อภิชน ผู้ครองโลก (5)
อภิชน ผู้ครองโลก (5)
คอลัมน์ อภิชนผู้ครองโลก โดย รอฮีม ปรามาท rowhim@yahoo.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3994 (3194)
“ยิ่งเราบินสูงขึ้นเท่าไหร่ คนที่บินไม่ได้ยิ่งเห็นเราเล็กลง”
“การสร้างความเท่าเทียม มีสองแนวทาง คือการฉุดทุกคนให้ลงมาอยู่ระดับเดียวกัน และการยกระดับทุกคนให้ขึ้นไปอยู่ที่ระดับเดียวกัน”
– เฟรดริช นิตเช่ นักวิชาการ นักปรัชญา นักวิจารณ์สังคมและวัฒนธรรม ชาวเยอรมัน หนึ่งในกลุ่มผู้บุกเบิกปรัชญาอัตถิภาวนิยม ( existentialism) และปรัชญาหลังสมัยใหม่ (postmodern)
เฮดจ์ฟันด์ หรือกองทุนประกันความเสี่ยง หรืออีกนัยหนึ่งเป็นกองทุนเพื่อการเก็งกำไร ได้เติบโตขึ้นอย่างทวีคูณ และมีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจ จากการดูแลเงินลงทุนจำนวน 221,000 ล้านดอลลาร์ในปี ค.ศ.1999 เพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงกลางปี 2007 แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้น เฮดจ์ฟันด์ดำเนินกลยุทธ์การเก็งกำไรค่าเงิน พันธบัตร หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน และทองคำ และประมาณกันว่า เฮดจ์ฟันด์ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 10,000 กองทุนทั่วโลก ดำเนินการค้าปริมาณร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 50 ในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้สำคัญทั่วโลก เพื่อทำเงินจากความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของราคาในแต่ละวัน
นั่นหมายความว่าบรรดาบุคคลที่ควบคุมกิจกรรมการซื้อขายของกองทุนเหล่านี้ ร่วมกับสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่กลุ่มหนึ่ง และนักลงทุนมืออาชีพจำนวนหนึ่ง เป็นผู้มีบทบาทหลักในการกำหนดราคาหุ้นของกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเนื่องจากราคาหุ้นของบริษัทเป็นความรับผิดชอบสำคัญสูงสุดประการหนึ่งของประธานผู้บริหาร ดังนั้นการเข้าซื้อหุ้นหรือการปฏิเสธโดยบุคคลกลุ่มนี้ จึงเป็นปัจจัยตัดสินชะตากรรมของเหล่าผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์บางรายดำเนินการเชิงรุกมากกว่าผู้จัดการกองทุนรายอื่นๆ ในการแปลงเงินลงทุนเป็นอำนาจ ในการปฏิรูปองค์กร ตัวอย่าง เช่น เอ็ดดี้ แลมเพิร์ต มหาเศรษฐีเฮดจ์ฟันด์ ใช้แนวทางการลงทุนเชิงรุกโดยเข้าซื้อเคมาร์ต แล้วควบรวมกิจการกับเซียร์ ปลดผู้บริหารของเซียร์ และเข้าไปตัดสินใจทางการค้าและการตลาดของธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ ที่เพิ่งควบรวมกิจการด้วยตนเอง พนักงานถูกลดจำนวนลง ขณะที่ราคาหุ้นพุ่งทะยานขึ้นเกือบสิบเท่า
ยิ่งไปกว่านั้น เฮดจ์ฟันด์รายใหญ่ที่สุด 300 กองทุนครอบครองสินทรัพย์ถึงร้อยละ 85 ของสินทรัพย์โดยรวมของเฮดจ์ฟันด์ทั้งหมด โดยที่ 100 อันดับแรกครอบครองสินทรัพย์สูงถึงร้อยละ 60 นั่นเท่ากับว่ากลุ่มนักลงทุนเพียงแค่หยิบมือ เป็นผู้ขับเคลื่อนการลงทุนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินชะตากรรมของกลุ่มผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งมีจำนวนพอๆ กัน แต่มีอำนาจและอิทธิพลสูงต่อโลกในยุคปัจจุบัน
ดังนั้นภาพที่ปรากฏรางๆ ในขณะนี้ก็คือ อำนาจในโลกนี้ไม่เพียงกระจุกตัวอยู่ในคนแค่กลุ่มเดียว แต่เป็นการกระจุกตัวอย่างยิ่งยวดอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อยนิด สังคมโลกนอกจากจะแบ่งออกเป็นกลุ่มคนที่อยู่ส่วนยอด กับกลุ่มคนนอกส่วนยอดแล้ว ในส่วนยอดยังมีกลุ่มคนเพียงแค่หยิบมือที่ทรงพลังอำนาจสูงสุด