อภิชน ผู้ครองโลก (1)

อภิชน ผู้ครองโลก (1)
คอลัมน์ อภิชน ผู้ครองโลก โดย รอฮิม ปรามาท rowhim@yahoo.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3991 (3191)
ความนำ
“พระเจ้าทรงอยู่เคียงข้าง ทุกคน…แต่ถึงที่สุดแล้วพระองค์อยู่ข้างที่มีเงินมาก และมีกองทัพแสนยานุภาพเกรียงไกร”
– ชอง อานุยห์ นักการละคร ชาวฝรั่งเศสผู้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ด้วยผลงานละครโศกนาฏกรรมท้าทายสังคม และการปะทะกันระหว่างโลกอุดมคติกับโลกที่เป็นจริง
นี่คือเรื่องราวของอำนาจ เรื่องราว ของความเป็นจริงที่ว่า อำนาจกระจุกตัว อยู่ในมือของกลุ่มคนจำนวนน้อยนิด ที่กระจายอยู่ทั่วโลก อธิบายว่าพวกเขาคือใคร แตกต่างจากชนชั้นผู้นำในอดีตอย่างไร และแตกต่างจากมนุษย์ธรรมดาอย่างไรบ้าง ยิ่งไปกว่านั้นยังพยายามสืบค้น และอธิบายถึงผลกระทบที่บุคคลเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของพวกเรา และพวกเขากำลังทำอะไรกับโลกในยุคสมัยของเรา
อำนาจยากยิ่งที่จะวัดหยั่งเชิงปริมาณ ความมั่งคั่งมักเป็นที่มาของอำนาจ โดยทั่วไปแล้วตำแหน่งหน้าที่ ก็สามารถแปลงเป็นอำนาจได้ แหล่งที่มาของอำนาจ ที่เก่าแก่ที่สุดน่าจะเป็นการใช้กำลังและความรุนแรงที่เหนือกว่า แต่บางครั้งอำนาจก็มีพื้นฐานมาจากสิ่งที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน เช่น การเข้าถึงแหล่งปัจจัยทรัพยากรสำคัญ และความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีมาตรวัดมาตรฐานใดๆ ที่สามารถ บ่งบอกปริมาณโดยรวมของอำนาจ ดังนั้นวิจารณญาณ โดยอัตวิสัยจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการตัดสินว่าใครมีอำนาจมากกว่าใคร และการจะตัดสินว่าใครที่กุมอำนาจ และใครปราศจากอำนาจ เป็นเรื่องที่ยาก ยิ่งกว่าเพราะหลายคนที่มีอำนาจสูงสุดมักใช้อำนาจอย่างแอบแฝง หรือนานๆ จะใช้อำนาจสักครั้ง มีคนจำนวนไม่มากนักที่มีพลังอำนาจระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของหนังสือเล่มนี้ หลายคนที่เราคิดว่ามีอำนาจมหาศาล แต่แท้ที่จริงแล้วอาจมีอิทธิพลน้อยมากต่อวิถีของโลก แต่บุคคลที่น่าเกรงขาม ยิ่งกว่าอาจจะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญภายในท้องถิ่นหรือภายในประเทศเท่านั้น
อภิชนผู้ครอบครองโลกในยุคปัจจุบัน ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา และมีพลังอำนาจเหนือกว่าคนกลุ่มใดในโลก สมาชิกแต่ละคนของกลุ่มอภิชนมีศักยภาพในการโน้มน้าวครอบงำวิถีชีวิตของผู้คน นับเป็นล้านๆ ในนานาประเทศทั่วโลก พวกเขาใช้พลังอำนาจอย่างมีพลวัต และมักเพิ่มศักยภาพด้วยการพัฒนา ความสัมพันธ์กับอภิชนอื่นๆ ยุคสมัย ของการครองอำนาจชั่วชีวิตได้ผ่านพ้นไปแล้ว อภิชนโดยส่วนใหญ่มีอำนาจเพียงชั่วคราว บุคคลที่จะอยู่ในชนชั้นนี้ได้ต้องครอบครองอำนาจยาวนานพอที่จะส่งอิทธิพลต่อโลกหรือต่อสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มอภิชน
การดำรงอยู่ของชนชั้นอภิชน เป็นสิ่งที่ ไม่อาจปฏิเสธ พวกเขาเป็นใครกัน ประมุขของรัฐ เหล่าซีอีโอของบรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ยักษ์ใหญ่วงการสื่อ มหาเศรษฐี ที่ดำเนินกิจกรรมการลงทุนขนาดใหญ่ อย่างต่อเนื่อง นักธุรกิจด้านเทคโนโลยี ผู้กุมอำนาจในธุรกิจน้ำมัน ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ นักลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้บัญชาการกองทัพ ผู้นำแกนนำทางลัทธิศาสนา นักเขียน นักวิทยาศาสตร์ ศิลปิน ผู้โด่งดังเป็นที่ชื่นชมยกย่องระดับโลก รวมถึงแกนนำกลุ่มก่อการร้าย และองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอันน่าหวาดหวั่น พวกเขาเหล่านี้ล้วนจัดอยู่ในชนชั้นอภิชน
เมื่อกำหนดหลักคิดเกี่ยวกับอภิชนเช่นนี้แล้ว คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ กลุ่มอภิชนในโลกมีขนาดใหญ่โตแค่ไหน จากกรอบข้างต้นบวกกับการสืบค้นผ่านแหล่งข้อมูลสาธารณะ ผมและผู้ร่วมวิจัยได้ค้นพบและคาดคะเนว่า ในโลกนี้มีบุคคลที่อยู่ในข่ายอภิชนประมาณ 6,000 คนเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กพอที่จะสามารถ วิเคราะห์อย่างเป็นระบบด้วยกระบวนการทางตรรกะ และมีขนาดใหญ่พอที่จะครอบคลุมประชาคมนานาชาติทุกภาคส่วน จากแวดวงการเมือง เศรษฐกิจ ธุรกิจ การทหาร และนวัตกรรมการสร้างสรรค์ โลกจำเป็นต้องพึ่งพาบุคคลเหล่านี้ในการ ขับเคลื่อน พวกเขาคือตัวแทน คือผู้กุมอำนาจสำคัญในภาคส่วนต่างๆ ของโลก
คำถามที่ผมถูกถามมากที่สุด นับตั้งแต่เริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้ก็คือ มีรายชื่อของบุคคลเหล่านี้ไหม น่าจะระบุรายชื่อของสมาชิกกลุ่มอภิชนทุกคน บางคนที่ไม่ใช่อภิชนก็อยากรู้เพื่อประดับความรู้ตาม กระแสแฟชั่นไฮโซฯของยุคสมัย แต่โดยส่วนใหญ่ที่ตั้งคำถามกับผม เป็นบุคคล ในกลุ่มอภิชนหรือบุคคลที่กำลังจะก้าวเข้าสู่แวดวงอภิชน เพื่อที่จะได้รู้ว่า ใครอินและใครเอาต์ ในสังคมอภิชนระดับโลก แต่การระบุรายชื่อบุคคลเหล่านี้เป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ ทันทีที่เผยแพร่ลิสต์รายชื่อเหล่านี้ออกไป มันก็ล้าสมัยไปแล้ว สมาชิกจำนวนมากของอภิชนอยู่ในกลุ่มได้เพราะตำแหน่งหน้าที่การงาน แต่พวกเขาอยู่ในตำแหน่งเพียงชั่วคราว บางคนก็เกษียณอายุการทำงาน บางคนก็เสียชีวิต บางคนประสบปัญหาทางการเงิน หรือมีเรื่องอื้อฉาวจนครองตำแหน่งไว้ไม่ได้
นอกจากจะแอบแฝงตัวอยู่ เบื้องหลัง แต่ก็มีหลายครั้งที่ผู้ดำรงตำแหน่งใช้อำนาจและแสดงบทบาทได้ดีกว่าจนเกิดความขัดแย้ง ทุกปีสมาชิกของกลุ่มอภิชนบ้างก็ถูกถอดออกจากตำแหน่ง บ้างก็ถูกจำคุก บ้างก็ถึงจุดจบในเชิงตะกอน หรือถูกฝังอยู่ใต้ปฐพี ด้วยเหตุนี้ผมจึงพยายามระบุชื่อบุคคลในชนชั้นอภิชนให้น้อยที่สุด แต่พยายามกล่าวถึงตัวแบบ ตัวอย่างที่เป็นแบบแผนในภาพรวมมากกว่า ผมได้อธิบายอย่างชัดเจนว่าผมกำลังพยายามวาดภาพของสิ่งที่มีพลวัต
บางคนก็บอกว่า การใช้คำว่า อภิชน หรือชนชั้น มีความเสี่ยงในการจุดประเด็นการต่อสู้ทางชนชั้นในแง่มุมวิชาการทฤษฎีมาร์กซิสม์ แต่ต้องเข้าใจว่าในยุคนี้การ ก้าวข้ามกำแพงชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจสามารถทำได้ง่ายมากมายและหลากหลายมากกว่าในอดีต ถึงแม้กรอบคิดในแง่ชนชั้นจะยังดำรงอยู่ ในส่วนนี้ผมจะแสดงให้เห็นต่อไป ถึงอย่างไรผมก็พยายามอธิบายภาวะการกระจายอำนาจ และความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมบนโลกใบนี้ จุดยืนของผมคือความพยายามที่จะบ่งชี้ว่า ยังมีหลายเรื่องที่เราละเลยและมองข้ามไปในโลกที่เป็นจริง ท่ามกลางความเสื่อมถอยของการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และเหนือสิ่ง อื่นใดคือ จริยธรรม
ความเป็นจริงของโลกทุกวันนี้ ความมั่งคั่งร่ำรวยของประชากรหลักพันคน สูงเป็นสองเท่าของรายได้ประชากรโลกที่ยากจนที่สุดจำนวน 2,500 ล้านคน แม้ว่ามนุษยชาติจะมีความก้าวหน้า หลากหลายด้านจนถึงยุคปัจจุบัน แต่ความไม่เท่าเทียมกันทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ และผมเชื่อว่าจะเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุด น่าหวั่นเกรงมากที่สุดสำหรับมนุษยชาติ
หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือส่งเสริม ความเห็นดีเห็นชอบ หรือให้ดำเนินตามรสนิยมของกลุ่มบุคคลที่มั่งคั่งและทรงอำนาจของโลก ขอบอกว่าผมรังเกียจพฤติกรรมบางอย่างอันน่าขยะแขยงของกลุ่มบุคคลที่บริจาครายได้ร้อยละ 1 ของทรัพย์สินที่หามาได้ให้กับสังคม (ห่างชั้นจากท่านแอนดรูว์ คาร์เนกี้ ที่บริจาคเพื่อการกุศลถึงร้อยละ 80 ของรายได้ที่หาได้มาชั่วชีวิต)
พวกเราได้แต่ถูกคุกคาม ฉกฉวยประโยชน์จากกลุ่มคนที่กุมอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหารโดยไม่รู้ตัว หรือรู้ตัวด้วยความหวาดหวั่นโดยที่ไม่สามารถต่อกรได้
หน้า 41
________________________________________

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *