องค์กรการเรียนรู้ – 1

องค์กรการเรียนรู้ – 1

ความเป็นมา
องค์กรเรียนรู้ (Learning Organization) เป็นการบริหารรูปแบบหนึ่งที่ใช้เป็นพื้นฐานในการ ก้าวไปสู่ความสำเร็จขององค์กรได้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจเอกชน โดยสามารถจะประยุกต์ใช้ร่วมกับระบบการบริหารรูปแบบอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นการพัฒนาองค์กรให้เพียบพร้อมไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ (Creative Organization) รวมถึงให้บรรลุผลสำเร็จในระบบการบริหารเชิง คุณภาพรวม (Total Quality Management) ตลอดทั่วทั้งองค์กร

การพัฒนาองค์กรเรียนรู้นี้เป็นการเน้นความสำคัญไปที่ความเป็นผู้นำ (Leadership) ความคิดความเข้าใจในเชิงระบบ (Systems Thinking) และการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกันในทีมงาน โดยผู้ที่ทำงานวิจัยค้นหาแนวคิดในการบริหารองค์กรเรียนรู้นี้ก็คือ ดร.ปีเตอร์ เอ็ม. เซ็งกี้ (Dr. Peter M. Senge) ศาสตราจารย์แห่ง MIT Sloan School of Management

ดร.ปีเตอร์ เอ็ม. เซ็งกี้ ได้เขียนหนังสือ The Fifth Discipline – The Art & Practice of The Learning Organization ขึ้นในปี ค.ศ. 1990 และยังได้เขียนเล่มที่สองออกมาอีก ภายใต้ชื่อ The Fifth Discipline – Strategies and Tools for Building a Learning Organization ในปี ค.ศ. 1994

ความหมาย

ขององค์กรเรียนรู้

องค์กรเรียนรู้ ( Learning Organization ) คืออะไร

องค์กรเรียนรู้ เป็นองค์กรที่มีการมุ่งเน้นในการกระตุ้น เร่งเร้า และจูงใจ ให้สมาชิกทุกคนมีความกระตือรือร้น ที่จะเรียนรู้ และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อขยายศักยภาพของตนเองและขององค์กรในการที่จะลงมือปฏิบัติภารกิจนานัปการให้สำเร็จลุล่วง โดยอาศัยรูปแบบของ การทำงานเป็นทีม และการเรียนรู้ร่วมกัน ตลอดจนมีความคิดความเข้าใจเชิงระบบ ที่จะประสานกัน เพื่อให้เกิดเป็นความได้เปรียบที่ยั่งยืนต่อการแข่งขัน ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ตลอดไป

องค์กรเรียนรู้ (Learning Organization) จะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ และจำเป็นต่อการบริหารองค์กรยุคใหม่ ซึ่งจะเป็นยุคที่เน้นการพัฒนา ไปที่ทรัพยากรบุคคลกันอย่างสูงสุด ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยจะมีการสร้างสมฐานความรู้ (Knowledge Based) และสินทรัพย์อัจฉริยภาพ (Intellectual Capitals) เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริการในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

ทรัพยากรบุคคลในยุคต่อจากนี้ไป จึงต้องมีความสามารถมีความเชี่ยวชาญ (Competence) และเป็นมืออาชีพ (Professional) อย่างแท้จริง โดยมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง เพิ่มพูนความรู้ (Knowledge) และทักษะ (Skills) อย่างต่อเนื่อง ด้วยกระบวนการของการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) และในโลกอาชีพของคนรุ่นใหม่นี้ ก็จะไม่มีที่ว่างสำหรับ “มืออาชีพจอมปลอม” อีกต่อไป

โดยแนวปฏิบัติที่สำคัญ เพื่อให้ปัจเจกบุคคลและองค์กรทั้งหลายประสบความสำเร็จ ปราศจากอุปสรรคจากการเรียนรู้นี้ ก็คือ การยึดมั่นปฏิบัติตามวินัยทั้ง 5 ประการ เพื่อสร้างพื้นฐาน สู่การเป็นองค์กรเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

วินัย 5 ประการ ( Five Disciplines )
พื้นฐานสู่การเป็นองค์กรเรียนรู้

การได้มา ซึ่งประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness) ของงานอย่างต่อเนื่องนั้น จะเป็นผลลัพธ์อันสำคัญที่ได้มาจากองค์กรเรียนรู้ (Learning Organization) ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งในการบริหารงานให้เกิดเป็นองค์กรที่เป็นเลิศ มีความเก่ง และสมบูรณ์แข็งแรง ที่จะฝ่าวิกฤติเผชิญภาวการณ์แข่งขัน และมีความได้เปรียบที่ยั่งยืนตลอดไป

แนวคิดในการพัฒนาองค์กรเรียนรู้นี้จะครอบคลุมตั้งแต่ตัวปัจเจกบุคคลไปจนถึงตัวองค์กร ที่จะต้องมีเป้าหมายและมีระบบงาน ในการพัฒนาตัวผู้นำและสมาชิกทุกคนในองค์กร โดยการส่งเสริม และยกระดับการเรียนรู้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้พื้นฐาน วินัย 5 ประการ ที่ทุกคนจะต้องถือปฏิบัติ คือ

1. มุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Personal Mastery)
2. รูปแบบวิธีการคิด และมุมมองที่เปิดกว้าง (Mental Models)
3. การสร้างและสานวิสัยทัศน์ (Shared Vision)
4. การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning)
5. ความคิดความเข้าใจเชิงระบบ (Systems Thinking)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *