อภิชน ผู้ครองโลก (9)
อภิชน ผู้ครองโลก (9)
คอลัมน์ อภิชนผู้ครองโลก โดย รอฮีม ปรามาท rowhim@yahoo.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3998 (3198)
“คนร่ำรวยจะทำทุกอย่างเพื่อคนยากจน ยกเว้นการก้าวลงจากหลังของพวกเขา”
– คาร์ล มาร์กซ์ นักปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และนักปฏิวัติชาวเยอรมัน ได้รับการขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์
เมื่อสำรวจความไม่เท่าเทียมกัน เจาะลึกลงไปภายในแต่ละประเทศ ได้ให้ภาพที่มีความหลากหลายมากกว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความไม่เท่าเทียมสูงขึ้นในประเทศจีน อินเดีย โดยส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันออก และอดีตสหภาพโซเวียต หลายประเทศในละตินอเมริกา ในกรณีของจีนกับอินเดีย ที่ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง แต่ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เขตเมือง ทำให้ช่องว่างของรายได้ระหว่างเขตเมืองกับเขตชนบทขยายตัว ห่างมากขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตามในหลายประเทศ สถานการณ์ความไม่เท่าเทียมอยู่ในภาวะคงที่ และมีหลายประเทศที่ความ ไม่เท่าเทียมลดน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา อาทิ อิตาลี ญี่ปุ่น บังกลาเทศ กานา จากการศึกษาล่าสุด โดยอิงข้อมูลด้านภาษี พบว่าในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนภาษีของกลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด เพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ส่วนในญี่ปุ่นและผืนทวีปยุโรป โดยส่วนใหญ่สัดส่วนไม่เปลี่ยนแปลง
เอ็มมานูเอล ซาเอซ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และ โทมัส พิคิตตี้ แห่งปารีส สกูล ออฟ อีโคโนมิกส์ แย้งว่า “สัดส่วนด้านภาษีของกลุ่มผู้มีรายได้สูงสุด ที่เพิ่มสูงขึ้น ไม่ได้มาจากรายได้จากทุน แต่เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นอย่างมากของ ค่าจ้างและผลประโยชน์ของผู้บริหารระดับสูง ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 ถึง 1990” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ บรรดาบุคคลที่บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้น อย่างมาก มีคำอธิบายหลายประการสำหรับปรากฏการณ์เช่นนี้ บางคนก็อ้างว่าเป็นเพราะบริษัทในปัจจุบัน ขยายตัวและขยายกิจกรรมใหญ่โตกว่าในอดีตมาก บางคนก็อ้างถึงผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่ผู้บริหารได้รับเพิ่มมากขึ้น บางคนระบุว่า การว่าจ้างกลุ่มซีอีโอ “แบรนด์เนม” สามารถส่งผลดีในเชิงตลาด ทำให้ค่าตัวของซีอีโอเหล่านี้พุ่งสูงขึ้น แต่บางคน ก็มองว่าเป็นวงรอบของการปั่นกระแสใน ประชาคมเล็กๆ ของผู้บริหารธุรกิจ
สงครามระหว่างเศรษฐีกับอภิมหาเศรษฐี
ความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ และชะตากรรมของกลุ่มคนยากจนที่สุด ในโลก เป็นประเด็นถกเถียงสำคัญ ในแวดวงนักเศรษฐศาสตร์ เอ็นจีโอ และ กลุ่มองค์กรการกุศล แต่ในวงกว้างแล้วมีน้อยคนที่จะสนใจปัญหาเหล่านี้ สื่อต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศร่ำรวยมุ่งรายงานแต่กิจกรรมความเคลื่อนไหวของเศรษฐี คนชั้นกลาง และกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกับผลประโยชน์ของเจ้าของสื่อ ส่วนการช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแองเจลีน่า โจลี่ กับ แบรด พิตต์
แต่ประเด็นที่กำลังมีผู้กล่าวถึงและ วิเคราะห์มากยิ่งขึ้นทุกที คือช่องว่างที่ขยายมากขึ้นระหว่างเศรษฐีธรรมดา กับอภิมหาเศรษฐี เมื่อไม่นานมานี้ นิตยสารฟอร์จูน นิวส์วีก หนังสือพิมพ์รายวัน นิวยอร์ก ไทมส์ ฯลฯ และหนังสือหลายเล่มพยายามอธิบายถึงการต่อสู้ระหว่างชนชั้นยุคใหม่ นั่นคือการต่อสู้ระหว่างกลุ่มคนที่ร่ำรวย มากที่สุดกับกลุ่มคนที่ร่ำรวยรองลงมา เศรษฐีระดับชนชั้นกลางกับอภิชน เศรษฐีใหม่กับศักดินาเก่า
ภาพที่เด่นชัดที่สุดน่าจะเป็นชะตากรรมของบรรดาเศรษฐีในสหรัฐ ผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 350,000 ดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 11 ล้าน 9 แสนบาท) มีจำนวนร้อยละ 1 ผู้ที่มีรายได้เฉลี่ย 2.3 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 73 ล้าน 6 แสนบาท) มีเพียงร้อยละ 0.1 และบุคคลที่มีรายได้เฉลี่ย ปีละ 14 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 468 ล้านบาท) มีแค่ร้อยละ 0.01
อีกด้านหนึ่ง นิวยอร์ก ไทมส์ จัดทำรายงานพิเศษเป็นตอนๆ ชื่อว่า “Class War” ระบุว่า รายได้ครัวเรือนในสหรัฐโดยเฉลี่ยในกลุ่มล่าง ซึ่งมีร้อยละ 90 ระหว่าง ปี 1990 ถึง 2004 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 ส่วน รายได้ในกลุ่มบนสุดซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 57 จงอย่าทำตาโต เพราะรายได้ของคนชั้นบนร้อยละ 0.1 พุ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 85 และคนเพียงแค่ร้อยละ 0.01 ในยอดพีระมิด มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 112 ซึ่งหมายความว่า อภิมหาเศรษฐีสามารถแสวงหาความมั่งคั่งได้มากกว่า และรวดเร็วกว่าเศรษฐีธรรมดาถึงสองเท่า
ภาพที่แท้จริงของความมั่งคั่งในโลก ยุคปัจจุบันก็คือ ระหว่างที่อภิมหาเศรษฐีร่ำรวยมั่งคั่งเป็นทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ บรรดาเศรษฐีชั้นรองลงมาได้แต่แหงน มองการสร้างความร่ำรวยอันน่ามหัศจรรย์ ส่วนชนชั้นกลางและชนชั้นล่าง แม้แต่มอง ก็ไม่อาจเห็น ไม่อาจเข้าใจ ว่าพวกเขากำลังทำอะไร
แนวโน้มเช่นนี้ไม่ได้กำจัดอยู่ภายในสหรัฐเท่านั้น ปรากฏการณ์คล้ายคลึงกันนี้พบเห็นได้ในสหราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน อภิมหาเศรษฐีในอังกฤษมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 5 ถึง 6 เท่า ขณะที่ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 60
ปัจจุบันกลุ่มผู้ร่ำรวยร้อยละ 0.1 ในอังกฤษ ครอบครองความมั่งคั่งมากกว่า ยุคใดในประวัติศาสตร์ มีรายงานการสำรวจหลายชิ้นระบุว่า คนอังกฤษรับได้กับความไม่เท่าเทียมในสังคมมากกว่าแต่ก่อน บางทีเหตุอาจมาจากความเคยชินและ แนวโน้มของสังคมอนุรักษนิยม
ความเชื่อต้นน้ำ ปลายน้ำ ไม่อาจนำมาใช้ได้อีกต่อไป เพราะต้นน้ำสามารถ แห้งเหือด ขณะที่ปลายน้ำอาจหล่อเลี้ยงไปตลอดจรดต้นน้ำ มิไยต้องเอ่ยถึงทะเลสาบ แหล่งน้ำใต้ดิน
เด็กน้อยในวงการธุรกิจ ผู้สร้างเว็บ YouTube ทำเงินได้มากกว่า 1.65 พันล้านดอลลาร์ ทฤษฎีความเชื่อแบบเก่าๆ เฉกเช่น สังคมในยุคถ้ำ ยุคเกษตรกรรม และยุคอุตสาหกรรม เป็นตัวอย่างชั้นยอดของกระบวนการประวัติศาสตร์ และการพลิกความเชื่อแบบเก่าๆ บางคนบอกว่า นี่คือวิถีของทุนนิยม การทำงานหนัก ทุ่มเท มีทักษะ บางคนบอกว่า นี่คือตัวอย่างที่บ่งชี้ว่า โลกกำลังแบนราบเป็นระนาบเดียวกัน ไม่มีใครสามารถอยู่เหนือคนอื่นได้ เพียงเพราะตำแหน่งหน้าที่ หรือประสบการณ์ บุคคลจะดำรงอยู่ด้วยคุณค่าที่แท้จริง ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนธุรกิจ สังคม และรัฐชาติ ในศตวรรษที่ 21 ในโลกอุดมคติ ทุกคนมีความเท่าเทียม แต่ในโลกที่เป็นจริงมนุษย์มีความแตกต่าง และเป้าหมายที่ไม่อาจปฏิเสธของมนุษยชาติคือการสร้างความเสมอภาคท่ามกลางความแตกต่าง
อริสโตเติลกล่าวว่า ถ้าในสังคมมีกลุ่มคนที่ “มีมากกว่า” คนอื่นๆ ในสังคมโดยรวม ไม่ว่าจะด้านใด นั่นคือมูลเหตุอันนำมาซึ่งความไม่เท่าเทียม ส่วนเพลโตระบุว่า สังคมจะดำรงอยู่ด้วยความสมานฉันท์ ความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนไม่ควรเกินกว่าห้าเท่า แม้กระทั่ง เจ.พี. มอร์แกน ยังระบุว่า ผู้บริหารไม่ควรได้รับค่าจ้างสูงเกินกว่า 20 เท่าของพนักงาน แต่ในสหรัฐทุกวันนี้ สัดส่วนสูงเกินกว่า 350 เท่า ขณะที่มีคนจำนวนมากในโลกดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินต่ำกว่าหนึ่งหรือสองดอลลาร์ต่อวัน
ในแง่มุมของการพัฒนา บรรดา นักเศรษฐศาสตร์และกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง มักระบุถึงสาเหตุของความไม่เท่าเทียมว่าเป็นเพราะ การขาดการศึกษา ไม่สามารถเข้าถึงทุน และเส้นแบ่งทางชนชั้นในสังคม ความไม่เท่าเทียมสร้างให้เกิดความตึงเครียดในสังคม เป็นปัญหาอุปสรรคสำคัญในการบริหารบ้านเมือง และกล่าวถึงที่สุดแล้ว เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษยชาติ
คำถามที่ยากยิ่งก็คือ แล้วใครล่ะคือต้นตอของปัญหา ใครกันที่ควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ ใครหรือที่กำหนดกฎเกณฑ์เหล่านี้ ชัดเจนแล้วว่ามีคนเพียงกลุ่มเดียวในโลกที่มีพลังอำนาจเหนือกว่าผู้คนเบื้องล่างมาก และคนกลุ่มนี้สืบทอดบทบาทมาจากกลุ่มคนในอดีต ทั้งมีความเหมือนและมีความแตกต่าง แบบแผนและบทเรียนปรากฏให้เห็นอยู่แล้วในประวัติศาสตร์
หน้า 37
________________________________________