หวั่นน้ำอัดลมไดเอ็ต ‘ร้าย’ พอกัน! พบเชื่อมโยงความเสี่ยงโรคหัวใจ

หวั่นน้ำอัดลมไดเอ็ต ‘ร้าย’ พอกัน! พบเชื่อมโยงความเสี่ยงโรคหัวใจ

แม้ยังไม่อาจชี้ขาด แต่ผลวิจัยล่าสุดพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างน้ำอัดลมไดเอ็ตกับความเสี่ยงโรคหัวใจ

เอเจนซี – นักวิจัยอเมริกันเตือนน้ำอัดลมปลอดน้ำตาล อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและเบาหวานที่เพิ่มขึ้น หลังพบผู้ใหญ่ที่ดื่มน้ำอัดลมทั้งแบบปกติและไดเอ็ต มีความเสี่ยงต่อกลุ่มอาการเมตาบอลิกเพิ่มขึ้นถึง 50%

กลุ่มอาการเมตาบอลิกคือ กลุ่มอาการที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง และเบาหวานเพิ่มขึ้น เช่น การมีไขมันรอบเอวหนาเกินไป ความดันโลหิตสูง มีน้ำตาลและไขมันในเลือด (ไตรกลีเซอไรด์) สูง

การศึกษาก่อนหน้านี้เชื่อมโยงการดื่มน้ำอัดลมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลกับปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคหัวใจ แต่การศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่อยู่ในวารสารเซอร์กูเลชันฉบับออนไลน์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23) ดร.รามจันทราน วสัน จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยบอสตัน พบความเชื่อมโยงของปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวในน้ำอัดลมประเภทไดเอ็ตเช่นเดียวกัน

การศึกษาของดร.วสัน ครอบคลุมหญิง-ชายวัยกลางคน 9,000 คนในเมืองฟลามิงแฮม รัฐแมสซาชูเซตส์ โดยมีการติดตามผลนาน 4 ปี ซึ่งพบว่าในช่วงต้นของการศึกษา กลุ่มที่ดื่มน้ำอัดลมวันละอย่างน้อย 1 กระป๋อง มีความเสี่ยงของกลุ่มอาการเมตาบอลิกเพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบกับคนที่ดื่มน้ำอัดลมน้อยกว่า 1 กระป๋องต่อวัน

นอกจากนั้น คนที่ดื่มน้ำอัดลมวันละ 1 กระป๋องขึ้นไปยังมีความเสี่ยงโรคอ้วนเพิ่มขึ้น 31% ความเสี่ยงเส้นรอบเอวขยาย (ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ความเสี่ยงโรคหัวใจดีกว่าน้ำหนักตัวเพียงอย่างเดียว) เพิ่มขึ้น 30% ความเสี่ยงที่จะมีคอเลสเตอรอลไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงเพิ่มขึ้น 25% และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 32%ที่จะมีไลโปโปรตีน ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอล “ดี” เจือจางในเลือด

สำหรับในกลุ่มที่ไม่ปรากฏสัญญาณของกลุ่มอาการเมตาบอลิกในระยะแรกนั้น พบว่าคนที่ดื่มน้ำอัดลมมากกว่าวันละกระป๋องมีความเสี่ยงของกลุ่มอาการดังกล่าวเพิ่มขึ้น 44% ใน 4 ปีต่อมา

นักวิจัยคาดว่า จะพบความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ดื่มน้ำอัดลมปกติกับกลุ่มที่ดื่มน้ำอัดลมปลอดน้ำตาล แต่เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกลับไม่พบความแตกต่างแต่อย่างใด

กระนั้น แบร์รี่ ป๊อปกิน จากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา กล่าวว่าผลวิจัยชิ้นนี้ไม่มีอะไรแปลกใหม่ เนื่องจากผู้ดื่มน้ำอัดลมไดเอ็ตมักเป็นพวกที่มีไลฟ์สไตล์ที่ไม่ถนอมสุขภาพ และรู้ตัวว่าต้องลดน้ำหนักลง หรือไม่ก็เป็นคนผอมที่อยากรักษาหุ่น หมายความว่าพวกที่ดื่มน้ำอัดลมไดเอ็ตเป็นพวกที่มีพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากขึ้น

ป๊อปกินสำทับว่า ในการศึกษาหลายครั้งที่กลุ่มตัวอย่างบางคนถูกสุ่มเลือกให้ดื่มน้ำอัดลมไดเอ็ต ขณะที่คนอื่นๆ ดื่มน้ำอัดลมปกติ พบว่ากลุ่มแรกลดน้ำหนักได้มากกว่ากลุ่มหลัง

ด้านดร.วสันยอมรับว่า พฤติกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ดื่มน้ำอัดลมไดเอ็ตมีปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจไม่ต่างจากผู้ดื่มน้ำอัดลมปกติ

อีกหนึ่งเหตุผลที่เป็นไปได้คือ ทฤษฎีที่เรียกว่า “การชดเชยทางโภชนาการ” กล่าวคือ ถ้าดื่มน้ำมากระหว่างกินอาหาร อาจทำให้รู้สึกไม่อิ่มและมีแนวโน้มกินอาหารจุขึ้นในมื้อต่อไป

ดร.วสันยังหยิบยกทฤษฎีอื่นๆ มาอธิบายเรื่องนี้ เช่น คนที่ดื่มน้ำอัดลมไม่ว่าแบบปกติหรือไดเอ็ต มีแนวโน้มที่จะชอบกินอาหารหวาน อาหารอุดมไขมันทั้งแบบอิ่มตัว และไขมันทรานส์ ซึ่งเป็นไขมันอันตราย แต่ไม่ชอบกินอาหารที่มีเส้นใยอาหาร ออกกำลังกายน้อย ขณะที่งานวิจัยก่อนหน้านี้ระบุว่า สารที่ทำให้น้ำอัดลมมีสีคาราเมล ทำให้หนูทดลองมีอาการเนื้อเยื่ออักเสบ

ดร.วสันทิ้งท้ายว่า แม้ผลวิจัยบ่งชี้ความเชื่อมโยงระหว่างน้ำอัดลมกับความเสี่ยงของกลุ่มอาการเมตาบอลิก แต่ไม่ได้เป็นการยืนยันว่าเครื่องดื่มประเภทนี้เป็นต้นเหตุของเรื่องดังกล่าว ทว่าควรมีการศึกษาเรื่องนี้อย่างเจาะลึกยิ่งขึ้น

และขณะที่ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนกว่านี้ คำแนะนำเดียวที่จะให้ได้สำหรับคอน้ำอัดลมไดเอ็ตคือ ควรดื่มแต่พอประมาณและคอยติดตามผลการวิจัยเพิ่มเติมในอนาคต

อย่างไรก็ตามสมาคมหัวใจแห่งอเมริกาออกมาสนับสนุนการควบคุมทางโภชนาการ ซึ่งรวมถึงเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ โดยระบุว่าน้ำอัดลมไดเอ็ตเป็นทางเลือกที่ดีแทนที่เครื่องดื่มที่อุดมด้วยแคลอรี่แต่ปราศจากวิตามินและแร่ธาตุสำคัญ และย้ำว่าควรมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างน้ำอัดลมไดเอ็ตกับปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจ ก่อนเสนอแนะต่อสังคม

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *