สิทธิโดยพินัยกรรมในการตกทอดมรดก (7)

สิทธิโดยพินัยกรรมในการตกทอดมรดก (7)

(2) การเพิกถอนโดยปริยาย เป็นพฤติการณ์ที่กฎหมายถือว่ามีผลเท่ากับเป็นการเพิกถอน ในพฤติการณ์หนึ่งพฤติการณ์ใดดังต่อไปนี้
2.1 เมื่อผู้ทำได้โอนไปโดยสมบูรณ์ ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมด้วยความตั้งใจ ม.1696 เหตุที่กฎหมายถือว่าพินัยกรรมถูกเพิกถอนเนื่องจากขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายนั้น ไม่มีทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมอีกต่อไป
การโอนไปซึ่งทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมซึ่งจะมีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมนั้น ทรัพย์นั้นได้โอนไปโดยสมบูรณ์หรือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นแล้ว หากกรรมสิทธิ์ยังไม่โอนยังไม่ถือว่าพินัยกรรมถูกเพิกถอน เช่น เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่นาย ก. ต่อมาทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวให้ ข. ดังนี้ ขณะที่ยังมิได้ทำการจดทะเบียน
โอนให้แก่ นาย ข. เจ้ามรดกได้ตายลงเสียก่อน เช่นนี้ พินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่นาย ก. นั้นยังมีผลบังคับได้ไม่ถูกเพิกถอน ดังนั้นนาย ก. ย่อมมีสิทธิรับมรดกอันเป็นที่ดินนั้น แต่ถ้าภายหลังนาย ข. มาเรียกร้องให้นาย ก. โอนที่ดินให้แก่ตนเอง นาย ก. ต้องโอนให้นาย ข. นอกจากนี้ นาย ก. ยังจะเรียกร้องให้ทายาทโดยธรรมและผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไปรับผิดต่อตนเองตามมาตรา 1743 และมาตรา 1751ไม่ได้(ดูต่อไปในหัวข้อการแบ่งปันมรดก )
อนึ่ง การโอนทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมซึ่งจะมีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรม จะต้องเป็นการโอนที่เกิดขึ้นจากความสมัครใจของผู้ทำพินัยกรรม หากเป็นการโอนที่ผู้ทำพินัยกรรมมิได้สมัครใจ(บังคับโอน) พินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมข้อนั้นไม่ถูกเพิกถอน เช่นตามตัวอย่างข้างต้น ภายหลังจากที่ผู้ทำพินัยกรรมได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่นาย ก. ต่อมาก่อนที่ผู้ทำพินัยกรรมจะถึงแก่ความตาย เจ้าหนี้ของผู้ทำพินัยกรรมได้ฟ้องผู้ทำพินัยกรรมเป็นคดีแพ่ง และยึดที่ดินที่ยกให้แก่นาย ก. ออกขายทอดตลาด เช่นนี้แม้ในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายจะไม่มีที่ดินอันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมอีกต่อไป พินัยกรรมยกที่ดินให้แก่นาย ก. ก็ไม่ถูกเพิกถอน โดยนาย ก. มีสิทธิที่จะเรียกให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไปของผู้ทำพินัยกรรมชดใช้ให้แก่ตนเองได้ตามมาตรา 1743 มาตรา 1740 และมาตรา 1651 (2)(ดูต่อไปในหัวข้อการรวบรวมทรัพย์มรดกเป็นตัวเงินและชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดก) ยกเว้นแต่ เจ้าหนี้ที่บังคับให้ผู้ทำพินัยกรรมโอนทรัพย์สินจะเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินนั้น เช่นตามตัวอย่างข้างต้น ถ้าเจ้าหนี้บังคับให้ผู้ทำพินัยกรรมโอนที่ดินคือ นาย ข. ซึ่งผู้ทำพินัยกรรมได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้ เช่นนี้ แม้พินัยกรรมจะไม่ถูกเพิกถอนตามที่ได้อธิบายไปแล้ว แต่นาย ก. จะเรียกให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไปของผู้ทำพินัยกรรมชดใช้ให้แก่ตนเองตามมาตรา 1743 ไม่ได้
ในกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมได้จำหน่ายทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมไปแล้วต่อมาผู้ทำพินัยกรรมได้รับทรัพย์สินนั้นกลับคืนมาก่อนตาย เช่นนี้จะถือว่าพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมข้อนั้นถูกเพิกถอนตามมาตรานี้หรือไม่ เช่น ภายหลังจากที่ผู้ทำพินัยกรรมได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินให้แก่นาย ก. ถ้าต่อมาผู้ทำพินัยกรรมได้ขายที่ดินให้แก่นาย ข. แล้วต่อมาก่อผู้ทำพินัยกรรมจะถึงแก่ความตาย ผู้ทำพินัยกรรมได้ซื้อที่ดินนั้นกลับคืนมาอีก เช่นนี้จะถือว่าพินัยกรรมที่ยกที่ดินให้แก่ นาย ก. ยังคงมีผลอยู่หรือไม่ ในปัญหาข้อนี้พิจารณาได้ว่า พินัยกรรมซึ่งยกทรัพย์มรดกให้นาย ก. ไม่ถูกเพิกถอนทั้งนี้เพราะในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายนั้นยังมีทรัพย์มรดกอันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมอยู่ซึ่งไม่เป็นไปตามเหตุผลที่กฎหมายถือว่าเป็นการเพิกถอนโดยปริยาย
คำพิพากษาฎีกาที่ 372/2509 สามีโดยมิชอบด้วยกฎหมายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งหมดให้ภริยาต่อมาสามีภริยานั้นได้ทำหนังสือแบ่งทรัพย์กันโดยสามีได้ทรัพย์ไปบางส่วน หนังสือแบ่งทรัพย์นั้นย่อมไม่เพิกถอนพินัยกรรม เพราะพินัยกรรมจะเพิกถอนไปได้ ก็ต้องกระทำด้วย พินัยกรรมฉบับหลังหรือทำลาย หรือขีดฆ่าพินัยกรรมนั้นด้วยความตั้งใจ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1694, 1695 ถ้าทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมอย่างใดได้โอนไปโดยสมบูรณ์ด้วยความตั้งใจ ข้อกำหนดพินัยกรรมอันเกี่ยวกับทรัพย์สินนั้นเป็นอันเพิกถอนไปเฉพาะอย่าง มาตรา1696 แต่พินัยกรรมยังใช้ได้อยู่เมื่อทรัพย์ที่แบ่งกลับมาเป็นของสามีตามสัญญาแบ่งทรัพย์ก็ย่อมตกได้แก่ภริยาตามพินัยกรรมที่ยังมีผลสมบูรณ์อยู่นั้นเอง
คำพิพากษาฎีกาที่ 4804/2539(ญ) การที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกที่ดินเฉพาะส่วนของเจ้ามรดกให้โจทก์ 30 ไร่ และให้จำเลย 9 ไร่เศษ แต่ระหว่างมีชีวิตอยู่เจ้ามรดกได้จำหน่ายที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วนไปโดยสมบูรณ์คงเหลือที่ดินเป็นทรัพย์มรดกเพียง 8 ไร่เศษนั้น เป็นกรณีที่ ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินเป็นอันเพิกถอนไปเฉพาะบางส่วนเท่านั้น พินัยกรรมยังใช้ได้อยู่หาได้สิ้นผลลงทั้งฉบับหรือข้อกำหนดในส่วนของโจทก์ได้ถูกเพิกถอนไปคงมีผลอยู่เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใดไม่และไม่ใช่พินัยกรรมที่อาจตีความได้เป็นหลายนัย อันจะต้องถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม โจทก์ยังคงมีสิทธิตามพินัยกรรมตามส่วนของที่ดินที่เหลืออยู่

คำพิพากษาฎีกาที่ 9503/2539 การโอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรมอันจะทำให้ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นเป็นอันเพิกถอนไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง หมายถึงการโอนทรัพย์สินที่ยังมีผล อยู่ในขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมตาย เมื่อ ฟ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทตาม น.ส.3 เลขที่ 182 ให้แก่ น. และเลขที่ 206 ให้แก่ น. กับโจทก์ที่ 8 แล้ว แม้ต่อมา ฟ.ได้จดทะเบียนยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่ น. โดยเสน่หาแต่หลังจากนั้น ฟ. ก็ได้ฟ้องขอถอนคืนการให้และขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับคืนมาเป็นของ ฟ. จึงถือไม่ได้ว่า ฟ. ได้โอนไปโดยสมบูรณ์ซึ่งทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งข้อกำหนดพินัยกรรม ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้นจึงหาเป็นอันเพิกถอนไปไม่

1.2 เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายทรัพย์สินอันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมหรือข้อกำหนดพินัยกรรมด้วยความตั้งใจตามมาตรา ม.1696 วรรคสอง “…เมื่อผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายทรัพย์สินนั้นด้วยความตั้งใจ”เหตุที่กฎหมายถือว่าพินัยกรรมถูกเพิกถอนเนื่องจากขณะที่ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายไม่มีทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรม เนื่องจากผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดจะเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมอีก เช่นเดียวกับการที่ผู้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมตามมาตรา 1696 วรรคแรก
การที่จะถือว่าพินัยกรรมถูกเพิกถอนตามมาตรานี้ จะต้องเป็นกรณีที่ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งพินัยกรรมถูกทำลายทั้งหมด และต้องเป็นกรณีที่ผู้ทำพินัยกรรมได้ทำลายด้วยความตั้งใจ หากผู้ทำพินัยกรรมมิได้ตั้งใจไม่ถือว่าพินัยกรรมถูกเพิกถอน แต่พินัยกรรมดังกล่าวจะมีผลอย่างไรนั้นให้พิจารณาต่อไปว่าผู้พินัยกรรมได้มาซึ่งของแทนหรือสิทธิในการเรียกร้องค่าทดแทนหรือไม่ หากได้มาซึ่งของแทนหรือสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนพินัยกรรมนั้นยังคงมีผลบังคับได้ตามมาตรา 1681 แต่หากไม่ได้มาซึ่งของแทนหรือสิทธิเรียกร้องค่าทดแทนพินัยกรรมนั้นไม่ตกไปตามมาตรา 1698(4)
2.3 เมื่อผู้ทำได้ทำพินัยกรรมหลายฉบับและปรากฏว่าพินัยกรรมฉบับก่อนขัดกับฉบับหลัง เช่นนี้กฎหมายให้ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังในส่วนที่ขัดกันนั้นตามมาตรา1697 การที่จะพิจารณาว่าพินัยกรรมฉบับใดทำขึ้นก่อนหรือภายหลังย่อมพิจารณาได้จากวันที่ปรากฏในพินัยกรรมนั้นเอง พินัยกรรมฉบับก่อนจะถูกเพิกถอนโดยพินัยกรรมหลัง พินัยกรรมฉบับหลังจะต้องมีผลสมบูรณ์และไม่ถูกเพิกถอนในภายหลัง
การเพิกถอนพินัยกรรมตามมาตรานี้มาจากหลักกฎหมายในมาตรา 1647 ซึ่งบัญญัติว่า “การแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายนั้นย่อมทำได้ด้วยคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดไว้ในพินัยกรรม”
คำพิพากษาฎีกาที่ 2797/2517 ต.ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองทั้งต้นฉบับและคู่ฉบับรวมสามฉบับ เก็บต้นฉบับไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอหนึ่งฉบับคู่ฉบับมอบให้บุคคลอื่นเก็บไว้ต่อมา ต. ขอต้นฉบับที่เก็บไว้ ณ ที่ว่าการอำเภอคืนมาเก็บไว้เอง โดยมิได้กระทำการใดๆที่เห็นได้ว่าเป็นการทำลายหรือขีดฆ่าพินัยกรรมฉบับนั้นกับคู่ฉบับอีกสองฉบับ และได้ร่างพินัยกรรมขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่งแต่ ต.และพยานยังมิได้ลงลายมือชื่อ ดังนี้ แม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการแสดงเจตนาของ ต ว่าจะทำพินัยกรรมฉบับใหม่และจะไม่ใช้พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับเดิมก็ตาม แต่พินัยกรรมฉบับหลังได้ทำขึ้นโดยมีรายการไม่ครบถ้วน เพราะ ต.และพยานยังมิได้ลงลายมือชื่อไว้ ย่อมเป็นโมฆะ ไม่มีผลเพิกถอนพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองฉบับเดิม
การเพิกถอนพินัยกรรมตามมาตรานี้กับการเพิกถอนพินัยกรรมตามมาตรา 1694 มีลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือ การเพิกถอนพินัยกรรมตามมาตรา 1694 ผู้ทำพินัยกรรมได้ระบุไว้ในพินัยกรรมฉบับหลังโดยชัดเจนว่าเพิกถอนพินัยกรรมฉบับใด ส่วนการเพิกถอนพินัยกรรมตามมาตรานี้ผู้ทำพินัยกรรมิได้กำหนดไว้โดยชัดเจนเพียงแต่พินัยกรรมฉบับก่อนและฉบับหลังมีข้อความขัดกัน
คำพิพากษาฎีกาที่ 1624/2511 พินัยกรรมทั้งฉบับของโจทก์และจำเลยต่างลงวันเดือนปีที่ทำตรงกันคือ วันที่ 12 มกราคม 2502 ของจำเลยนั้น ผู้ทำพินัยกรรมเขียนชื่อผู้รับไว้เรียบร้อยครบถ้วนแล้วแต่วันที่ลงในพินัยกรรม จึงถือเป็นอันสมบูรณ์แต่วันนั้นส่วนพินัยกรรมของโจทก์ปรากฏว่าชื่อผู้รับพินัยกรรมเว้นว่างไว้ เจ้ามรดกเพิ่งกรอกชื่อโจทก์เป็นผู้รับเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2506 จึงถือได้ว่าพินัยกรรมฉบับของโจทก์ได้ทำเสร็จเป็นพินัยกรรมเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2506 อันเป็นวันภายหลังจากพินัยกรรมจำเลย พินัยกรรมของโจทก์จึงเป็นพินัยกรรมฉบับหลังซึ่งมีผลเพิกถอนพินัยกรรมฉบับของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1697

คำพิพากษาฎีกาที่ 1078/2537 พินัยกรรมฉบับก่อนเจ้ามรดกยกที่ดินนาให้โจทก์ 10 ไร่ ส่วนพินัยกรรมฉบับหลังเจ้ามรดกยกที่ดินนาให้โจทก์จำเลยและบุตรคนอื่น ๆ รวม 7 คน คนละ 3 ไร่ ส่วนที่เหลือยังเป็นส่วนของเจ้ามรดกอยู่ โดยมิได้กล่าวถึงที่ดินนา 10 ไร่ ที่เคยทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ก่อนเลย ทั้งพินัยกรรมฉบับแรกตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกแต่พินัยกรรมฉบับหลังตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดก พินัยกรรมทั้งสองฉบับในส่วนเกี่ยวกับทรัพย์มรดกและการตั้งผู้จัดการมรดกจึงขัดกัน และเจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมมิได้แสดงเจตนาไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถือว่าพินัยกรรมฉบับก่อนเป็นอันเพิกถอนโดยพินัยกรรมฉบับหลังเฉพาะเกี่ยวกับการยกทรัพย์มรดกให้ทายาทและเกี่ยวกับการ ตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1697

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *