อึ้ง!เด็กไทยไอคิวต่ำหลุดโผ1ใน10เอเชีย

อึ้ง!เด็กไทยไอคิวต่ำหลุดโผ1ใน10เอเชีย

ที่กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.51 นายปรีชาญ เดชศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เปิดแถลงผลการวิจัยโครงการศึกษาแนวโน้มการจัดการศึกษาคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ร่วมกับนานาชาติปี 50 (Trends in International Mathematics and Science Study2007, TIMSS-2007) ว่า โครงการ TIMSS-2007 ได้ดำเนินการภายใต้สมาคมการประเมินผลนานาชาติ IEA (The International Association for the Evaluation of Educational Achievement) จัดการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ของนักเรียนระดับชั้น ม.2 ในช่วงระหว่างปี 47-51 ซึ่งมี 59 ประเทศ และ 8 รัฐเข้าร่วม โดยโครงการนี้จัดประเมินทุก 4 ปี

นายปรีชาญ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการและเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักเรียนชั้น ม.2 ทั่วประเทศ จำนวน 5,412 คน จาก 150 โรงเรียน ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร (สนศ.) สำนักบริหารการศึกษาท้องถิ่น (สศท.) และโรงเรียนสาธิตในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่า จากการจัดอันดับวิชาคณิตศาสตร์ ม.2 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 29 โดยมีคะแนนคณิตศาสตร์ 441 คะแนน ถือว่าต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ 500 คะแนน และถือว่าต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่อยู่ในอันดับที่ 20 สำหรับประเทศที่ได้คะแนนสูงสุด 5 ประเทศแรก อยู่ในทวีปเอเชียทั้งสิ้น ได้แก่ สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง ตามลำดับ

ส่วนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์นั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 เท่ากับมาเลเซีย มีคะแนน 471 คะแนน ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยนานาชาติ ซึ่งอยู่ที่ 500 คะแนน ส่วน 5 ประเทศแรกที่ได้คะแนนสูงสุดวิชาวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ไทเป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ

อย่างไรก็ดี ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง 2 วิชาดังกล่าว ถือว่าลดต่ำลงครั้งที่ผ่านมาซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างปี 42-46 โดยครั้งที่แล้ว วิชาคณิตศาสตร์ไทยได้ 467 คะแนน และวิชาวิทยาศาสตร์ได้ 482 คะแนน และหากแยกตามสังกัดจะพบว่ากลุ่มโรงเรียนสาธิต สามารถทำได้คะแนนสูงที่สุด โดยวิชาคณิตศาสตร์ได้ 600 คะแนน และวิทยาศาสตร์ได้ 606 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนนานาชาติ

ด้าน นางพรพรรณ ไวทยางกูร รองผอ.สสวท. กล่าวว่า ประเทศไทยจัดเวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก คือวิชาละประมาณ 35 คาบต่อสัปดาห์ แต่ผลสัมฤทธิ์กลับตกต่ำลง ซึ่งสะท้อนว่าประเทศไทยยังไม่สามารถปรับตัว และไม่สามารถเตรียมบุคลากรให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าเกิดจากปัญหาขาดแคลนครู ที่เกิดจากนโยบายลดอัตรากำลังคนตามโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด (เออร์ลีรีไทร์) ตลอดจนไม่มีมาตรการจูงใจให้คนเก่งมาเป็นครู และแม้ว่าประเทศไทยจะทุ่มเทกับการอบรมครู แต่กลับยังขาดการส่งเสริมให้ครูนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปใช้ในการเรียนการสอนเด็ก

“ผลการประเมินดังกล่าว คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ สสวท.ซึ่งมีตัวแทนของผู้บริหารของกระทรวงศึกษาฯ ร่วมเป็นกรรมการด้วย จะนำไปปรับปรุงแนวทางจัดการเรียนการสอน และหากเราเห็นว่าวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ก็ควรต้องมาหารือกันเพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด”

ที่มา สยามรัฐ
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *