล้วบอกว่า
“ ฟังแล้วสนุกดีนะ คิดได้แบบพี่ก็ดี เจอเหตุการณ์อะไรมองเป็นบวกไว้เราก็ไม่เครียดนะ”
“ใช่ค่ะ คนเราอายุมากแล้วจะไปหาเรื่องเครียดทำไม” ฉันเสริมคำพูดของน้อง “ แล้วอีกอย่างนะวิธีคิดของมุสลิมเราต้องไม่ลืมกฏแห่งการกำหนดสภาวะของอัลลอฮฺ ไม่ใช่เจออะไรไม่สบอารมณ์ก็โวยวายนะคะ”
“ อืม.. จริงด้วยซิ บางที่เราก็คิดและพูดอะไรโดยไม่ตระหนักถึงข้อนี้นะ
“ พี่ว่าทุกคนนั่นแหละที่ควรคิดอะไรในด้านบวกไว้ในบางสถานการณ์ เมื่อเราต้องพบเจออะไรที่ไม่พึงประสงค์แล้วเราคิดผิดมุมนิดเดียวในเชิงลบ เช่น รู้อย่างนี้เสียเงินเพิ่มนั่งแท็กซี่มาสบาย ๆ ดีกว่า ไม่ต้องมานั่งทนร้อนให้เสียอารมณ์ แถมคอยลุ้นอีกว่าจะถึงที่หมายหรือไม่ หรือพาลโมโหกับคนที่นัดหมายที่ไม่รอพบ แล้วต่อว่าออกมาโดยไม่ยั้งปากว่า
“ถ้ารู้ว่าเธอเป็นอย่างนี้ชั้นไม่รับทำงานให้ดีกว่า มาส่งงานก็ลำบากลำบน แถมยังต้องเที่ยวไปตระเวนฝากของไว้ให้อีก เงินที่ได้ก็หยิบมือเดียวเองไม่คุ้มค่าเหนื่อยเลยจริง ๆ นั่นเท่ากับหมายความว่าเรากำหนดทุกสิ่งได้หรือ? จะได้มาคาดเดาเอาเองว่าถ้าตัตสินใจอย่างนั้นแล้วทุกอย่างจะเป็นไปตามเราคิด อย่าลืมว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปก็ต้องด้วยอนุมัติของ อัลลอฮฺ เท่านั้น”
“ ค่ะพี่ หนูจะนำคำที่พี่แนะนำมาใช้ เพราะบางที่เวลาไม่พอใจเราจะใช้อารมณ์มาตัดสิน ทำให้เราคิดอะไรในทางลบ และทำให้เรากลายเป็นคนอีหม่านอ่อนแอไปโดยไม่รู้ตัว”
“ อีหม่าน ของคนเรามีขึ้นมีลงจ้ะ เราต้องคอยสำรวจและตักเตือนตนเอง พร้อมทั้งตักเตือนกันและกันเสมอ ๆ เพราะเราก็คือคนธรรมดาสามัญที่ยังไม่ถึงขั้นผู้รู้ดังเช่นในทั้งยุคก่อนและยุคปัจจุบันนี้ ที่มีระดับชั้นของอีหม่านที่เข้มแข็งและมั่นคง สำหรับเราที่พอจะทำได้ก็คือ การขอดุอาเพราะเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ศรัทธา การพูดและการคิดในสิ่งที่ไม่หมิ่นเหม่ต่อกฎแห่งการกำหนดสภาวะของอัลลอฮฺ เพื่อรักษาระดับอีหม่านของเราให้คงที่ และอย่าลืมเติมเต็มอีหม่านของเราด้วยการคิดบวกเสมอ”
“ ดีใจจริง ๆ ที่ได้เจอพี่วันนี้ งั้นเรามาขึ้นกันรถเถอะค่ะ แล้วไปละหมาดดุฮฺริที่บ้านหนูกัน คงมีอะไรที่ต้องให้ตักเตือนกันหลังละหมาดอีกมากมายเลยแหละ แล้วหนูจะไปส่งให้ถึงบ้านเลยค่ะ”
“ ด้วยความยินดีเลยค่ะ เห็นมั้ยว่า อัลลอฮฺ ทรงเลือกให้เราตัดสินใจในสิ่งที่ดีเสมอ เราถึงได้มาพบกัน อะไร ๆ ที่ผ่านเข้ามาแม้อาจจะทำให้เราไม่สบายใจหรือกังวลไปบ้าง แต่..ท้ายสุดเราก็ผ่านบททดสอบนั้นไปได้ด้วยความมั่นคงในจิตใจ นับว่าคุ้มค่าจริง ๆ สำหรับวันนี้…อัลฮัมดุลิลลาฮฺ”

Burung/(nokissara@gmail.com)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *