หอบหืด รักษาไม่หายแต่ควบคุมได้
หอบหืด รักษาไม่หายแต่ควบคุมได้
• คุณภาพชีวิต
เพียงหลีกเลี่ยงจากสิ่งแปลกปลอม และหมั่นดูแลสุขภาพ
โรคหอบหืด คือโรคของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเกิดจากความไวผิดปรกติของหลอดลมต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้ท่อทางเดินหายใจเกิดการตีบแคบ และทำให้หายใจลำบาก
สาเหตุของโรคมีได้หลายสาเหตุ
1.กรรมพันธุ์ ไม่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์โดยตรงเสมอไป แต่พบว่าถ้าผู้ป่วยมีประวัติภูมิแพ้ใน ครอบครัว โอกาสที่ผู้ป่วยจะเป็นโรคก็มีมากขึ้น
2.สิ่งกระตุ้นต่างๆ อาจจะโดยการหายใจเข้าไป อาหารหรือยาที่รับประทานเข้าไป ควันพิษจาก สิ่งแวดล้อม เช่น ฝุ่น ตัวไรในฝุ่น เกสรดอกไม้ หญ้า เชื้อราในอากาศ ขนและรังแคสัตว์ เช่น สุนัข แมว อาหาร เช่น ไข่ นม อาหารทะเล ควันบุหรี่ น้ำมันรถ สารเคมี มลพิษในอากาศ
3.การออกกำลังกายมากๆ
4.การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
5.การติดเชื้อทางระบบหายใจ โดยเฉพาะเชื้อไวรัส
6.การเปลี่ยนแปลงของอากาศ
อาการ
เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นหลอดลมจะเกิดอาการอักเสบ เยื่อบุหลอดลมบวม ทำให้หลอดลมตีบแคบลง ขณะเดียวกันการอักเสบทำให้หลอดลมมีความไวต่อการกระตุ้น และตอบสนองโดยการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อหลอดลม ทำให้หลอดลมตีบแคบลงไปอีก นอกจากนี้หลอดลมที่อักเสบจะมีการหลั่งเมือกออกมามาก ทำให้ท่อทางเดินหายใจตีบแคบ นอกจากนี้กล้ามเนื้อท่อทางเดินหายใจยังเกิดการหดตัว ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดอาการหายใจลำบาก ไอ หายใจมีเสียงวี้ด หายใจถี่ และรู้สึกแน่นหน้าอก ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบริมฝีปากและเล็บมีสีเขียวคล้ำ
การรักษาโรคหอบหืดมี 4 ขั้นตอน คือ
1.การดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงหรือกำจัดสิ่งที่แพ้หรือกระตุ้นให้เกิดอาการ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการรักษาและป้องกันที่สาเหตุ โดยพยายามดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่น แจ่มใส พยายามอยู่ห่างจากผู้ที่ไม่สบาย เมื่อมีการติดเชื้อ เช่น หวัด ไซนัสอักเสบ คอหรือต่อมทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ควรรีบไปหาแพทย์เพื่อให้การรักษาเสียแต่เนิ่นๆ
ควรดูแลสุขภาพของฟันและช่องปากให้ดี พยายามหลีกเลี่ยงอย่าให้สัมผัสกับสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการ โดยใช้วิธีสังเกตว่าสัมผัสกับอะไร อยู่ในสิ่งแวดล้อมใด หรือรับประทานอะไรแล้วมีอาการ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น นอกจากนั้นควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้หรือสารกระตุ้นให้เกิดอาการที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อย
2.การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยารับประทาน ยาสูด หรือพ่นคอ เพื่อปรับความไวหรือขยายหลอดลม ซึ่งมีความจำเป็นในระยะแรก แต่ยาเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุ เมื่อสามารถดูแลตนเองและควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ความจำเป็นในการใช้ยาจะน้อยลงเรื่อยๆ ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และไม่ควรซื้อยามาใช้เอง ยาบางชนิดที่แพทย์สั่งให้อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนชนิดหรือขนาดของยา แล้วแต่การตอบสนองต่อการรักษา จึงควรมาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ
3.การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (allergen immunotherapy) เป็นการรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหอบเข้าไปในร่างกายทีละน้อยแล้วค่อยๆเพิ่มจำนวน เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีโรคภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย เช่น มีโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ วิธีนี้ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดีอาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี
ที่มา
ข้อมูลจาก: โลกวันนี้