สูบบุหรี่ เครียด เสี่ยงเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
สูบบุหรี่ เครียด เสี่ยงเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
คุณภาพชีวิต เรื่องเด่น
แนะ..กินอาหารตรงเวลา เคี้ยวให้ละเอียด และงดยาแก้ปวด
โรคของกระเพาะอาหารโดยตรงที่พบบ่อยคือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งพบบ่อยในคนวัยทำงาน และพบในชายมากกว่าหญิง อาการสำคัญคือ มีอาการปวดท้องบริเวณล้นปี่ มักจะสัมพันธ์กับการกินอาหาร
อาการจะดีขึ้น หรือหายไป เมื่อรับประทานอาหาร ยาลดกรด หรือนม อาการมักเป็นๆ หายๆ อาจจะเป็นช่วงแรก ไม่นานแล้วก็หายไป แล้วเป็นใหม่ กลายเป็นแผลเรื้อรังได้ ซึ่งบางครั้งอาจมีผลแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหาร หรือแผลนั้นทะลุเกิดการอักเสบในช่องท้องต้องผ่าตัดฉุกเฉินก็ได้
สาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร
1.การหลั่งกรดผิดปกติในกระเพาะอาหาร
2.กรรมพันธุ์ พบว่าเกิดกับคนในครอบครัวเดียวกันได้บ่อยๆ
3.บุหรี่ ทำให้มีการผลิตกรนในกระเพาะอาหารมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้แผลหายช้า
4.ยา บางอย่างมีผลทั้งระคายเคืองกระเพาะอาหารโดยตรง และให้กลไกการป้องกันในกระเพาะอาหารเสียไป ได้แก่ ยาแอสไพริน กลุ่มยา NSAIDs ที่ใช้รักษาโรคข้อแก้ปวด ยาในกลุ่มสเตรียรอยด์ ฯลฯ
5.ความเครียด ความกังวล ทำให้มีการหลั่งกรดมากขึ้น
6.การติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Helicobacterpylori
การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร
คนวันทำงานมักตรากตรำทำงานหนัก กินอาหารไม่เป็นเวลา พักผ่อนน้อย มีความเครียดจากงาน และใช้ยาแก้ปวดเมื่อยบ่อย เมื่อแพทย์ซักประวัติ อาการ ควาเสี่ยง และตรวจร่างกาย เข้าได้กับโรคแผลในกระเพาะอาหาร และไม่ใช่โรคอื่นๆ ที่อาการคล้ายกันดังกล่าวข้างต้น ก็จะให้การรักษาไปเลย
การรักษา ต้องมี 2 อย่างประกอบกันเสมอ คือ การรักษาด้วยยา และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องของผู้ป่วย และการรักษาด้วยยา แพทย์มักจะให้ยากลุ่มลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร หรือยาที่เคลือบผิวหนังกระเพาะอาหารไว้ เช่น ยา Cimetidine Ranitidine Omeprazole Sucralfate ซึ่งยังมีอีกหลายชนิด หลายกลุ่ม ส่วนใหญ่แพทย์มักไม่ให้ยาน้ำ อย่าง Alum milk อาจเป็นเพราะผู้ป่วยมักหามากินเอง ก่อนมาหาแพทย์ และการใช้ Alum milk อย่างเดียวเพื่อรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารต้องกินบ่อยครั้งในปริมาณมาก จนอาจมีผลข้างเคียงของยาได้ บางครั้งแพทย์อาจให้ Alum milk มาใช้บรรเทาอาหาร ร่วมกับยาอื่นก็ได้ การรักษาด้วยยาอาจใช้เวลา 4-8 สัปดาห์
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย
การปฏิบัติตัวของผู้ป่วย เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้หายเร็วขึ้น ซึ่งก็คือการลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่
1.รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ควรรับประทานอาหาร 3 มื้อ เว้นอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารว่างหลังอาหารมื้อเย็น
2.ระหว่างรับประทานอาหาร เคี้ยวให้ละเอียดไม่รับประทานอาหารเวลาเหนื่อยมากๆ หรือหลังเล่นกีฬา
3.งดสูบบุหรี่เด็ดขาด และควรงดดื่มสุรา หรือดื่มกาแฟขณะท้องว่าง
4.ลดความกังวลความตึงเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
5.ละเว้นการใช้ยาแก้ปวดแก้ยอก เช่น แอสไพริน ยาในกลุ่ม NSAIDs และสเตียรรอยด์ถ้าจะต้องใช้ ควรให้แพทย์ดูแลการใช้ ไม่ควรหามากินเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก