เจาะ 3 ทำเล สวรรค์นักช้อป

เจาะ 3 ทำเล สวรรค์นักช้อป
เหลียวหลัง แลหน้า 3 ทำเลทอง สยามสแควร์ สวนลุมไนท์บาซาร์ เซ็นเตอร์วัน จากผู้ค้าตัวจริง ทำเลมีผลกับการขายแค่ไหน พวกเขาเลือกทำเลอย่างไร

“ธีระยุทธ นันทวิญญู” เจ้าของร้านขายนาฬิกา Too Time ประจำแหล่งขาช้อปเด็กแนว สยามสแควร์ เล่าให้ฟังว่า สยามสแควร์เป็นแหล่งรวมของวัยรุ่น ที่พ่อค้าแม่ขายหลายคนเห็นเป็นโอกาส และเป็นแหล่งที่ธุรกิจดี สำหรับเขาหลังจากหมดสัญญาที่หลังโรงภาพยนตร์ ลิโด ก็ย้ายมาที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเก่าตามมาอุดหนุนไม่ขาดสาย

แม้จะมีราคาค่าเช่าสูงมากกว่า 5 หมื่นบาท แต่เขาต้อง “แลก” เพราะทำเลที่นี่มีกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ที่ซื้อง่ายขายคล่อง และตรงกับสินค้าที่ขาย

“ค่าเช่าที่นี่ค่อนข้างสูงมาก เรียกว่าหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วไม่ค่อยเหลืออะไร แต่มันไม่มีทางเลือก เพราะถ้าพูดถึงการขาย ก็ยังขายได้เรื่อยๆ ในช่วงเดือน มิถุนายน-สิงหาคม ค่อนข้างเงียบเหงา ส่วนปลายปีก็ดีขึ้นบ้าง แต่ตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ ช่วงที่ขายไม่ดี รายได้หายไปถึง 50% ปีก่อนหายไปแค่ 30%” ธีระยุทธ บอกเสียงเครียด

ธีระยุทธเล่าว่า ก่อนหน้านี้เคยมองหาทำเลอื่นที่มีค่าเช่าถูกกว่าเหมือนกัน แต่เมื่อประเมินรายรับรายจ่ายแล้ว สุดท้ายเขาต้องกลับมายึดสยามสแควร์เป็นสมรภูมิเหมือนเดิม เพราะไม่ต้องการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้

“การลงทุนในช่วงภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ไม่น่าจะดีนัก ลงทุนไปเดี๋ยวก็หมด ส่วนที่ใหม่ที่อาจมีค่าเช่าถูกกว่า แต่ก็อาจขายไม่ได้ ไม่มีคนเที่ยวเช่นกัน เพราะไม่มีของดีและถูกในโลกนี้”

สำหรับเขาแล้วสยามสแควร์ยังเป็นต่อด้านทำเลเมื่อเทียบกับที่อื่น แม้ค่าเช่าจะสูงกว่า แต่แลกกับลูกค้าที่มากกว่า สร้างรายรับสูงกว่า ซึ่งวันหนึ่งๆ จะมีลูกค้าเข้าร้านเฉลี่ย 20-50 คน

สำหรับผู้ค้าสวนลุมไนท์บาซาร์ จากการลงพื้นที่สำรวจของ BizWeek ที่นี่เป็นสวรรค์นักชอปของตกแต่งบ้านมีดีไซน์ไม่น้อยทีเดียว แม้จะเป็นตลาดใหม่ แต่ที่นี่เป็นอีกทำเลทำเงินสำหรับร้านที่มีไอเดีย

“เมธา ฟูรี” เจ้าของร้าน Color of Living ของขาช้อปไฮโซประจำสวนลุมไนท์บาร์ซาร์ เป็นร้านหนึ่งที่มีรายได้ต่อเดือนดีทีเดียว รายได้ไม่น้อยกว่า 80,000 บาทต่อเดือน เมื่อเทียบกับค่าเช่าราคา 3.2 หมื่นบาท

เขาให้ความเห็นว่า การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องใช้เวลาอย่างน้อยก็ 3 ปี และต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์สถานที่อย่างต่อเนื่องด้วย อย่างที่สวมลุมฯ มองว่ายังไม่ทำการประชาสัมพันธ์มากเท่าที่ควร ลูกค้าอีกจำนวนมากยังไม่รู้จัก แต่ระยะหลังสวนลุมเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากแรงโปรโมทคอนเสิร์ตของ บีอีซีเทโร

“ถ้าทำประชาสัมพันธ์มากกว่านี้ ที่นี่ก็น่าจะดีขึ้นมาก ของเราเองพื้นที่เช่าทั้งหมด 8 ล็อก ส่วนหนึ่งแบ่งให้เขาเช่า เหลือของเราเองประมาณ 4 ล็อก ราคาค่าเช่าอยู่ที่ 3.2 หมื่นบาท รายได้ก็ถือว่าพอใช้ได้ โดยทำกำไรประมาณ 4-5 หมื่นบาทต่อเดือน ถ้าที่นี่ไม่รื้อผมว่าที่นี่จะดีขึ้นอีก แต่ทุกวันนี้โดยยังคงเน้นการทำตลาดแบบปากต่อปาก ช่วยให้คนข้างนอกรู้จักสินค้าเรามากขึ้น”

ก่อนหน้าเปิดร้านที่นี่เมธาลงไปดูทำเลที่จตุจักร แต่ก็เลือกที่นี่

“ตลาดที่นี่เกรดดีกว่าจตุจักร เพราะสินค้าเราคัดมาขาย” เขาว่าอย่างนั้น

คนนอกที่มองเข้ามาอาจจะบอกว่าสวนลุมไนท์ฯ ราคาสูง แต่เมธาแย้งว่า ราคาสินค้าที่นี่สูงกว่าจริง แต่ไม่มาก แต่ระดับจะดีกว่า และร้านสินค้าตกแต่งบ้านที่นี่ขึ้นปกหนังสือตกแต่งบ้านมาแล้วนับไม่ถ้วน

ไม่แค่ถูกใจลูกค้าคนไทยเท่านั้น เขาบอกว่าลูกค้าต่างชาติในย่านเอเชียชอบสไตล์ศิลปะที่นี่มากเช่นกัน เฉพาะที่ร้านมีลูกค้าต่างชาติถึง 50%

แม้จะเป็นทำเลที่ดีทำเลหนึ่ง แต่เมธา สังเกตเห็นว่า การหมุนเวียนของร้านค้าที่นี่สูงเช่นกัน ผลัดกันเข้าออกเป็นว่าเล่น โดยเฉพาะผู้ค้ารายใหม่ที่เข้ามาช่วงหลัง รวมทั้งร้านเล็กๆ ล็อกเดียว

แต่สำหรับรายใหม่ที่คิดจะเข้าไปเปิดร้านสวนลุมฯ ต้องเบรกไว้ก่อน เพราะโครงการสวนลุมฯ ได้เปลี่ยนมือไปเป็นกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนาเข้ามาบริหารพื้นที่ และยังไม่รู้ว่าพื้นที่ค้าปลีกเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนโฉมเป็นเช่นไร

ขณะที่ “ประเสริฐ ลิ้มสกุล” เจ้าของร้านจิวเวลรี่ “ซันไชน์” บอกเราว่า เปิดร้านมา 8 เดือน ก็ยังขายได้เรื่อยๆ แต่ไม่มากนัก โดยลูกค้าหลักยังเป็นต่างชาติ และเมื่อลองเทียบอัตราค่าเช่าและรายได้จากร้านของตนเองที่จตุจักรว่า จตุจักรรายได้ดีกว่าที่นี่ถึง 6 เท่า แต่ค่าเช่าจะมากกว่า 3 เท่า

“ทำเลที่นี่อยู่ได้เรื่อยๆ แต่…ถ้าไม่มีเงินก็ต้องปิดร้านนะ” ที่บอกอย่างนั้น เพราะว่ามีบางวันขายของไม่ได้สักชิ้นก็มี แต่ถ้าวันไหนขายได้ถึง 6 ราย เขาบอกว่า ปิดร้านกลับบ้านได้เลย

ด้านเจ้าของร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่น ที่ เซ็นเตอร์ วัน อนุสาวรีย์ชัย บอกเราว่า เซ็นเตอร์วัน เป็นแหล่งชอปปิงของวัยรุ่นนักศึกษา ประมาณ 70% สินค้าที่ขายดีส่วนใหญ่ของที่นี่จึงเป็นพวกแฟชั่น เช่นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า สำหรับค่าเช่าก็ถือว่าพออยู่ได้ เมื่อถัวเฉลี่ยกับรายได้ที่เข้ามา แต่ไม่ถือว่าฟู่ฟ่า ยิ่งเมื่อเศรษฐกิจตกต่ำลง ทำให้เห็นได้ชัดว่า ลูกค้าจับจ่ายใช้สอยน้อยลงมาก

การปรับตัวของที่ร้านจึงใช้การออกแบบคอนเล็คชั่นเสื้อผ้าใหม่ให้มากขึ้น ไม่ให้ตามกระแสหรือตกกระแสไป

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *