เคล็ดลับสำหรับผู้บริหาร SMEs

เคล็ดลับสำหรับผู้บริหาร SMEs

ผู้บริหารในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs จำเป็นจะต้องมีความรู้และทักษะในการบริหารจัดการที่ดี จึงจะสามารถบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพและนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้นในการที่จะเป็นผู้บริหารที่ดี จะต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญ อันเปรียบเสมือนเคล็ดลับที่จะทำให้การบริหารงานประสบผลสำเร็จ ดังต่อไปนี้

1. รู้จักลูกค้าของตนอย่างถ่องแท้ ผู้บริหารที่ดีจะต้องรู้จักลูกค้าของตนดีกว่าสินค้าของตนด้วยซ้ำ แต่มิได้หมายความว่าผู้บริหารไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในสินค้าของตน แต่ควรจะรู้จักลูกค้าของตนเองให้ดีก่อนจึงค่อยมาทำการพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับลูกค้าของตน โดยสิ่งที่ผู้บริหารต้องรู้เกี่ยวกับลูกค้าและสินค้า คือ คุณค่าของสินค้าที่ลูกค้าต้องการคืออะไรและทำไม กระบวนการในตัดสินใจซื้อของลูกค้าเป็นอะไรและมีกำหนดกรอบเวลาในการตัดสินใจอย่างไร เป้าหมายของสินค้าคืออะไร ต้นทุนสินค้าเป็นเท่าใด ควรจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้านใดมาเพื่อพัฒนาสินค้าของตน เป็นต้น

2. เข้าใจถึงวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ในประเทศของลูกค้า ลูกค้าแม้เพียง 2 ราย ก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นวัฒนธรรมหรือไลฟ์สไตน์ของลูกค้าในแต่ละประเทศย่อมต่างกันไปด้วย คงไม่มีผู้บริหารคนใด ได้ยินลูกค้าบอกว่า “คุณเสนอสินค้าที่เหมือนกับที่คุณเสนอให้กับคนอื่นให้ผมก็ได้” ดังนั้นผู้บริหารต้องคิดให้กว้างไกลแต่ดำเนินการให้เหมาะกับประเทศที่ลูกค้าอยู่ (Think Global but Act local) ซึ่งสิ่งนี้จำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องรู้และเข้าใจวิธีชีวิตของลูกค้าในประเทศที่ต้องการไปนำเสนอสินค้า การเข้าไปคลุกคลีกับลูกค้าเพื่อทำการศึกษาและหาข้อมูลเป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถคัดสรรสินค้าที่ต่างกันและเหมาะกับลูกค้าของตนในแต่ละประเทศได้ การพัฒนากลยุทธ์ไม่ว่าจะเป็น “ส่วนผสมการตลาด(4’s P)” ให้เหมาะกับแต่ละประเทศจะช่วยให้ผู้บริหารประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจแน่นอน

3. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและเจาะจงกลุ่มลูกค้า เป้าหมายถือเป็น “ความฝัน” ที่มีหลากหลายมากมาย ถ้าไม่มีวิธีในการวัดเป้าหมาย เป้าหมายก็คงเป็นแค่ความฝันเท่านั้น ผู้บริหารที่ดีจะต้องมีเป้าหมายที่แหลมคม ซึ่งไม่ควรเกิน 4-5 ข้อ คำว่า เป้าหมายที่แหลมคม หมายถึง เป้าหมายที่ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ( เช่น ยอดขาย ส่วนแบ่งตลาด กำไรก่อนภาษี ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เป็นต้น) เป้าหมายที่วัดได้(เช่น วัดเป็นจำนวน เปอร์เซ็นต์ มูลค่าเงิน เป็นต้น) เป้าหมายต้องสำเร็จได้ (ต้องมีทรัพยากรที่จำเป็นรองรับต่อความสำเร็จในเป้าหมาย) เป้าหมายต้องเป็นจริงได้ (เป้าหมายจะเกี่ยวข้องกับดัชนีภายนอกและหรือผลงานวิจัย) และเป้าหมายต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจน (ไม่ว่าจะเป็นระยะสั้นหรือระยะยาว)

4. ผู้บริหารต้องมีแผนงานที่ชัดเจน ผู้บริหารต้องรับผิดชอบในการกำหนดกลยุทธ์ระยะยาวและแผนงานประจำปี สิ่งเหล่านี้ถือเป็น “ถนนของแผนงาน” ที่ต้องติดตามเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่แหลมคมได้ แผนงานจะรวมถึงข้อความที่กำหนดนิยามของคุณค่าที่จะให้กับลูกค้า และข้อเปรียบเทียบในเชิงแข่งขันกับคู่แข่ง นอกจากนี้ วัตถุประสงค์ กลยุทธ์และกลวิธีก็ควรจะมีการระบุให้ชัดเจนและต้องให้ทุกคนในทีมงานรับรู้และเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

5. ต้องเรียนรู้ในการเข้าถึงทรัพยากรที่ต้องการ ผู้บริหารจะต้องรู้ว่า องค์กรจะต้องมีทรัพยากรในด้านใดจึงจะทำให้องค์กรสามารถดำเนินงานไปได้ และที่สำคัญ คือ จะต้องรู้ว่าจะได้ทรัพยากรเหล่านั้นมาได้อย่างไร (เช่น คน เวลา ทุน) ผู้บริหารต้องขายความคิดเหล่านี้ให้กับพนักงานเพื่อให้ทุกคนรับรู้และสนับสนุนการทำงานของผู้บริหารในการพัฒนาสินค้าใหม่ขึ้นมา

6. พัฒนาทักษะในการบริหารบุคลากรแบบเข้าถึงขึ้นมา ทักษะในการบริหารบุคลากรแบบเข้าถึง เป็นสิ่งที่จะวัดความสามารถของผู้บริหารในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายได้ ผู้บริหารจะต้องมีความเป็นผู้นำและสามารถกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักในการทำงาน การเข้าถึงพนักงานด้วยการสอบถามพนักงาน จะช่วยให้ผู้บริหารรับรู้ปัญหาในการทำงานและนำมาแก้ไขเพื่อให้สามารถปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นได้ และสิ่งสำคัญผู้บริหารจะต้องบอกให้ทุกคนในองค์กรรู้ว่าผู้บริหารต้องการสิ่งใดจากพวกเขา

7. เรียนรู้ในการขายความคิดให้กับทุกคนในองค์กร การที่จะทำให้ทุกคนร่วมมือในการทำงาน โดยเฉพาะพนักงานในระดับปฏิบัติ ผู้บริหารจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนจึงจำเป็นจะต้องขายความคิดให้ได้ และถ้าความคิดใดต้องได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ผู้บริหารอาจต้องคุยนอกรอบกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านั้นด้วยเพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ

8. ต้องเร่งสร้างสินค้าใหม่ๆ มาสู่ตลาด การแข่งขันในระยะยาวจำเป็นจะต้องมีสินค้าใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด ผู้บริหารจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ (เช่น คน โรงงาน อุปกรณ์) เพื่อให้สามารถออกสินค้าใหม่ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ในการแข่งขัน ยิ่งถ้าสินค้าใดมีต้นทุนคงที่ต่ำยิ่งต้องพยายามออกสินค้านั้นให้เร็วที่สุดเนื่องจากสินค้าลักษณะนี้จะถึงจุดคุ้มทุนได้เร็ว

9. ต้องกล่าว “ขอบคุณ” เป็นนิสัย ผู้บริหารต้องเรียนรู้ในการพูดคำว่า “ขอบคุณ” กับทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะมีตำแหน่งสูงหรือต่ำ เพราะทุกคนไม่ต้องการทำงานโดยไม่มีคนสนใจ ดังนั้นคำว่า “ขอบคุณ” เป็นเพียงคำสั้นๆ แต่เป็นเครื่องมืออันทรงพลังถ้าใช้อย่างเหมาะสม เช่น การที่ผู้บริหารกล่าวขอบคุณ พนักงานระดับปฏิบัติที่สามารถแสดงความคิดเห็นที่ดีในการแก้ปัญหาในการทำงาน ย่อมจะทำให้พนักงานรู้สึกดีเป็นอย่างมากและมีกำลังใจในการทุ่มเทการทำงานให้เต็มที่ยิ่งขึ้นไปอีก

ที่มา : http://www.businessthai.co.th/

Tags:

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *