หลักในการคิด 7 ประการของดาวินชี (2)
หลักในการคิด 7 ประการของดาวินชี (2)
หลักข้อที่สองคือ Dimostrazione หรือการนำความรู้ที่มีอยู่ไปลองใช้จริง เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ และความผิดพลาด ที่เกิดขึ้น เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่า ประสบการณ์เป็นบ่อเกิดที่สำคัญต่อปัญญา และความฉลาดของคน ดาวินชีเองเป็นผู้ที่ให้ความ สำคัญกับ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ เป็นอย่างมาก เขาเองจะเป็นเหมือนพวกหัวแข็งในสมัยนั้น ที่ไม่ค่อยจะยอมรับต่อ หลักการหรือ ทฤษฎีที่เป็นที่ยอมรับกันในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เขาไม่ได้มีโอกาสประสบด้วยตนเอง ดาวินชียอมรับว่า การที่จะเรียนรู้จาก ประสบการณ์นั้น มักจะหนีไม่พ้นการเรียนรู้จากความผิดพลาด ดาวินชีเองก็ผิดพลาดในหลายๆ ครั้ง หลายๆ โอกาส แต่เขาเองก็ไม่เคย หยุดที่จะเรียนรู้ เสาะแสวงหาสิ่งใหม่ และทดลองในสิ่งต่างๆ
หลักข้อที่สามคือ Sensazione หรือการปรับปรุงและพัฒนาประสาทสัมผัสทั้งห้าอย่างต่อเนื่อง ดาวินชีเป็นผู้หนึ่งที่ให้ความสำคัญต่อประสาทสัมผัสทั้งห้า (การมองเห็น ได้ยิน สัมผัส รสชาติ และกลิ่น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมองเห็น (ผ่านทางการวาดภาพ) ตามมาด้วยการได้ยิน (ดนตรี) นอกจากนี้ดาวินชี ก็ยังให้ความสำคัญต่อประสาทสัมผัสด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการสวมเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าที่ดีที่สุด ในห้องทำงานของดาวินชีจะอบอวลด้วยกลิ่นดอกไม้ และน้ำหอมตลอดเวลา ส่วนในด้านอาหารนั้นดาวินชีเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อการออกแบบ และรสชาติของอาหาร เราอาจจะไม่ทราบว่า ดาวินชีเป็นคนแรกๆ ที่สร้างสรรค์แนวคิดของการนำเสนออาหาร ที่คำไม่ใหญ่ แต่อุดมด้วยสุขภาพสำหรับงานเลี้ยงต่างๆ (ผู้อ่านนึกถึงพวกอาหารจิ้มๆ หรือ เวลาไปงานเลี้ยงแต่งงานดูก็ได้) Leonardo da Vinci, “Irrigation systems” of the female body: respiratory, vascular and urino-genital ดาวินชีระบุไว้เลยครับว่า คนเราส่วนใหญ่แล้ว มองโดยไม่เห็น ฟังโดยไม่ได้ยิน สัมผัสโดยไม่รู้สึก กินโดยไม่รู้รสชาติ หายใจเข้าโดยไม่ตระหนักถึง กลิ่นหอม และที่สำคัญที่สุดครับ คือ พูดโดยไม่คิด (ขอนำมาภาษาอังกฤษมาลงนะครับ ผมว่ากินใจดี – looks without seeing, listens without hearing, touches without feeling, eats without tasting, inhales without awareness of odour or fragrance and talks without thinking) ดาวินชีให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมต่อประสาทสัมผัสของเรา และดาวินชีเองก็ยอมรับว่า สิ่งที่ประสาทสัมผัสเราได้รับรู้นั้นเปรียบเสมือนกับเป็น อาหารให้กับสมองด้วย หลักการข้อนี้ของดาวินชีสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารได้เช่นกัน ปัจจุบันเราเรียกร้องให้พนักงาน มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น พัฒนานวัตกรรมมากขึ้น รวมทั้งการบอกให้พนักงานต้องช่วยกันคิดนอกกรอบ แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่ได้สร้างสภาพแวดล้อม ในการทำงานให้เหมาะสมต่อความคิดสร้างสรรค์และการคิดนอกกรอบ ในอดีตเป็นที่ยอมรับว่า ในตอนที่เราเป็นเด็กนั้นถ้าเราได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสมจากสภาวะแวดล้อม ก็จะส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง แต่ในปัจจุบันมีการค้นพบอีกแล้วครับว่า การกระตุ้นจากสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ก็มีผลต่อการกระตุ้นพัฒนาการของสมองผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน ผู้อ่านลองมองไปที่พวกอโรมา (การบำบัดด้วยกลิ่น) ที่เป็นที่นิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างใกล้ตัวก็ได้นะครับ Leonardo da Vinci, Studies of light, the human eye and a hammering man