สูตรไม่ลับของการปรับเปลี่ยน

สูตรไม่ลับของการปรับเปลี่ยน
ท่านที่ติดตามข่าวคราวการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คงได้รับฟังนโยบายของเจ้ากระทรวงใหม่บางท่าน ที่ฟันธงเรื่องนโยบายหลายประเด็น ทำให้ปลงได้ว่า ความไม่แน่นอนคือความแน่นอนหนอ…

ผู้ว่าซีอีโอที่เป็นเรื่องตกยุคเมื่อช่วงปีเศษของรัฐบาลที่เพิ่งจากไป จะ come back ใหม่ในสมัยนี้ นโยบายเรื่องสิทธิบัตรยาที่รัฐบาลเดิมเดินไว้ก็อาจมีการเจรจาใหม่ แนวทางบริหารการเงิน การคลัง ก็ยังไม่รู้ว่าใครจะฟังใคร…

สิ่งเดียวที่แน่นอนคือความไม่แน่นอนอย่างแท้จริง

ท่านผู้อ่านหลายท่านคงนึกเห็นใจผู้ปฏิบัติ ตลอดจนข้าราชการทั้งหลายที่ต้องกลั้นหายใจ ไม่กะพริบตา เพราะการเปลี่ยนแปลงมาอีกแล้ว

มองอีกที…ท่านคงชินแล้ว เพราะได้มีโอกาสลับฝีมือ ฝึกปรือการบริหารและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงบ่อย จนช่ำชอง เป็นผู้เชี่ยวชาญก็ว่าได้

ความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลง ถือเป็นทักษะสำคัญของคนทำงานยุคนี้ ไม่มีไม่ได้ ไม่ว่าจะมาจากมุมของผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือผู้ที่ถูกเปลี่ยนแปลง

สูตรหนึ่งซึ่งผู้นำและหัวหน้างานสามารถนำมาใช้ในการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การเปลี่ยนการปรับได้รับผลสำเร็จตามที่คาดหวัง ทั้งยังลด “แรงต้าน” ที่เป็นของคู่หู กับการ ”เปลี่ยนแปลง” …เธอไปไหนฉันไปด้วยตลอด คือ

V+N+A > R + C

V คือ Vision วิสัยทัศน์ ฝัน หรือสิ่งที่คาดหวังจากการเปลี่ยนแปลง องค์กรและผู้นำมีฝัน มีเส้นชัยอันบรรเจิดที่จะนำพาลูกทีมไปหรือไม่ ฝันนั้นเมื่อฟังแล้ว คนฟังขนลุกขนพองอยากสนองตอบ อยากไปด้วย อยากช่วยให้ไปถึง หรือฝันก็ดูงั้นๆ ไม่โดนใจ ไม่เตะหู

N คือ Need การเปลี่ยนแปลงที่มุ่ง มีความจำเป็นแค่ไหน ไม่ทำต้องตายหรือไม่ หรือทำไปเพราะใครๆ เขาก็ทำ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่กังวล ทำเพราะอยากทำหรือทำเพราะจำเป็น

A คือ Ability หรือความสามารถ คน ตลอดจนองค์กร มีความสามารถในการนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ หรือไม่ ผู้นำตระหนักไหมว่าต้องใช้แนวทาง รูปแบบวิธีการ ทักษะ วัฒนธรรม ตัวช่วย ฯลฯ อะไรบ้างในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิด ฝันยิ่งใหญ่เกินตัวหรือไม่ หรือพอมีเวลาใช่ไหมที่จะกระหน่ำสร้าง เสริม หรือซื้อ Ability ที่ต้องใช้ในการเปลี่ยนแปลง

แม้ฝันเท่ แถมเป็นเรื่องจำเป็น ไม่เปลี่ยนไม่ได้ องค์กรไม่น้อยมาจอดไม่แจวตรงอ่าน A ไม่ขาด

R คือ Risk ความเสี่ยงที่มากับการเปลี่ยนแปลง กว่าจะไปถึงเส้นชัยของฝัน ต้องก้าวผ่านหุบเหว ต้องปีนเขาลงห้วยขนาดไหน มีอุปสรรคยิ่งใหญ่อะไรบ้าง หรือมีแค่ขวากแค่หนาม เป็นแค่หางๆ เด็กๆ ความเสี่ยงที่อาจเกิดน่าจะคุมได้ ไม่ต้องกังวล

C คือ Cost หรือค่าใช้จ่าย ตลอดจนทรัพยากรทั้งหลายที่ต้องมี ต้องใช้ เพื่อให้ได้มาซึ่งการเปลี่ยนแปลง คาดเดาว่าเท่าไร จะได้นำมาเป็นตัวหนึ่งในการคำนวณว่า การปรับการเปลี่ยนที่ต้องการ น่าจะอาจหาญลุยต่อ หรือย่อขนาดลงหน่อยได้เพื่อให้ “คุ้ม”

หากฝั่งซ้ายของสมการ เริ่มจากมุมหรือฝันที่ต้องการจะเปลี่ยน (Vision) เช่น ใครๆ เขาปรับโครงสร้างองค์กรให้ผอม ให้บาง ให้แบนกัน อย่ากระนั้นเลย เราไม่น่าจะอยู่เฉยๆ รื้อองค์กรกันเล่นๆ ดีกว่า (Need ไม่ชัด) ทำไม่เป็น ไม่เคยทำ เดี๋ยวค่อยมาคุยกันว่าจะเดินต่ออย่างไร (ปัจจุบันไม่มี Ability)

หากฝั่งขวาของสมการดูไม่ได้ดีกว่าฝั่งซ้าย เช่น เรื่อง Risk มีความเสี่ยงในการเสียคนเก่งๆ เพราะกระแสต้าน เสียงโวยเริ่มหนาหู หากโครงสร้างองค์กรถูกปรับ ถูกรวบ ถูกตัด “แล้วจะจัดตำแหน่งไหนให้ผม” “จะทำไปทำไมไม่เห็นได้ประโยชน์” “ไม่เป็นไร! หากถูกลดตำแหน่ง หรือไม่มีที่โต คู่แข่งคอยรอให้ผมไปร่วมงานอยู่นานแล้ว”

ทั้ง Cost ก็มีสิทธิบานปลาย เพราะต้องจ้างที่ปรึกษามาช่วยรื้อโครงสร้าง ปรับเนื้องาน ปรับกระบอกเงินเดือน สารพัด

สรุปว่าน้ำหนักฝั่งซ้าย ดูเป็นรองฝั่งขวาอยู่หลายชั้น

เมื่อผู้บริหารเห็นภาพเช่นนี้ ต้องคิดอีกที ต้องคิดดีๆ ว่าที่กะจะเปลี่ยน เป็นเพราะต้องเปลี่ยน หรือแค่นึกอยาก

ทั้งนี้ มิใช่ว่าเมื่อดูสมการแล้วควรถอยจากการเปลี่ยนแปลงเสมอไป โดยเฉพาะถ้ามองใหม่ มองดีๆ อ่านให้ทะลุ อาจเห็นว่าตัว Need ยิ่งใหญ่กว่าที่คิด เช่น เราต้องบริหารงานด้วยความยืดหยุ่นคล่องตัว ต้องตอบสนองตลาดและลูกค้าอย่างด่วนจี๋ ไม่มีเวลารอลายเซ็นอนุมัติ 7 คน ไม่มีที่ให้องค์กรใหญ่ อุ้ยอ้ายที่กว่าจะย้ายย้วย กลายเป็นกล้วยให้คู่แข่งกิน

หากเป็นเช่นนี้ แม้ Risk- ความเสี่ยงที่จะสูญเสียพนักงานมีสูง ก็อาจจำเป็นต้องเดินเรื่องการปรับโครงสร้างองค์กร แต่ต้องมองหาวิธีลดความเสี่ยง เช่น สื่อสารกับทีมงานอย่างชัดเจน โดนใจ ว่าทำไมต้องเปลี่ยน ดูแลคนเก่งคนดีเป็นพิเศษ ให้เขารู้ว่ามีที่อยู่ในองค์กรแน่นอน เป็นต้น

นอกจากนั้นก่อนการลุกขึ้นมาลุยเรื่องการเปลี่ยนแปลง เมื่อเห็นสมการเช่นนี้ อาจคิดคำนวณอีกทีว่าสิ่งที่อยากทำ ความจำเป็นที่มี ตลอดจนความสามารถในการทำ จะเปลี่ยนแปลงไปไหม หาก “เวลา” เปลี่ยนไป

ปัญหาบางอย่าง หากไม่จำเป็น ไม่เร่งด่วน เอาเวลา เอาสมองไปประลองเรื่องอื่น อาจดีกว่า

ปัญหาบางอย่าง แม้เมื่อเกิดจริงๆ ก็ค่อยเปลี่ยนค่อยปรับตามหลังก็ยังทัน เพราะความเสี่ยงไม่สูง ความเสียหายน้อย ค่าใช้จ่ายของการป้องกันสูงกว่าประโยชน์ที่จะได้มาก

การเปลี่ยนแปลงแทบทุกอย่างต้องเล็งหาจังหวะที่พอดี เร็วไปก็ไม่เหมาะ ช้าไปก็ไม่ได้

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการบริหารองค์กรยุคนี้

เรื่อง “คน” ไม่เคยตกยุค

หลายองค์กรเปลี่ยนโดยการลุกขึ้นมาดูแลขวัญกำลังใจของคนในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ทำการสำรวจระดับความพึงพอใจของพนักงาน ซึ่งถือเป็น ”ลูกค้าภายใน” เฉกเช่นที่ทำกับ ”ลูกค้าภายนอก” เพื่อจะได้ปรับปรุงพัฒนา ดูแลแก้ปัญหาเรื่องคนให้ถูกจุด

ผู้บริหารยุคใหม่ใส่ใจเรื่องคน โดยเฉพาะการดูแลคนเก่งคนดี ถือเป็นกลยุทธ์หลักที่ต้องทำ และต้องทำให้ดีให้เด่น เพราะเมื่อดูสมการฝั่งขวา หากไม่มีเขาเหล่านั้น ค่าใช้จ่ายและความเสียหายที่จะเกิด ปัญหาที่จะมีตามมาภายหลัง….อลังการค่ะ

ที่มา : พอใจ พุกกะคุปต์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *