อภิชน ผู้ครองโลก (8)

อภิชน ผู้ครองโลก (8)
คอลัมน์ อภิชน ผู้ครองโลก โดย รอฮีม ปรามาท rowhim@yahoo.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3997 (3197)
“ความไม่เท่าเทียมระหว่างคนรวย กับคนยากจน เป็นโรคร้ายที่เก่าแก่ที่สุดและอันตรายที่สุดของทุกรัฐ”
– พลู ตาร์ก นักประวัติศาสตร์ นักปรัชญากรีก ผู้สืบทอดแนวคิดอริสโตเติล และเพลโต
“เป้าหมายของสังคมนิยม ไม่ใช่ทำให้ทุกคนยากจนเท่าเทียมกัน การสร้างความมั่งคั่งคือความรุ่งโรจน์”
– เติ้ง เสี่ยว ผิง อดีตผู้นำจีน ผู้นำในการปฏิรูปจีนยุคใหม่
ถ้าโยนคำว่า “ความไม่เท่าเทียม” เข้าไปในห้องที่เต็มไปด้วยนักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญ ด้านนโยบาย ผลลัพธ์จะเป็นเหมือนโยน งูหางกระดิ่งเข้าไปในห้องที่มีคนธรรมดา อยู่เต็มห้อง ความโกลาหลนานารูปแบบ การโต้แย้งกันอย่างดุเดือด ตามแนวคิด ของแต่ละสำนัก การกล่าวอ้างถึงตัวเลขสถิติสารพัดที่บ่งชี้ความไม่เท่าเทียม การโจมตีถึงสาเหตุ ยกตนข่มท่าน ใช้วาทกรรมที่ล้าหลังพ้นสมัยอวดอ้างจริยธรรม จนถึงใช้ถ้อยคำ หยาบคาย
แต่หัวใจสำคัญของปัญหาอยู่ที่การ ดำรงอยู่และวิถีของอภิชน หลายคนไม่รู้หลายคนรู้แต่ไม่กล้ากล่าวถึง ไม่เพียงเพราะคนกลุ่มนี้อยู่ที่ยอดบนสุดของโครงสร้างความไม่เท่าเทียม แต่พวกเขา ยังเป็นผู้สร้างปัญหาด้วยการกำหนดกรอบกฎกติกา และมักเป็นกฎกติกา ที่เกื้อหนุนต่อผลประโยชน์ของพวกเขา ดังนั้นเราจึงควรเจาะลึกรากเหง้าปัญหาความไม่เท่าเทียมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอภิชน เป็นอันดับแรก ก่อนหน้าที่จะพิจารณาถึงมิติอื่นๆ ของอภิชน อาทิ ประวัติศาสตร์ องค์ประกอบ ผลกระทบ ต่อสังคมโดยรวม และอนาคตของอภิชน
จากการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ ชั้นนำของโลก และนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่เท่าเทียมในโลก สามารถแบ่งเป็นสำนักคิดได้ดังนี้
1.กลุ่มที่เชื่อว่าความไม่เท่าเทียมกำลังขยายตัว 2.กลุ่มที่เชื่อว่าความไม่เท่าเทียมกันกำลังลดน้อยลง 3.กลุ่มที่เชื่อว่าภายหลังจากความไม่เท่าเทียมขยายตัวมากขึ้นในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันความไม่เท่าเทียมอยู่ในภาวะทรงตัว
4. กลุ่มที่เชื่อว่า เมื่อกลไกตลาด ดำเนินไปอย่างเหมาะสมจะให้ผลตอบแทนแก่ทุกคนที่สมควรจะได้รับ และ 5.กลุ่มที่เชื่อว่าความไม่เท่าเทียมกันเป็นภัยคุกคามต่อสังคม และจะทำลายความมั่นคงและความก้าวหน้าของอารยธรรมมนุษยชาติ
เมื่อไม่นานมานี้หนังสือและบทความจำนวนมากที่บรรยายถึงมูลเหตุของความไม่เท่าเทียมกัน และขยายขอบเขตการพิจารณาครอบคลุมไปถึงแง่มุมเชิงปรัชญา มีเป็นจำนวนมาก ที่สนับสนุนแนวคิดที่ว่าความไม่เท่าเทียมกันกำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยระบุว่ามีสาเหตุมาจากกลุ่มบุคคลที่มั่งคั่งที่สุด และมีอำนาจมากที่สุด ในสังคม
การกล่าวหาเช่นนี้ยังพุ่งเป้าโจมตีไปที่บรรดาผู้สนับสนุนและได้รับประโยชน์จากกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นพลังที่กระหน่ำซ้ำเติมความไม่เท่าเทียมกันให้เลวร้ายลงอีก อีกด้านหนึ่งก็มีคอลัมนิสต์ และบรรณาธิการนิตยสารธุรกิจหลายราย ที่ปกป้องบทบาทของชนชั้นนำในกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเชื่อว่าในที่สุดแล้ว โลกาภิวัตน์จะช่วยสถาปนาระบบที่เกื้อหนุนต่อความเท่าเทียมกัน
นั่นหมายความว่า สำหรับบางคนสมาชิกของอภิชนคือพระเอกของกระบวนการ โลกาภิวัตน์ ซึ่งวันหนึ่งข้างหน้าจะช่วยคนยากจนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยาก แต่สำหรับบางคน คนกลุ่มนี้เป็นเพียงหัวหน้าโจรยุคใหม่ ที่ยืนอย่างสง่างามอยู่ในยุคความมั่งคั่งใหม่ ตามคำกล่าวของ มาร์ติน วูลฟ์ แห่งไฟแนนเชียล ไทมส์ และพอล ครุกแมน แห่งนิวยอร์ก ไทมส์ แต่ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นนักบุกเบิกที่สมควรได้รับผลประโยชน์ หรือเป็นนักฉกฉวยประโยชน์ที่น่าสะพรึงกลัว ไม่ว่าเป็นกรณีใด พวกเขาคือกุญแจสำคัญของมหากาพย์แห่งความไม่เท่าเทียม ผมไม่ใช่บุคคลโหดเหี้ยมที่พยายามสรรหาถ้อยคำและบิดเบือนข้อมูลความรู้ทางวิชาการ สร้างภาพบรรเจิดขณะที่มีมนุษย์นับล้านๆ กำลังทุกข์ยาก อดอยากหิวโหยจนยากจะมีชีวิตอยู่
ดังนั้นสถานการณ์ที่ปฏิเสธไม่ได้ ในขณะนี้ก็คือ 1.โลกยังมีความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ 2.มีบางพื้นที่ที่สถานการณ์อยู่ในภาวะเลวร้ายลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยด้านใด และ 3.บุคคลที่มีอำนาจสูงสุด คือบุคคลที่มีโอกาสมากที่สุดในการแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเป็นบุคคลที่ “มีมากที่สุด” บนส่วนยอดของโครงสร้างคนที่มีกับคนที่ไม่มี ถ้าเพียงแต่พวกเขาตั้งใจอย่างแท้จริง ไม่ได้แอบแฝง อ้างแนวคิดคตินานาที่เป็นไปไม่ได้ในโลกของความเป็นจริง และเบาหวิวทางหลักการเศรษฐศาสตร์ มิไยต้องทบทวนประวัติศาสตร์ของความยากจน และนักอวดอ้างอุดมการณ์ต่างๆ นานาในอดีต เมื่อตระหนักได้เช่นนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะได้พิจารณาถึงปัจจัยพื้นฐานของความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจในโลก ที่เป็นจริง
แนนซี่ เบิร์ดออล ผู้ก่อตั้ง Center for Global Development ได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงระหว่างความไม่เท่าเทียมกัน ของความมั่งคั่งและอำนาจในการบรรยายชื่อ “The World is not Flat : Inequality and Injustice in our Global Economy” ณ United Nations University เธอระบุว่า “โลกาภิวัตน์สร้างกฎเกณฑ์ที่มีแนวโน้ม จะเอื้อประโยชน์ให้กับบรรดาประเทศ และปัจเจกบุคคลที่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจอยู่เดิมแล้ว เป็นวิถีโดยปกติ ที่ผู้ซึ่งมั่งคั่งและมีพลังอำนาจเหนือกว่า จะต้องดำเนินการเพื่อสร้างกรอบกติกา ที่เอื้อต่อกลุ่มตนมากที่สุด” ชนชั้นล่าง อาจเป็นได้เพียงแค่ผู้ดูและผู้เดินตาม ไม่ว่าจะสนับสนุนฝ่ายใด
จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ผมจะกลับมาวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้โดยละเอียด ในภายหลัง แต่ต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่เป็นจริง ก็คือ คนบางกลุ่มในโลกมีพลังอำนาจสารพัดรูปแบบสูงกว่าคนโดยส่วนใหญ่ ซึ่งหมายความว่า พวกเขาเป็นผู้กำหนดวิถีของสังคมที่แท้จริง เป็นต้นกำเนิดของ ความไม่เท่าเทียม ตามรายงานล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่า ถึงแม้โลกทุกวันนี้หลายภูมิภาคจะมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่าในอดีต แต่สภาวะความไม่เท่าเทียมมีสูงกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ช่องว่างขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันกลุ่มประเทศ ที่ร่ำรวยที่สุดในโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มีความมั่งคั่ง มากกว่ากลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุด เช่น เอธิโอเปีย เฮติ เนปาล มากกว่า 100 เท่า
โดยที่เมื่อประมาณ 100 ปีที่แล้ว สัดส่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 9 ต่อ 1 ปัจจุบัน ถ้าเจาะลงในรายละเอียดประเทศที่ร่ำรวยที่สุด ในแง่ของจีดีพีต่อประชากรรายบุคคล ได้แก่ ลักเซมเบิร์ก เมื่อเทียบกับประเทศ ที่ยากจนที่สุดในเงื่อนไขเดียวกัน ซึ่งได้แก่ กินีบิสเซา มีความต่างกันถึง 267 เท่า ขณะที่ 30 ปีที่แล้วประเทศที่มั่งคั่งที่สุด ได้แก่ สหรัฐ เมื่อเทียบกับประเทศที่ ยากจนที่สุด ซึ่งได้แก่ บังกลาเทศ มีความแตกต่างกันเพียง 88 เท่า ปัจจุบัน มหาเศรษฐีของโลกมีจำนวนประมาณ 1,000 ราย ซึ่งมีสินทรัพย์รวมกันมากกว่ารายได้ของประชากรโลก 2.5 พันล้านคน
แต่การตีความในทำนองนี้ก็มีผู้โต้แย้งโดยระบุว่า การเปรียบเทียบความไม่เท่าเทียมกันระดับประเทศ อาจให้ภาพ ที่แตกต่างจากการเปรียบเทียบความไม่เท่าเทียมภายในประเทศเดียวกัน
แบรนโก มิแลนโนวิช แห่งธนาคารโลกระบุว่า ถ้าเปรียบเทียบกับขนาดเศรษฐกิจกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก จะเห็นภาพความไม่เท่าเทียมกันลดลง การเปรียบเทียบความไม่เท่าเทียม ภายในกรอบประเทศเดียวกัน ยังมีแง่มุมหลากหลายที่น่าสนใจ และเป็นพื้นฐานที่สามารถนำไปวิเคราะห์อธิบายบทบาทคนในกลุ่มอภิชน ที่หลายคนอาจมองข้ามหรือคิดไม่ถึง
หน้า 37
________________________________________

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *