เคล็ดลับการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กอัจฉริยะของสังคม

เคล็ดลับการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กอัจฉริยะของสังคม
เด็กเก่ง เด็กฉลาด เด็กดีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ พ่อแม่ทุกคนย่อมต้องการให้เกิดขึ้นกับลูก ๆ ทุกคนโดยเฉพาะเด็กที่แสดงความอัจฉริยะออกมาได้อย่างแตกต่างย่อมส่งผลดีให้กับเด็กอย่างมากมาย แต่ “ความเป็นอัจฉริยะ” นั้นยังเป็นคำจำกัดความที่กว้างซึ่งเด็กหลาย ๆ คนอาจจะมีความเป็นอัจฉริยะที่แตกต่างกันไป บางคนคิดเก่ง คิดเร็วร้องเพลงเก่ง ประดิษฐ์เก่ง จึงขึ้นอยู่กับว่าแววการแสดงออกตั้งแต่วัยเยาว์ที่พ่อแม่มีส่วนสร้างนั้นเด็ก ๆ จะแสดงออกในรูปแบบใด
น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิตกล่าวถึงวิธีการเลี้ยงดูลูกให้เป็นเด็กอัจฉริยะว่าต้องทำให้เต็มที่อย่างเป็นระบบเริ่มตั้งแต่ช่วงที่รู้ว่าพ่อแม่ต้องการมีลูกจึงต้องมีการวางแผนตั้งครรภ์ที่ควรได้รับคำแนะนำของแพทย์อย่างใกล้ชิด เมื่อตั้งครรภ์ต้องบำรุงทั้งทางร่างกายและจิตใจทั้งแม่และลูกอย่างสมวัยเพราะความฉลาดอัจฉริยะนั้นขึ้นอยู่กัยแต่ละบุคคลเป็นหลัก

วัยทารก อาหาร ความรัก ความอบอุ่น การสัมผัส การแสดงออก หนาว หิว โกรธ เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้ทั้งหมดในแต่ละช่วงวัย พ่อแม่จึงควรให้การดูแลลูกด้วยตนเองให้มากที่สุดด้วยการให้อาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ให้ความรักความอบอุ่น การกอด อุ้ม ลูบไล้สัมผัสเหล่านี้ การแสดงกิริยาท่าทางจะสื่อไปถึงลูกตั้งแต่แบเบาะ เมื่อหนาวก็มีคนรู้ใจมาห่มผ้า เมื่อหิวก็มีคนป้อน ไม่ปล่อยให้นานจนทนไม่ไหว ความโกรธ ความไม่เอาใจใส่ของพ่อและแม่ ตลอดจนการแสดงออกถึงกิริยาต่าง ๆ การพูดจา ท่าทางหน้าตาที่ถือเป็นภาษากาย เด็กก็เรียนรู้จดจำได้ทั้งสิ้นจึงควรพึงระวังให้มากที่สุดเพราะการปฏิบัติต่าง ๆ ของพ่อและแม่ ปู่ย่าตายายหรือพี่เลี้ยงเป็นพื้นฐานให้เด็ก ๆ เรียนรู้ได้ทั้งสิ้น
วัย 3-5 ปี ช่วงนี้เด็กจะกินเล่น เต้น วาด นั่นคือจะเริ่มหัดให้มีการเคารพกติกา แต่ไม่ใช่ไปปิดกั้นการแสดงออกของเด็ก ๆ ดูเหมือนเป็นการจดจำไม่ให้กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ช่วงนี้จึงควรปล่อยให้เด็กได้แสดงออกถึงศักยภาพทางอารมณ์สุนทรีย์ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นจินตนาการทางด้านศิลปะ ดนตรี วาดฝันให้เด็กปลดปล่อยความคิดอย่างอิสระ สร้างวินัยที่เป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคมอันนำไปสู่การอดทนสู้งาน รู้จักประหยัดอดออมไม่ฟุ่มเฟือย ตั้งแต่ของเล่น กระดาษ ดินสอ ยางลบ สอนให้รู้จักความพอเพียง สุขใจที่ใช้น้อยไม่สิ้นเปลือง ฉลาดที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

วัยเรียน สอนหรือฝึกให้เด็กใผ่เรียนรู้ไม่ต้องรอให้บอก นักประดิษฐ์หลาย ๆ คน ก่อเกิดความอัจฉริยะด้วยการฝึกจากของเล่นเด็ก “ผู้ใหญ่ควรให้คำแนะนำมากกว่าการชี้แนะ” ดังคำกล่าวในทำนองที่ว่า “สอนวิธีจับปล่ากับการทำปลาให้กิน” จะส่งผลให้เด็กได้เกิดพัฒนาการที่แตกต่างกันไป ส่วนช่วง “วัยรุ่น” ควรเปิดโดกาสให้ฉลาดคิดฉลาดทำ คิดให้เป็น เพราะทุกปัญหาล้วนมีทางออกทั้งสิ้น ได้หลายช่องทาง จึงคิดตรึกตรองให้รอบคอบ ทำแล้วอย่าเบื่อหน่าย แต่ก็ไม่คุยโม้โอ้อวดตนเอง สอนให้เข้าใจรูปธรรมการปฎิบัติตนให้สอดคล้องกับสังคมว่าทุกอย่างทุกกิจกรรมการปฎิบัติล้วนเกิดปัญหาให้ทดสอบแก้ไขอันนำไปสู่สติปัญญาประสบการณ์ ความชำนาญได้ทั้งสิ้น
“ฉลาดสัมพันธ์ ฉลาดใจ สุขใจ เก่ง ดีมีสุข” นั่นคือให้เด็กได้เรียนรู้สังคมอย่างมีความสุขภายใต้คำแนะนำที่ใกล้ชิดของพ่อแม่เริ่มตั้งแต่ความสัมพันธ์ในครอบครัวญาติมิตรก่อนที่จะขยายวงกว้างออกไปเพื่อสอนให้เด็กรู้ว่าทุกคนย่อมอยากอยู่ในสังคม เก่งอัจฉริยะเพียงใดแต่อยู่ในสังคมไม่ได้ก็ไร้ซึ่งความสำเร็จ จนส่งผลกระทบต่อทางด้านจิตใจ ใจไม่เปิดกว้างไม่ยอมรับ เกิดอคติ เห็นผู้อื่นเป็นผู้ที่ด้อยกว่าตนเอง ความดูถูกก็จะเกิดขึ้นในจิตใจ สอนให้มีความเมตตา มีจริยธรรม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ตั้งแต่เด็กได้เริ่มเรียนรู้จะเป็นการดีอย่างยิ่ง
แพทย์หญิงจริยา ศาสตรสาธิต กุมารแพทย์ โรงพยาบาลสุขุมวิท แนะนำถึงวิธีปฏิบัติในการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กอัจฉริยะไว้อย่างน่าสนใจว่า ควรเริ่มปฏิบัติตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ให้แม่และลูกอารมณ์ดี เพราะหากพ่อแม่เป็นคนอารมณ์ดีก็จะเป็นพื้นฐานให้ลูกที่เกิดมามีความเป็นคนเก่งเป็นอัจฉริยะได้มากกว่า ส่วนพื้นฐานการเลี้ยงลูกก็ให้ปฏิบัติเหมือนทั่ว ๆ ไปนั่นคื่อให้ถูกหลักอนามัย อาหารครบ 5 หมู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย พ่อแม่ควรดูแลโดยตรงให้มากที่สุดเพราะลูกจะเกิดความอบอุ่นได้มากกว่าที่จะอยู่กับผู้อื่นเป็นการปลูกฝังหลาย ๆ ด้านให้กับลูกได้อย่างน่าเชื่อ แต่ปัจจุบันพ่อแม่กลับไม่มีเวลาให้ลูก ปล่อยให้อยู่กับปู่ย่าตายายหรือพี่เลี้ยงเพื่อนบ้านจึงควรแนะนำวิธีการเลี้ยงการดูแลเช่นเดียวกับที่อยู่กับพ่อแม่ให้มากที่สุด
สิ่งสำคัญพ่อแม่ควรเรียนรู้เรื่องพัฒนาการของเด็กก่อนที่วางแผนตั้งครรภ์ อาศัยการสังเกตถึงความสามารถพิเศษเพราะเด็กแต่ละวัยจะมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป พ่อแม่จึงควรปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับการพัฒนาของเด็ก ๆ ด้วย เช่น ของเล่นจะกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้มากในช่วงนี้อีกทั้งเด็กยังต้องการความอบอุ่น ต้องการเรียนรู้ การสัมผัสการโอบกอด วิธีการปฏิบัติด้วยการเล่นกับลูก ๆ จึงเป็นวิธีการที่ดี การถามในสิ่งที่เด็ก ๆ สงสัย คำตอบว่า “ไม่รู ไม่มีเวลา” จากพ่อแม่ไม่ควรนำไปปฏิบัติกับลูก ๆ แต่ควรเปลี่ยนเป็นคำแนะนำให้ค้นหาคำตอบจากที่ใดหรือจะช่วยหาคำตอบให้โดยจะไปสอบถามกับผู้รอบรู้แล้วจึงค่อยมาบอกในภายหลังน่าจะเป็นข้อปฏิบัติที่ดีกว่า

เด็กบางราย “อัจฉริยะด้านความชอบ” การได้สัมผัส การได้ฟังเสียงดนตรี เครื่องดนตรี การร้องเพลง การได้เห็น ได้ประดิษฐ์คิดค้นเมื่อทำได้ดีก็จะเป็นการสร้างความมั่นใจ ภูมิใจ การสร้างรอยยิ้มอย่างมีความสุข การให้รางวัล เสียงชมเชย เสียงปรบมือจะดีมากกว่าหากเด็กปฏิบัติได้สำเร็จ แต่ควรหลีกเลี่ยงอารมณ์การทำท่าโกรธ โมโห รำคาญ เมินเฉย ดุด่า เพราะเด็กอาจจะดูขาดความมั่นใจจนแยกแยะไม่ออกว่าจะปฏิบัติตนเพื่อตอบสนองได้อย่างไร อีกทั้งควรสร้างโอกาสเป็นแรงผลักดันด้วยการพาไปดู ไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ที่แปลกหูแปลกตาจากการให้อยู่แต่ภายในบ้านในพื้นที่ชุมชนนั้น ๆ เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้รวดเร็วขึ้น สร้างความรู้ใหม่ ๆ หากพบว่าเด็ก ๆ ฉายแววที่เฉลียวฉลาด ความชอบด้านใดก็ควรเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้มากที่สุด เช่น คิดเลข บวกเลขจะเป็นการเสริมทักษะและยังสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ได้ดีกว่า
จากการเก็บสถิติของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ราชนครินทร์ ที่บ่งบอกถึงปัจจัยการพัฒนาการความฉลาดของเด็กนั้นพบว่าพันธุกรรมมีผล 48% และอีก 52% เป็นผลมาจากสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสมองเป็นส่วนสำญที่สร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กได้เป็นคนเก่ง ดี มีสุขอย่างมีความเป็นอัจฉริยะที่แตกต่างจากคนอื่น ๆ ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา อีกทั้งความเป็น “อัจฉริยะ” นั้นไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการเรียน การคิด การประดิษฐ์ การแสดงออกในกิริยาท่าทางหลากหลายรูปแบบเท่านั้น การเข้ากับสังคมที่ดีการส่งเสริมให้เด็กเติบโตอย่างมีจริยธรรม รู้ผิดรู้ชอบโดยการสังเกตจากสังคมรอบข้างควบคู่กันไปด้วย พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรลืมที่จะปลูกฝังเรื่องเหล่านี้ควบคู่กันไปด้วย เพราะลูก ๆ จะได้เป็นอัจฉริยะบุคคลที่สังคมต้องการได้อย่างมั่นใจนั่นเอง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *