อัคคีภัย ป้องกันได้ แค่ใส่ใจ

อัคคีภัย ป้องกันได้ แค่ใส่ใจ
• คุณภาพชีวิต
เรียนรู้การป้องกันภัย-ช่วยเหลือ และการปฐมพยาบาล

อัคคีภัย หรือไฟไหม้เกิดได้ทุกที่ ไม่ว่าบ้านพักอาศัย โรงงานและสถานที่ต่าง ๆ ที่มีความสูญเสียด้านทรัพย์สิน และบางครั้งอาจมีการสูญเสียชีวิตร่วมด้วย ดังนั้น การป้องกันไฟไหม้จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ได้แก่

1. ห้ามสอนเด็กเล็กเล่นไม้ขีดไฟ ไฟแช็ค เก็บสิ่งของที่ติดไฟได้ให้พ้นมือเด็ก ส่วนเด็กโตสอนถึงอันตรายของไฟและให้รู้วิธีการจุดไม้ขีดไฟ ไฟแช็คที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการนำไปจุดเองแล้วตกใจหรือพลาดพลั้ง ทำให้ลวกมือหรือหน้า และอาจทำให้ไม้ขีดไฟตกพื้นและลามไปทั่วจนเกิดไฟไหม้

2. อย่าให้เด็กเล่นวัตถุไวไฟ หรือวัตถุระเบิดทั้งหลาย เช่น น้ำมันเครื่องน้ำมันเบรค น้ำมันก๊าด สเปรย์กระป๋อง และดอกไม้ไฟ ประทัด เม็ดมะยม

3. หมั่นตรวจสอบสายไฟ เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้ในบ้าน เพราะสายไฟเก่า ถลอก หรือการใช้ปลั๊กไฟ 1 ตัวกับเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายตัว การใช้ไฟเกินขนาดเป็นเหตุของไฟฟ้าลัดวงจร

4. ก่อนเข้านอนหรือก่อนออกจากบ้าน ต้องตรวจให้แน่ใจว่าไม่ได้ จุดธูปจุดเทียน เปิดแก๊ส เปิดเตาไฟฟ้า เสียบปลั๊ก (โดยเฉพาะปลั๊กเตารีด) ทิ้งค้างไว้

5. ดับก้นบุหรี่ให้สนิท ดับเตาไฟอาหารเมื่อเลิกใช้

6. เสื้อผ้าเก่า หนังสือพิมพ์ นิตยสารเก่า ๆ ใบไม้แห้งที่ร่วงเกลื่อนสนามล้วนแต่เป็น “เชื้อเพลิง” ที่ติดไฟได้ง่ายทั้งสิ้น ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้แล้วควรกำจัดออกจากบ้านเรือน

7. อย่าทิ้งเด็กให้อยู่บ้านตามลำพัง เสื้อนอนของเด็กเลือกแบบไม่ติดไฟง่าย

8. ติดตั้งอุปกรณ์ดับไฟ (เครื่องดับเพลิง) ที่ได้มาตรฐาน ศึกษาวิธีการใช้เครื่องดับเพลิงอย่างละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

9. “เหล็กดัด” ตามประตูหน้าต่างไม่ควรใช้แบบติดถาวร ควรเปิดปิดได้ด้วยกุญแจ ลูกกุญแจนั้นต้องเก็บไว้ ที่ทุกคนหยิบได้ทันทีที่มีเหตุฉุกเฉิน

10. จดเบอร์โทรศัพท์ของสถานีดับเพลิง หรือ 191 เพื่อแจ้งเหตุไฟไหม้

การช่วยเหลือเมื่อเกิดไฟไหม้

เมื่อเกิดไฟไหม้ ให้ควบคุมสติ ผู้ใหญ่ต้องช่วยเด็กที่อยู่ในที่นั้นออกมา ด้วยวิธีการดังนี้

1. ใช้ผ้าห่มหนา ๆ ห่อหุ้มเด็ก แล้วรีบหาทางออกจากสถานที่เกิดเหตุนั้นทันที

2. ถ้าที่เกิดเหตุมีควัน ห้ามวิ่งออกไป เพราะว่า 80%ของผู้เสียชีวิตในกองเพลิง เกิดจากการสำลักควันและขาดอากาศหายใจ ที่เป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และไอร้อน ดังนั้น วิธีหนีควันไฟ คือ คว่ำหน้าหมอบลงกับพื้นแล้วค่อย ๆ คืบคลานไปสู่ทางออก ให้ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปาก ปิดจมูกเพื่อป้องกันการสำลักควัน

3. หากไฟไหม้ในห้องที่ไม่มีคนอยู่ และไม่มีใครอยู่ในนั้นแน่นอน ให้รีบปิดประตูห้องนั้นให้มิดชิด ไฟที่กำลังไหม้จะลดกำลังลงและอาจดับไปได้เอง อย่าเปิดห้องเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ไฟลุกลามมากขึ้น รอให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาจัดการดูแลต่อไป

4. ถ้ามีจำเป็นจริงที่ต้องเปิดประตูห้องที่ไฟกำลังลุกท่วมนั้น หาผ้าหนา ๆ ชุบน้ำลูกบิดประตู และเปิดประตู เข้ามาหาตัวผู้เปิด โดยผู้เปิดยืนอยู่หลังประตู เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟที่ลามออกมาเผาตัวผู้เปิด

5. ถ้าเข้าไปติดอยู่ในห้องที่ไฟกำลังลุกลามใกล้มาถึง ให้ใช้ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว ชุบน้ำเปียก ๆ แล้วอุดไว้ตามร่อง ประตูและช่องต่าง ๆ ในห้อง เพื่อกันไม่ให้ควันไฟเล็ดลอดเข้ามาได้ แล้วตะโกนเรียกคนช่วย โทรศัพท์แจ้ง 191 และโทรศัพท์เรียกรถดับเพลิง

6. ควรมีซ้อมป้องกันอัคคีภัย ที่เป็นวิธีการฝึกการเรียนรู้ การควบคุมอารมณ์ การวางแผนการหนีเพลิง และอื่น ๆ

การปฐมพยาบาลเมื่อพบผู้บาดเจ็บจากไฟไหม้

1. ใช้น้ำสะอาด ราด รด หรือแช่ผู้บาดเจ็บจากไฟลวก เพื่อลดความเจ็บปวดของบาดแผล หยุดการทำลายจากความร้อน

2. หากผู้บาดเจ็บสวมแหวน นาฬิกา กำไล ให้รีบถอดออก เพราะไม่นานบริเวณที่ถูกความร้อนจะเกิดอาการบวม

3. ปิดแผลด้วยผ้าปิดแผล ถ้าหาไม่ได้ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้า ปลอกหมอนหรือผ้าปูที่นอนพันบาดแผลไว้ และรีบนำส่งโรงพยาบาล

ที่มา : ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *