อุปสรรคของการสร้างเสริมความฉลาด
อุปสรรคของการสร้างเสริมความฉลาด
อุปสรรคที่เกิดขึ้นจากตัวเด็กเองนั้น พอจะสรุปได้เป็น 2 เรื่องใหญ่ ดังนี้
1. ความวิตกกังวล
เด็กที่มีความวิตกกังวลอยู่ในจิตใจ จะไม่สามารถพัฒนาสมองไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะสมองต้องการความคิดที่เป็นอิสระ ถ้ามีปัญหาที่ทำให้เด็กกังวล และไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้ความวิตกกังวลจะเป็นเหมือนม่านที่คลุมความคิดอิสระเอาไว้
พ่อแม่จึงต้องเข้าใจปัญหาที่ทำให้ลูกวิตกกังวล และพยายามชี้ให้ลูกเห็นถึงวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้น แต่การที่พ่อแม่จะรู้ถึงปัญหาของลูกได้นั้น จะต้องใช้เวลาในการสังเกตพฤติกรรมของลูก จนจับปัญหาได้ อาจใช้วิธีพูดคุยก็ได้ เมื่อรู้ปัญหาแล้ว จึงช่วยกันแก้ไขด้วยการฝึกเด็กให้ลดความเครียดลง เช่น อาจใช้วิธีจินตนาการเข้าช่วย ให้เด็กมองเห็นว่าปัญหาไม่ใหญ่โตอะไร หรือฝึกหัดเด็กให้เผชิญกับปัญหาที่อ่อน ๆ ก่อน การแก้ปัญหาต้องใช้วิธีการให้เหมาะสมกับลักษณะปัญหาแต่โดยหลักการคือ ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วย
เมื่อเราแก้ปัญหาได้ เด็กจะหมดความวิตกกังวล ความฉลาดของเด็กก็จะแสดงออกมาได้ และเราจะพัฒนาสมองต่อไป
ปัญหาเรื่องความคิดวิตกกังวลนี้อาจจะคล้ายโรคติดต่อ คือเด็กอาจจะติดต่อมาจากพ่อแม่ที่มีเรื่องให้ต้องวิตกกังวลมากก็ได้ เด็กจะเรียนรู้การแก้ปัญหาตามอย่างพ่อแม่ ฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ดีสภาพแวดล้อมทางบ้านก็ควรจะเอื้ออำนวยด้วย เป็นเรื่องหนึ่งที่พ่อแม่ควรพิจารณาควบคู่ไปด้วย
2. ความก้าวร้าว
เด็กที่แสดงความก้าวร้าวนั้นเป็นสื่อที่แสดงให้เห็นว่า เด็กไม่รู้จักการแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นที่เป็นที่ยอมรับของสังคม พ่อแม่จะช่วยเด็กได้โดยต้องรู้ปัญหาของเด็กว่า เด็กแสดงความก้าวร้าวจากเรื่องใด เช่น การเย้าแหย่เรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ เล่นเอาชนะผู้อื่นไม่ได้ ฯลฯ
วิธีแก้ไขเพื่อลดความก้าวร้าวลง เริ่มจากพ่อแม่เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของลูก และบันทึกส่วนพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และพฤติกรรมที่ดีจนจับปัญหาและสาเหตุได้แล้ว ให้ใช้วิธีสอนการอยู่ร่วมกับผู้อื่น แก้ปัญหาจากสาเหตุนั้น ๆ ให้รางวัลเมื่อแสดงพฤติกรรมดี และทำโทษเมื่อแสดงอาการก้าวร้าว
วิธีหนึ่งคือ การสร้างสถานการณ์จำลองปัญหาขึ้นแล้วทำให้ดูเหมือนไม่เป็นปัญหาเช่น ลูกก้าวร้าวจากการเย้าแหย่จากเพื่อน ก็ให้ลองสมมุติว่าคุณกับลูกมีการเย้าแหย่กัน ให้ลูกพิจารณาดูว่าการเย้าแหย่เหล่านี้น่าจะโกรธหรือไม่ เด็กจะเริ่มเรียนรู้เมื่อเจอกับสถานการณ์จริง ก็จะมีใจคอหนักแน่นขึ้น
เด็กก้าวร้าวต้องการการดูแลเอาใจใส่ด้วยความรัก พ่อแม่จึงไม่ควรที่จะมีอารมณ์ร่วมไปกับเด็ก เมื่อเด็กแสดงอาการก้าวร้าว เพราะจะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก เด็กก็จะไม่ได้เรียนรู้วิธีแก้ไข หรือพฤติกรรมที่ถูกต้อง โดยปกติเด็กมักจะเรียนรู้จากการกระทำของพ่อแม่ในเกือบจะทุกเรื่อง ถ้าครอบครัวมีปัญหาและแสดงอาการก้าวร้าวต่อกัน เด็กก็จะทำเช่นนั้นด้วย ฉะนั้น ถ้าคิดว่าครอบครัวของเรายังมีปัญหา ก็ควรจะหันมาร่วมมือกันแก้ปัญหาทั้งพ่อแม่ลูกไปพร้อม ๆ กัน ครอบครัวที่เป็นสุข จะมีลูกก้าวร้าวน้อยมาก
นอกจากอุปสรรคในการสร้างเสริมความฉลาด 2 ประการที่เกิดกับตัวเด็กที่กล่าวมานี้ อุปสรรคอื่น ๆ ที่เกิดจากพ่อแม่เอง และสิ่งแวดล้อมก็ยังมีอยู่อีกมาก