หนูดี ..ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองจากฮาร์วาร์ด

หนูดี ..ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองจากฮาร์วาร์ด
________________________________________

คืนนี้หลังจากหันซ้ายหันขวา (หันจนรอบทิศ) ไม่รู้จะทำอะไรดี ด้วยความเคยชินที่ต้องมี “รีโมททีวี” อยู่ในมือ ก็กดไปเรื่อย ๆ ด้วยว่าไม่ติดยึดกับรายการใดรายการหนึ่ง บังเอิญไปกดเจอรายการ “จับเข่าคุย” โดยมีคุณสรยุทธ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งแขกรับเชิญเป็นหญิงสาวหน้าตาจิ้มลิ้ม (สวยมั่กมากกกกก) ต้องขอโทษที่จำชื่อเธอไม่ได้ แต่เธอเรียกชื่อแทนตัวเองว่า “หนูดี” ที่สะดุดตาไม่ใช่เพราะความสวยของเธอหรอกนะ แต่สะดุดตากับข้อความที่ขึ้นบนหน้าจอแนะนำตัวเธอว่า “ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองจากฮาร์วาร์ด”

เนื้อหาที่พูดคุยในรายการเกี่ยวกับ “อัจฉริยภาพส่วนบุคคล” ในตัวคนเราทุกคนล้วนมีความเป็นอัจฉริยะกันทั้งนั้น เพียงแต่เราไม่รู้และไม่ได้ดึงมันออกมา บางคนมองข้ามความสามารถของตัวเองคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคนเราคิดกันไปว่าเรื่องของ “อัจฉริยะ” มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เราไปนึกถึง ไอสไตน์ โมสาร์ท และใครต่อใครอีกหลาย ๆ คนที่โลกยกย่องให้เป็นอัจฉริยะในด้านต่าง ๆ “หนูดี” บอกว่าเราคิดกันผิด จริง ๆ แล้วเรื่องของ “อัจฉริยะภาพ” เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก

สมองของมนุษย์จะแบ่งออกเป็น “สมองซีกซ้าย” ควบคุมร่างกายซีกขวา ทำหน้าที่คิดในเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล เรื่องการประมวลผลทางภาษา ความเป็นระเบียบ-เป็นขั้นเป็นตอน เรียกว่าเป็นสมองวิชาการ สมองตรรกะ เป็นสมองของความรู้

“สมองซีกขวา” ควบคุมร่างกายซีกซ้าย ทำหน้าที่เรื่องความคิดริเริ่ม เรื่องภาพองค์รวม เรื่องไม่แน่นอน-ไม่มีระเบียบแบบแผน เรื่องการเข้าใจความอภิรมย์ในธรรมชาติและชีวิต เรื่องสัญชาตญาณ เป็นสมองศิลปะ แหล่งกำเนิดแห่งความคิดริเริ่ม เป็นสมองของอารมณ์และแรงกระตุ้น

ระหว่างสมองทั้งสองซีกจะมีเส้นประสาทเชื่อมประสานถ่ายทอดควบคุมการทำงานของสมองทั้งสองฝั่งให้ทำงานร่วมกัน

ในคนปกติ แม้สมองทั้งสองด้านจะทำงานร่วมกันโดยมีสะพานเชื่อมตรงกลาง แต่ก็จะพบว่าคนแต่ละคนมีแนวโน้มที่จะประมวลผลด้วยสมองด้านหนึ่งมากกว่าอีกด้านหนึ่ง (ไม่เกี่ยวกับถนัดขวาหรือถนัดซ้าย แต่เป็นถนัดที่จะส่งข้อมูลไปประมวลผลด้วยสมองซีกไหน) เรื่องนี้ทำให้คนแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน แง่คิด-มุมมอง-ทัศนคติแตกต่างกัน

คนเราใช้สมองทั้งสองด้าน จึงทำให้คนมีหลายด้าน มีมุมมองต่อเรื่องหนึ่งหลายมุมมอง ด้วยระบบการศึกษาในปัจจุบัน ด้วยอิทธิพลความคิดรวบยอดของปรัชญาตะวันตก ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ด้วยความมั่งคั่งอันเกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และด้วยค่านิยมของสังคมที่ให้คุณค่ากับความเป็นเหตุเป็นผล คนทั่วไปจึงมีแนวโน้มที่จะชื่นชมต่อการใช้สมองซีกซ้ายมากขึ้น จนบางทีก็มองพวกที่ถนัดในการใช้สมองซีกขวาว่าแปลกแยก เป็นศิลปิน เป็นพวกบ้า เข้าใจยาก ไม่อยู่ในระเบียบ พูดไม่รู้เรื่อง (ตรงนี้ “หนูดี” ไม่ได้พูด)

“หนูดี” อธิบายว่า ถ้าคนเราใช้สมองได้ทั้งสองด้านก็ถือว่าคนนั้นเป็น “อัจฉริยะ” ซึ่งเป็น “อัจฉริยภาพส่วนบุคคล”

มนุษย์เราจะมีอัจฉริยภาพในตัว 8 ด้าน ซึ่งจะปรากฏขึ้นมาไม่พร้อมกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขเวลา อายุ สภาพแวดล้อมขณะนั้น ๆ ช่วงวัยเด็กเราอาจมีอัจฉริยภาพในด้านการเรียน การแสดง การกีฬา หรือดนตรี แต่พอโตขึ้นมาก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง

คนบางคนคิดเรื่องดี ๆ โปรเจคดี ๆ ได้แต่ทำไม่สำเร็จ นั่นก็เพราะคน ๆ นั้น ใช้สมองเพียงด้านเดียว คนบางคนคิดสร้างสรรค์อะไรไม่เป็นแต่สามารถสร้างผลงานตามคำสั่งได้ นั่นก็เพราะคน ๆ นั้น ใช้สมองเพียงด้านเดียวอีกเหมือนกัน หลาย ๆ คนคิดและสามารถทำในสิ่งที่คิดให้สำเร็จได้ นั่นเป็นเพราะคน ๆ นั้น ใช้สมองทั้งสองด้านทำงานร่วมกัน

ถ้ามาวิเคราะห์ตามหลักทฤษฏีที่ “หนูดี” อ้างถึง (ต้องไปหาหนังสือ “อัจฉริยะสร้างได้” มาอ่านซะแล้ว) …เราก็จัดว่าเป็น “อัจฉริยะ” ได้เหมือนกันนี่หว่า…อิอิ เป็น “อัจฉริยะในแบบฉบับของตัวเอง” จริง ๆ นะ เคยคิดอยากจะทำเว็บไซท์เพื่อประโยชน์ในการทำงาน เพื่อผ่อนคลาย เพื่อ ๆ ๆ ๆ ฯลฯ แล้วก็สามารถทำในสิ่งที่คิดไว้ได้สำเร็จ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่ผลงานชิ้นโบว์แดงที่ชาวโลกรับรู้ แต่มันก็เป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์แล้วถูกผลักดันให้เกิดเป็นผลสำเร็จขึ้นมา (แสดงว่าสมองตูทำงานสัมพันธ์กันทั้งสองส่วน แฮ่ ๆ) ซึ่งตอนนี้สร้างสรรค์ผลงานไว้หลายที่หลายทาง ไม่รู้เหมือนกันว่า “อัจฉริยภาพส่วนบุคคล” ของตูจะแปรเปลี่ยนเป็น “สติแตก” เมื่อไร

ย้อนกลับมาเรื่อง “กล่องของความสุข” ดีกว่า…เกริ่นมาซะยาว เรื่องของเรื่องก็คือในตอนหนึ่งของบทสนทนาในรายการ “หนูดี” ได้พูดถึง “โมเดลของความสุขมนุษย์” เธอบอกว่าให้นึกถึง “กล่อง” แล้วให้เราเลือกสิ่งของที่เราคิดว่าเป็น “ความสุข” ใส่ลงไปในกล่อง บางคนอาจจะหยิบบ้าน, รถ, เงินฝากในบัญชี, กิจการใหญ่โต ฯลฯ ใส่ลงไปในกล่อง ซึ่งบางครั้งหยิบใส่เข้าไปตั้งหลายอย่างแต่ก็ยังไม่เต็มกล่อง “หนูดี” บอกว่า จริง ๆ แล้วเราสามารถทำกล่องให้มันเต็มได้ “ถ้าเราลดขนาดของกล่องลง” โอ้โห…ฟังแล้ว ใช่เลย…!!!

คนเราไม่ได้ต้องการอะไรมากมาย (เมื่อถึงบั้นปลายชีวิต) เราไม่ต้องไปนั่งคิดถึงบ้านหลังโต ๆ รถคันโก้ เงินฝากหลายสิบล้าน ไม่ต้องนึกถึงตำแหน่งใหญ่โต ให้อยู่กับปัจจุบัน ให้อยู่กับความเป็นจริง และทำชีวิตประจำวันทุกวันให้มีความสุขเท่านี้ก็เพียงพอแล้วล่ะ…จริงมั๊ย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *