เครือข่ายชุมชนคน HR สร้างองค์ความรู้พัฒนา’ทุนมนุษย์’

เครือข่ายชุมชนคน HR สร้างองค์ความรู้พัฒนา’ทุนมนุษย์’

ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 ให้ความสำคัญต่อเรื่องการพัฒนาคน โดยมุ่งเน้นไปที่…“การเตรียมความพร้อมของคนไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญในอนาคต”

ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ ความรู้ความสามารถ ทักษะในการประกอบอาชีพ และมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต รวมไปถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาเพื่อเสริมขีดความสามารถในด้านต่างๆของคนไทย และเพื่อทำให้คนในชาติมี “ทุน” ที่เรียกว่า “ทุนมนุษย์” หรือ (Human Capital) อันหมายถึง “ความรู้ ความสามารถ ทักษะ สมรรถนะ ประสบการณ์ และค่านิยมที่เหมาะสมในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ”

ซึ่งการแสวงหาแนวทางในการที่จะพัฒนา “ทุนมนุษย์” ในหน่วยงานภาครัฐนั้นส่วนหนึ่งก็เป็นภาระหน้าที่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ สำนักงาน ก.พ.

“สำนักงาน ก.พ. เห็นว่าหากมีการนำตัวอย่างความสำเร็จของแต่ละองค์กรมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงความรู้เหล่านั้นได้ง่ายๆ ก็จะยิ่งทำให้องค์ความรู้ด้านการบริหารและการพัฒนาคนเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ซึ่งผลที่ได้ก็คือจะทำให้หน่วยงานในทุกภาคส่วนสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับกลับไปพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการบุคลากรของตนเองให้สูงขึ้น” นางทวีลาภ จันทนะเสวี รองเลขาธิการ ก.พ.กล่าวถึงที่มาของ “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้สาธารณะด้านการจัดการทุนมนุษย์”

โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้าง “เครือข่ายหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” หรือ Strategic Partner ซึ่งเป็นการสร้าง “ชุมชนนักปฏิบัติ” หรือ Community of Practice เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ที่เน้นความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ในการร่วมพัฒนาองค์ความรู้ และส่งเสริมให้มีช่องทางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

เพราะการสร้าง “เครือข่าย” เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารจัดการองค์ความรู้ยุคใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการสื่อสารระหว่างกันและกันของสมาชิกในเครือข่าย ที่แตกต่างไปจากการบริหารความรู้ในสมัยแรกที่เน้นการสร้างแหล่งเก็บรวบรวมองค์ความรู้เป็นหลัก

โครงการ HR Line of Business ของ สำนักงานบริหารงานบุคคลสหรัฐอเมริกา (The US Office of Personal Management หรือ OPM) เป็นตัวอย่างของการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ด้านการบริหารงานบุคคลที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากของประเทศสหรัฐอเมริกา โดย OPM กำหนดบทบาทไว้ในโครงสร้างองค์กรอย่างชัดเจนว่าจะ เป็นศูนย์เครือข่ายอย่างแท้จริงของหน่วยงานภาครัฐ ในการเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลจากแหล่งต่างๆ และรวบรวมผู้เชี่ยวชาญในงานด้านการบริหารบุคคลจากหน่วยงานของรัฐและเอกชน ร่วมกันออกแบบโครงสร้างการบริหารงานบุคคลที่สามารถปรับเปลี่ยนไปใช้ได้กับทุกหน่วยงานรัฐทุกองค์กร เพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานบุคคลของรัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและช่วยลดต้นทุนการบริหารงานบุคคล

ซึ่งการสร้างเครือข่ายในลักษณะนี้ทำให้ความรู้ในด้านการบริหารงานบุคคลทั้งระบบขององค์กรสมาชิกในเครือข่ายได้มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน โดยมีสำนักงาน OPM เป็นผู้อำนวยความสะดวก และถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญที่ได้มีการแลกเปลี่ยนกัน ให้ออกมาในรูปของการบริหารงานบุคคลที่เป็นระบบร่วมกันระหว่างหน่วยงานสมาชิก อันเป็นการลดความผิดพลาดในการบริหารและสร้างให้เกิดรูปแบบของการบริหารงานบุคคลที่มีประสิทธิภาพ และนำไปใช้งานได้จริงในหน่วยงานสมาชิก

ธนาคารโลก (World Bank) เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการสร้างเครือข่ายความรู้ในด้านต่างๆ เพราะธนาคารโลกมีทรัพย์สินเชิงความรู้ (Knowledge Asset) อยู่เป็นจำนวนมากจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการต่างๆทั่วโลก แทนที่ความรู้เหล่านั้นจะถูกใช้เพียงแค่ในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งขององค์กรเท่านั้น แต่ธนาคารโลกภายใต้การบริหารงานของ James Wolfensohn ในปี ค.ศ.1996 กลับมองว่าองค์ความรู้เหล่านี้นั้นมีคุณค่าและเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในการฝึกอบรม ในคู่มือการปฏิบัติงานหรือในตำราวิชาการใดๆ

แนวคิดนี้ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทในการให้บริการของธนาคารโลก เพื่อตอบสนองการเป็นศูนย์กลางแห่งความรู้ด้านโครงการพัฒนาและด้านเศรษฐกิจ โดยวางบทบาทที่สำคัญไว้ 3 ด้านคือ 1.การพัฒนาศักยภาพและการสร้างสรรค์ความรู้ 2.การแบ่งปันความรู้ และ 3.การประยุกต์ใช้ความรู้ โดยได้นำเอาแนวคิดของการจัดทำระบบ “ชุมชนนักปฏิบัติ” ที่ธนาคารโลกเรียกว่า “Thematic Group” มาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งนับตั้งแต่ธนาคารโลกเริ่มนำระบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาใช้ มีการจัดตั้งชุมชนนักปฏิบัติไปแล้วทั่วโลกกว่า 1,500 โครงการ และมีองค์ความรู้เพิ่มมากขึ้นนับพันเรื่อง

เมื่อการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคล จำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทาง สำนักงาน ก.พ. จึงได้ดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ภายใต้ “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์ความรู้สาธารณะด้านการจัดการทุนมนุษย์” โดย สำนักงาน ก.พ. จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ที่เน้นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการร่วมพัฒนาองค์ความรู้ และส่งเสริมให้มีช่องทางการเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันผ่านทางเวบไซต์ http://www.thaihrhub.com

โดยทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับความสามารถของบุคลากรภายในชาติ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เกิดความมั่นคง และพร้อมที่จะก้าวเข้าไปแข่งขันในโลกยุคใหม่ได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ที่มา : www.thaihrhub.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *