สุขภาพจิตบกพร่อง ภัยมืดคุกคามโลก

สุขภาพจิตบกพร่อง ภัยมืดคุกคามโลก
• คุณภาพชีวิต
เติมพลังใจ-มิตร-ศรัทธา ฝ่าวิกฤติปีวัว

Political Stress Syndrome (PSS) คือ กลุ่มอาการใหม่ของปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งกรมสุขภาพจิตบอกว่า แม้จะไม่ใช่โรค แต่ก็เป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติทางด้านจิตใจมากที่สุดในรอบ 30 ปี จนกลายเป็นปัญหาที่สำคัญ

PSS เป็นปฏิกิริยาของอารมณ์และจิตใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ที่สนใจปัญหาทางการเมือง และติดตามสถานการณ์การเมืองอย่างใกล้ชิด หรือเอนเอียงไปทางกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จนทำให้มีอาการทางกาย จิตใจ และกระทบต่อสัมพันธภาพกับผู้อื่น

ที่สำคัญคือ ความคิดคาดการณ์ที่นำไปสู่ความรู้สึกวิตกกังวล หรือกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคต (anticipatory anxiety) เช่น กลัวว่าเหตุการณ์รุนแรงจะซ้ำรอยเดิมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ทั้งการเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของเศรษฐกิจโลก

รวมถึงการที่ข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ที่ขยับราคาสูงขึ้น ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนกันถ้วนหน้า สภาวะจิตใจถูกกระทบด้วยสารพัดปัญหา จึงเป็นที่มาของ “ความเครียด” หรือ “โรคเครียด”

สำหรับ อาการแสดงทางกายของโรคเครียด มีตั้งแต่ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตึงบริเวณขมับ ต้นคอ หรือตามแขน ขา นอนไม่หลับ หรือหลับๆตื่นๆ หรือหลับแล้วตื่นกลางคืนแล้วไม่สามารถหลับต่อได้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ทั้งที่อยู่ในสภาพปกติ หายใจไม่อิ่ม แน่นท้อง ปวดท้อง อึดอัดในช่องท้อง

ส่วนอาการทางใจ อาจจะออกมาในรูปของความวิตกกังวล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลา หงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว ก้าวร้าว เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดหวัง รู้สึกไม่มีทางออก สมาธิไม่ดี ฟุ้งซ่าน หรือหมกมุ่นมากเกินไป

นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาต่อพฤติกรรมและสัมพันธภาพกับผู้อื่น เช่น มีการโต้เถียงกับผู้อื่น หรือแม้แต่บุคคลในครอบครัว โดยใช้อารมณ์ ตั้งแต่ปานกลางถึงรุนแรง มีความคิดที่จะตอบโต้โดยใช้กำลังในการเอาชนะ มีการลงมือทำร้ายร่างกายเพื่อตอบโต้ หรือมีการเอาชนะทางความคิดกับคนที่เคยมีสัมพันธภาพที่ดีมาก่อน จนทำให้เกิดปัญหาด้านสัมพันธภาพอย่างรุนแรง

ผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์หลายๆ เรื่องบ่งชี้ว่า ประชาชนชาวไทยโดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวและวัยรุ่นมีภาวะความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่องที่น่าเป็นห่วง ถึงร้อยละ 20-50 ของกลุ่มประชากรวัยดังกล่าว

ลักษณะของการเป็นคนป่วยด้วยปัญหาสุขภาพจิต ที่ไม่มีอาการป่วยด้วยโรคจิตและประสาท มี 3 อย่าง

กลุ่มที่มี ความรู้สึกทุกข์ทรมานใจ (Distress) เป็นความรู้สึกกลุ้มอกกลุ้มใจ ไม่มีความสุข คิดมาก คิดฟุ้งซ่าน ไม่สบายใจ บางคนมีอาการแสดงออกทางร่างกายโดยมีสาเหตุจากจิตใจ ซึ่งหากเป็นไม่มากอาการอาจไม่เป็นที่สังเกตของคนอื่น

แต่ถ้าเป็นมาก ครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิท อาจสังเกตเห็นความผิดปกติได้ เช่น รู้ว่ามีอาการวิตกกังวล เคร่งเครียด ซึมเศร้า สีหน้าหมองคล้ำ ย้ำคิดย้ำทำ

กลุ่มที่มี พฤติกรรม หรือความเจ็บป่วยส่งผลกระทบกระเทือนหรือรบกวนผู้อื่น (Disturb) กรณีนี้เจ้าตัวมักจะไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ ไม่คิดว่าตัวเองมีปัญหาหรือเจ็บป่วยอะไร ไม่รับรู้ว่าตัวเองมีพฤติกรรมความประพฤติที่เปลี่ยนไปจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น หรือสังคม หรือรู้ตัวแต่ควบคุมพฤติกรรมของตนเองไม่ได้ เช่น คนเคยมีนิสัยเรียบร้อยกลายเป็นคนมีอารมณ์ร้อน ฉุนเฉียว เอาแต่ใจตนเอง

กลุ่มที่มี ผลกระทบกระเทือน สร้างความเสียหาย หรือพิกลพิการต่อตนเองในด้านต่างๆ (Disability) ซึ่งข้อนี้ถือว่าสำคัญมาก เนื่องจากเป็นกุญแจสำคัญที่จะตัดสินว่ามีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่ เนื่องจากมีผลกระทบกระเทือนต่อคุณภาพชีวิต มีผลเสียหายต่อประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เช่น ผลการเรียนตก ทำงานไม่ได้ เข้าสังคมไม่ได้ ฯลฯ

ปัญหา 5 อันดับแรกที่มีการปรึกษามากที่สุด ได้แก่ การเจ็บป่วยจากโรคทางจิตเวช การปรับตัวในชีวิต ปัญหาความเครียดจากการเมืองและเศรษฐกิจ ปัญหาความรัก และ ปัญหาด้านเพศ

จากการสำรวจข้อมูลของกรมสุขภาพจิตในปี 2551 พบภาพรวมของผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทย มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 ของประชากร หรือประมาณ 12 ล้านคน ขณะที่มีผู้เข้าถึงบริการเพียงร้อยละ 4 หรือประมาณ 480,000 คน

แบ่งเป็นโรคจิตเภท 600,000 คน โรคซึมเศร้า 1.2 ล้านคน โรคอารมณ์แปรปรวน 240,000 คน ซึ่งใน ส่วนของโรคอารมณ์แปรปรวนนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2552 จะมีผู้ป่วยมากขึ้นถึง 1.1 ล้านคน

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการดูแลรักษาผู้ที่เจ็บป่วยทางจิต และป้องกันผู้ที่เสี่ยงต่อการที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคทางสุขภาพจิต จากภาวะความเครียดต่างๆแล้ว โดยเฉพาะการเมืองที่ยังไม่แน่นอน อาจจะยังคงส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ ทั้งด้านอารมณ์ที่อาจจะขึ้นๆ ลงๆ หากมีเหตุการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจตามสถานการณ์บ้านเมือง กระทบต่อความคิด

บางคนอาจจะคิดบวก บางคนอาจจะคิดลบ คิดเหมือน คิดต่าง ปัจจัยทั้งหมดนี้จะไปกระทบกับความสัมพันธ์ ที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างคนในครอบครัวหรือเพื่อนบ้านได้

ข้อแนะนำจากกรมสุขภาพจิต คือ หากเรารู้ว่ามีความคิดต่าง แต่ความสัมพันธ์ต้องไม่เปลี่ยน นั่นหมายถึงต้องพูดคุยอย่างมีเหตุผล เคารพในจุดยืน ความคิด ความเชื่อของกันและกัน

ขณะที่การป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้าในปี 2552 จะเน้นเรื่องสร้างระบบและพัฒนา ให้คนไทยเข้าถึงการบริการด้วยการพุ่งเป้าไปที่หน่วยงานสุขภาพจิต และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในทุกจังหวัด ให้มีการพัฒนาบุคลากรและมีการพัฒนาเทคโนโลยี สร้างมาตรฐานในการรักษา เน้นการรักษาด้วยยาและจิตบำบัดในรูปแบบต่างๆ

โดยจะทำให้ยาดีมีคุณภาพถูก และเมื่อรักษาเสร็จสิ้นแล้วจะมีการติดตามผลทุกๆระยะ 6-8 เดือน ด้วยการใช้แบบประเมินเพื่อการติดตาม รวมทั้งจัดระบบป้องกันการป่วยซ้ำ ซึ่งถ้าดูแลผู้ป่วยซึมเศร้าดีๆ ปัญหาฆ่าตัวตายก็จะลดน้อยลงด้วย

ในปี ค.ศ.2020 องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสูงขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากโรคเรื้อรังจากโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา แต่ประเทศไทยกำลังคาดการณ์โดยตั้งเป้าว่าในอีก 11 ปีข้างหน้า จะไม่ให้มีการฆ่าตัวตายเกิน 6.3 ต่อแสนประชากร

และในปีใหม่ 2552 ของขวัญปีใหม่ที่กรมสุขภาพจิตอยากมอบให้ประชาชน ซึ่งเป็นเสมือน “ยาใจ” หรือ คาถาประจำใจ 3 คำ เพื่อ สร้าง “พลังสุขภาพจิต” คือ

I am – ความมั่นคงทางอารมณ์

I have – กำลังใจ และ

I can – การจัดการปัญหา

พลังสุขภาพจิตเป็นโรคติดต่อถึงกันได้โดยเฉพาะคนที่มีความไว้วางใจ หรือคนที่สนิทกันมากก็ยิ่งสามารถส่งพลังไปถึงกันและกันได้ง่าย พลังสุขภาพจิตนั้นสามารถติดต่อจากแม่สู่ลูกได้ แต่ไม่ใช่พันธุกรรม ตัวอย่างเช่น ถ้าเราอยู่กับคนที่หงอยเราก็จะหงอยไปด้วย แต่หากครอบครัวมีสุขเราก็จะสุขไปด้วย

คนไทยควรมาเรียนรู้ว่าจะเติมพลังสุขภาพจิตอย่างไร เช่น เติมศรัทธา เติมมิตร เติมจิตใจให้กว้าง และก็จะสามารถ ฝ่าวิกฤติภัยมืดที่คุกคามโลกในปี “วัวบ้า” ไปได้อย่างแน่นอน

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *