“อีคิวดี” พลิกเกมชีวิตเมื่อสมองเป็นรองอารมณ์
“อีคิวดี” พลิกเกมชีวิตเมื่อสมองเป็นรองอารมณ์
ชนิตา ภระมรทัต
ทำมั้ยยยยย ? ทำงานมาตั้งนาน หนักและเหนื่อย แต่ชีวิตยังย่ำอยู่กับที่ คงเป็นคำถามที่เกิดขึ้นวนเวียนอยู่ในใจของใครหลายๆ คน บ้างก็ว่า Miracle of Life ไม่เกิดในชีวิตของตัวเองนั่นเป็นเพราะโชคชะตาที่ชอบเล่นตลก
เมื่อไม่นานมานี้ คำว่า อีคิว ( Emotional Quotient-EQ) แนวคิดของ แดเนียล โกลด์แนน นักจิตวิทยา สหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายถึง “ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ พัฒนาอารมณ์ และแสดงออกทางอารมณ์อย่างสร้างสรรค์และมีความสุข” ได้รับความสนใจและยอมรับอย่างกว้างขวางว่า…มันคือปัจจัยที่ทำให้ชีวิตที่เคยติดลบ กลับฮิตติดชาร์ท เป็นไปได้เหมือนใจหวัง
ลบล้างความเชื่อที่ว่าคนที่เรียนเก่ง ไอคิวดี เท่านั้นที่จะเนรมิตให้ชีวิตเลิศเลอแสนเพอร์เฟกต์ ก็เพราะคนเรียนดี มีเกียรติในสังคมตั้งมากมายที่ “ก้าวไม่ไกลไปไม่ถึง”
งานสัมมนาหัวข้อ อีคิว กับการพัฒนาตนเอง ซึ่งจัดโดยสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ และมี วชิรา บุตรวัยวุฒิ เป็นผู้บรรยาย ได้ให้ข้อคิดว่า “มนุษย์มักตามความรู้สึกตัวเองไม่ทัน มักจับได้ก็แต่คนอื่น”
ด้วยมนุษย์มีจุดอ่อนมากมาย ส่วนใหญ่ถูกดีไซน์โดยธรรมชาติให้มีนิสัยชอบปกป้องตัวเอง แต่คาดหวังกับคนอื่น จึงมักเกิดแต่คำถาม Why? “ถ้าฉันเป็นเธอ คงจะไม่ทำอย่างนี้” บ่อยครั้ง
ในโลกของการทำงาน ซึ่งใครๆ ก็ต้องการความก้าวหน้า แต่ก็ใช่ว่าคนที่ทำงานแบบเป็นบ้าเป็นหลัง ไม่มีวันหยุดสุดสัปดาห์ จะก้าวไปสู่ตำแหน่งที่หวังไว้ ขณะที่เพื่อนร่วมทางที่ดูแล้วไอคิวไม่เอาไหน แถมใช้วันลาไม่ว่าป่วย พักร้อน นอนตื่นสายได้ครบครันกลับได้โปรโมทข้ามหน้าข้ามตาไปซะงั้น!!
แน่นอนว่าเรามักไม่ลองย้อนดูตัวว่า ฉันมันมีอะไรขาดบกพร่อง ขาดความสามารถหรือไม่ และนำไปสู่การย้อนถามตัวเองว่า How? ต้องทำอย่างไร ซึ่งเป็นการใช้สติ ไม่ใช่ Why? ที่มักเกิดจากอารมณ์ที่ขุ่นมัว
อ่านถึงบรรทัดนี้คงมีคนคิดว่า แหงละสิ !! ก็ฉันมันไม่ใช่เทวดา นางฟ้า ฉันมันไม่ดี ก็เป็นได้แค่นี้แหละ แสดงว่าคุณกำลังมีปัญหาเรื่องอีคิว ถ้าไม่เชื่อต้องอ่านให้จบ
วชิรา กล่าวว่า สาเหตุของการเป็นคนอารมณ์ที่ไม่ดี อีคิวไม่เกิดนั้นมีสาเหตุหลักๆ จากความเครียด (Stress) ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อจิตใจถูกกระตุ้นด้วยสิ่งเร้าที่ทำให้ตื่นเต้น หวาดกลัว หรือวิตกกังวล ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
ส่วนใหญ่มักแสดงอาการปวดที่ต้นคอ (โดยปกติมักเกิดกับคนระดับ ผอ. และ สว. ย่อมาจาก ผู้สูงอายุ และ ผู้สูงวัย ) อาการเบื่ออาหารหรือกินมากกว่าปกติ อาการท้องผูก ท้องเสีย อาการหลับยาก หลับไม่สนิท เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ใจสั่นไม่มีสมาธิ และตื่นเต้นตกใจง่าย เป็นต้น
“ความเครียดมักเกิดจากเรื่องของจิตใจ เป็นมากในกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งไม่เข้าใจตัวเอง วัยรุ่นชอบให้ผู้ใหญ่มีเหตุผล แต่ตัวเองไม่ชอบใช้เหตุผล ทำให้เขาคอนโทรลความคิดไม่ได้ ความเครียดมาจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วยทางกาย คนสุขภาพไม่ดี และความเครียดมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของชีวิต เช่น เมื่อปลายเดือนกันยายนปี 2549 มีบางเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตคนๆ หนึ่งสูงสุดคืนสู่สามัญ ทันที ทันใด”
เราจะมีวิธีรับมือกับความเครียดอย่างไร วชิราแนะนำว่าต้องเสริมสร้างสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ซึ่งที่สุดจิตเป็นนายกายเป็นบ่าว ดังนั้นต้องทำให้สุขภาพจิตแข็งแรง
“คนเราควรจะหัวเราะหรือยิ้มให้ได้วันละ 20 ครั้ง เพราะว่าร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุข นั่นคือ เอ็นโดรฟิน โดยไม่ต้องไปหาซื้อตามแผงขายเทป ความรู้สึกมีความสุขคือการยิ้ม หัวเราะ เป็นการลงทุนน้อย เราทำได้ด้วยตัวเอง”
ทีนี้มาพิจารณาองค์ประกอบของอีคิว ซึ่งมีอยู่ 5 ประการ และพิจารณาอย่างไม่มีอคติว่าตัวเรามีครบถ้วนหรือไม่ ดังนี้
ประการแรก Knowing one’s Emotion รู้จักตัวเอง เป็นการรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง และสามารถเข้าใจสาเหตุของอารมณ์ความรู้สึกได้ตามความเป็นจริง ซึ่งมันขึ้นอยู่กับ ข้อที่ 1 การรับรู้ (Perception) ที่เป็นอยู่จริง ยกตัวอย่างรับรู้ที่ว่า…ชีวิตเรานั้นไม่เป็นอมตะ ข้อที่ 2 ความคิด Thinking ข้อที่ 3 ความเชื่อ Believe ข้อที่ 4 อารมณ์ความรู้สึก Feeling และ ข้อที่ 5 การแสดงออก พฤติกรรม Behavior
“You are What You Think ลบก็เป็นบวกได้อยู่ที่เราจะคิด คนมักคิดได้ แต่ไม่ได้คิด เราละเลยความคิดที่เป็นสติ มนุษย์แม้ว่าจะดีเลิศกว่าสัตว์ในโลกทั้งหมด แต่เสียก็คือชอบคิดในแง่ลบ มองแต่สิ่งที่เลวร้ายไม่เกิดประโยชน์”
ความล้มเหลวและที่ร้ายแรงถึงขั้นวินาศก็มักจะเกิดจากการมองคนละมุม คนสามารถฆ่ากันให้ตายได้เพราะมีความเห็นที่ต่าง ซึ่งหากตรองว่า “เหรียญ” ที่เราสามารถนำไปซื้อหาสิ่งที่ต้องการได้ย่อมต้องมีสองด้านไม่เช่นนั้นก็คือ “เหรียญเก๊”
ความคาดหวังเองก็เป็นกับดักที่สำคัญ คนเรามักจะต้องการให้ตัวเองมีแต่เรื่องราวดีๆ Good me ต้องเป็นคนดูดี Look good ในสายตาทุกคน และจะ Look bad ไม่ได้ คนจึงปฏิเสธข้อด้อยและไม่กล้าเผชิญความจริง
วชิรา ยกตัวอย่าง หากมีคนพูดใส่หน้าเราว่า “ทำไมคุณโง่อย่างนี้” ไม่ว่าในสถานการณ์นั้นเราจะโง่จริงหรือไม่ก็ตาม แต่ความดันคงถูกกระตุ้นให้สูงปรี๊ดดด และเลือดลมคงสูบฉีดมากกว่าปกติ ดีไม่ดีพฤติกรรมที่ตามมาก็คือเกิดการตะลุมบอน ซึ่งนี่เป็นตัวบ่งชี้ว่าอีคิวเราติดลบอย่างแรง
คนที่มีอีคิวดี เขาจะตอบกลับไปแบบสุขุมนุ่มลึกพร้อมใบหน้าที่เปื้อนยิ้ม เช่น… “ที่จริงฉันโง่ยิ่งกว่านี้อีก” ซึ่งจะทำให้เหตุการณ์จากนั้นไม่รุนแรง เพราะทำให้คนที่พูดใส่หน้ามัวแต่…อึ้ง
ประการที่สอง Managing Emotion ความสามารถในการจัดการอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด ทำให้อารมณ์ขุ่นมัวหายไปโดยเร็ว
อริสโตเติล ก็เคยกล่าวว่า “การโกรธอย่างพอเหมาะ เป็นการโกรธอย่างมีคุณค่า”
ส่วนคาถาเด็ดที่ใช้จัดการกับอารมณ์ตนเอง ก็คือ การคิดเชิงบวก โดยมี key word ว่า “ยังดีนะ” เช่น สำหรับของปีนี้บริษัทจะจ่ายให้ตอนปลายเดือนมกราคมปีหน้าแทนที่จะจ่ายสิ้นเดือนธันวาคมนี้ …ก็คิดเสียว่า “ยังดีนะ” ที่เรายังได้โบนัส แม้ว่าจะเป็นการปลอบใจตัวเองแบบรันทด เพราะอดใช้เงินช่วงปีใหม่ก็ตามที
ประการที่สาม Recognizing Emotion in other การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ทัศนคติที่มีต่อผู้อื่น มี 4 รูปแบบ คือ 1. I’m OK ,You’re Ok (ฉันใช้ได้คุณก็ใช้ได้) 2. I’m OK ,You’re not OK (ทำไมคุณไม่ได้เรื่องอย่างนี้) 3. I’m not OK ,You’re (ใช่สิฉันมันไม่เก่งไม่เหมือนเธอ ชีวิตมีแต่ความท้อแท้) และ 4. I’m not OK ,You’re not OK (โลกนี้หนอมันช่างโหดร้าย)
“เรามักชมชอบคนที่มีพื้นฐานนิสัยที่คล้ายกับเรา และเกลียดสิ่งที่ต่างกัน ทำอย่างไรจึงจะก้าวข้ามความรู้สึกได้สำเร็จ นิ้วมือทั้งห้าของเราเป็นสัญลักษณ์ของความต่างที่ทำให้มือของเราทำงานได้ดี และหากขาดนิ้วใดไปก็คงทำงานได้ยาก”
ความเชื่อมีผลต่อพฤติกรรมเช่นกัน คนที่อีคิวดีมักจะเชื่อในสิ่งที่ดี เช่น เชื่อว่าแม้คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อใคร เราต่างคนต่างเป็นตัวเอง เธอไม่ชอบฉันก็ไม่เป็นไร แต่จะดีกว่ามั้ยถ้าเราจะรักกัน
เพราะชีวิตคงไม่ดีแน่ๆ และจะนั่งทำงานอย่างมีความสุขได้อย่างไรในเมื่อเพลง “ใครๆ ก็ไม่รักผม ขนาดพัดลมยังส่ายหน้าเลย” แว่วให้ได้ยิน ซ้ำซากทุกวัน
ประการที่สี่ Motivating Oneself ความสามารถในการให้กำลังใจ จูงใจตัวเอง มองโลกในแง่ดีและสามารถควบคุมความต้องการของตนได้ กำลังใจสร้างได้ ต้องทำอย่างไร อยู่ด้วยตัวเอง ขึ้นอยู่กับว่าต้องรับรู้ในทางบวก เมื่อมีลบต้องมีบวก ไม่ใช่เฝ้าแต่พูดแย่ๆ ไม่ให้กำลังใจตัวเอง (Self-Talk)
วชิรา แนะว่า ต้องแก้ไขโดยพูดถึงแต่ภาพลักษณ์ที่ดีของตัวเอง เช่น เราเป็นคนดี เราเป็นคนเก่ง ห้ามมองข้อด้อยของตัวเอง มีฝันมีเป้าหมายให้ชีวิต ไม่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับความคิดแบบไร้พลัง เช่น “เบื่อๆ” “ เคียด ๆ” (เสียงหนักแน่นไร้ควบกล้ำเพราะเครียดจริง) หรือไม่ก็ “เวรกรรม” หรือ “ฉันว่าแล้ว”
“เป้าหมายคืออะไร คนเรามักจะพรรณนากันยืดยาว แต่ความหมายมันก็คือ Where are you going? และกำหนดกลยุทธ์ How to get there? โดยกำหนดกรอบระยะเวลาในการทำไม่ใช่เมื่อไรก็ได้ หรือ Forever”
ประการที่ห้า Handling Relationship ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลรอบข้าง รักษาสัมพันธภาพทำให้อยู่กับใครก็ได้อย่างราบรื่น keyword คือ S-O-F-T-E-N หรือความอ่อนโยนและนุ่มนวล
S หมายถึง Smile และ Speak การยิ้มและพูดจาดี ไม่ทำร้ายความรู้สึกคนอื่น O หมายถึง Open up ความจริงใจ ทำโดยไม่หวังผล F หมายถึง Forward to ความยอมรับคนอื่นและร่วมมือและก้าวไปด้วยกันได้ T หมายถึง Touching การสัมผัสไม่ว่าจะทางกาย สายตา ฯลฯ ส่วน E หมายถึง Eye-contacted มองต้องให้เห็น เป็นความใส่ใจ สนใจ และ N หมายถึง Nodding การคล้อยตาม ไม่ขัดคอคนอื่น
“life is problem” เกิดมาเป็นคนทั้งที เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน ซึ่งหากจะเป็นคนอีคิวดี สำคัญที่สุดคือต้องฝึก…ฝึก และ ฝึก เพราะอีคิวไม่ได้เกิดจากการกางตำรา