สุดขั้วของความต่าง ระหว่าง ‘คุณธรรม’ กับ ‘คุณควรทำ’

สุดขั้วของความต่าง ระหว่าง “คุณธรรม” กับ “คุณควรทำ”
คงไม่มีใครที่อยากจะอยู่องค์กรที่ผู้นำและผู้บริหารองค์กรที่ “ไม่มีคุณธรรม” ถึงแม้คำว่า “คุณธรรม” ยิ่งนับวันยิ่งจับต้องได้ยากขึ้นก็ตาม และคุณธรรมของผู้บริหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้นำและองค์กรประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน รวมทั้งยังเป็นสิ่งที่ช่วยค้ำในกรณีที่องค์กรประสบกับภาวะวิกฤติ ก็มีแต่คนที่อยากจะช่วยเหลือและให้การสนับสนุนเพราะชื่นชมกับ “คุณธรรมของผู้นำ”
แต่กรุณาอย่าสับสนระหว่าง “คุณธรรม” กับ “คุณควรทำ” ของผู้นำ ผู้บริหารองค์กร
เพราะคำว่า “คุณธรรม” ไม่ใช่หมายถึง การปล่อยวาง การนิ่งเฉย…เมื่อเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง! และคำว่า “คุณธรรม” ไม่ใช่หมายถึง การให้อภัย…กับคนที่ผิดแล้วผิดอีก คิดร้ายกับองค์กร ตลอดเวลา!
รวมทั้ง “คุณธรรม” ยิ่งไม่ใช่หมายถึง การประนีประนอมเพื่อซื้อเวลาไปเรื่อยๆ…และไม่กล้าตัดสินใจ!
บ่อยครั้งที่เราจะเห็นผู้นำหลายๆ องค์กร…ใช้ “ข้ออ้างที่เรียกว่า คุณธรรม เป็นเหตุผลของความอ่อนแอ”!
โลกทุกวันนี้หมุนเร็วกว่าโลกเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา…การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและส่งผลกับความเสียหายไปจนถึงหายนะมีมากกว่าสิบปีที่ผ่านมาหลายเท่า แต่ก็ยังมีผู้นำองค์กรจำนวนไม่น้อย ที่ยังคงใช้วิธีการซื้อเวลาโดยหวังว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายขององค์กร จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องทำอะไร!
สิ่งที่น่าเศร้าใจไปกว่านั้น…ผู้นำหลายๆ องค์กร กลับใช้หลักคุณธรรมกับคนที่ก่อความหายนะกับองค์กร แต่ไม่ได้ใช้คุณธรรมกับคนทั่วๆ ไปในองค์กร! เพราะการปล่อยวาง การนิ่งเฉย การปล่อยผลเสียให้เกิดขึ้นจนกระทั่งลุกลามและเกิดผลร้ายกับคนดีๆ ทั่วๆ ไปในองค์กร ถือว่าเป็นการกระทำที่ปราศจากคุณธรรมที่แท้จริง!
เมื่อคำว่า “คุณธรรม” กลายเป็นธงที่ยึดมั่นถือมั่น จนกระทั่งมากเกินไป ผู้นำหลายๆ องค์กรก็มักจะละเลย หรือลืมในสิ่งที่เรียกว่า “คุณควรทำ” ก็คือ…
1.ในสถานการณ์ที่มีการทุจริตอย่างร้ายแรงในองค์กร และเป็นการทุจริตซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับคนเดิมๆ การนิ่งเฉยของผู้นำไม่ใช่การกระทำที่มีคุณธรรม แต่ปราศจากคุณธรรมเพราะเท่ากับว่าปล่อยให้คนทุจริตเบียดบังประโยชน์ต่างๆ ที่พนักงานทั่วๆ ไปควรจะได้รับ จนกระทั่งหน่วยงานนั้นถูกยุบหรือองค์กรต้องล่มสลาย!
2.ในสถานการณ์ที่ทีมงานไม่ว่าระดับบริหารหรือระดับพนักงาน พยายามปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง ให้เกิดผลเสีย ให้เกิดความชะงัก ไปจนถึงความปั่นป่วนในองค์กร หน้าที่ของผู้นำ ย่อมไม่ใช่หมายถึงการท่องคำว่าคุณธรรมจนกระทั่งความเสียหายร้ายแรงเกินกว่าจะแก้ไข หรือถ้าจะแก้ไขได้ก็ต้องแลกกับความสูญเสียทรัพยากรจำนวนมาก สูญเสียคนดีๆ ที่เบื่อระอา สูญเสียโอกาส สารพัดที่จะสูญเสีย โดยท่องคำว่า คุณธรรม คือการนิ่งเฉย และความอดทน ย่อมไม่ใช่วิสัยของผู้นำในยุคปัจจุบัน!
ความเด็ดขาดที่มีเหตุผลรองรับอย่างชัดเจนในการบริหารองค์กร ความมีเมตตา และการให้สิ่งดีๆ กับคนที่ดีๆ ในองค์กร รวมทั้งการเปิดโอกาสให้คนที่มีทั้งความเก่งและความดีมาช่วยขับเคลื่อนองค์กร ไปจนถึงการปิดโอกาสไม่ให้คนที่คิดไม่ดีขึ้นมาบริหารองค์กร…น่าจะเป็น “คุณธรรม” และ “สิ่งที่คุณควรทำ”ในฐานะผู้นำองค์กร!
ถ้าผู้นำองค์กร ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่า…”ในคุณธรรมที่ไม่ชัดเจน…มักจะแฝงความขลาด” และ “ในคุณธรรมที่คลุมเครือ…มักจะก่อให้เกิดความไม่ชัดเจน” ย่อมไม่สามารถบริหารองค์กรให้ก้าวต่อไปข้างหน้าได้!
คำแนะนำทิ้งท้าย…ในฐานะผู้นำ ท่านน่าจะไปลองแยกแยะดูว่า ท่านควรใช้คุณธรรมกับสถานการณ์ใดกับใคร
และท่านควรทำสิ่งที่ “คุณควรทำ” ในสถานการณ์อะไร กับใครบ้าง ท่านอาจจะค้นพบ สัจธรรมของคุณธรรมที่แท้จริงคือ…”คุณธรรมไม่ใช่ยี่ห้อหรือตราประทับที่ท่านต้องพยายามสร้างสุดชีวิตเพื่อให้คนมองว่าท่านเป็นผู้มีคุณธรรม แต่คุณธรรมในระยะยาวหมายถึง ผลในบั้นปลายที่เกิดขึ้นจากทุกสิ่งที่ท่านทำ เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดในแต่ละสถานการณ์…และท้ายที่สุดคนจะยอมรับในสิ่งที่ท่านทำว่าเกิดจากคุณธรรมที่แท้จริง ถึงแม้ว่าในบางสถานการณ์สิ่งที่ท่านทำอาจจะดูเหมือนไม่ใช่คุณธรรมในช่วงเวลานั้น!”
เลิกคุณธรรมที่คลุมเครือและทำในสิ่งที่ท่านควรทำดีกว่า…แล้วท่านจะเป็นผู้นำที่แท้จริง!
ที่มา : ธีรพล แซ่ตั้ง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *