สำรวจตัวเองตามวิถีเต๋า

สำรวจตัวเองตามวิถีเต๋า

การที่องค์กรหนึ่งองค์กรเติบโตได้อย่างมั่นคงและมั่งคั่ง มีองค์ประกอบอยู่ที่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น สินค้า การบริการ การบริหารและจัดการ เทคโนโลยีที่ทันสมัย หลายๆ อย่างรวมกันในสัดส่วนที่สมดุล ผลักดันให้องค์กรก้าวหน้าในที่สุด
แต่หลากหลายข้อที่กล่าวมา สิ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักจริงๆ ในการพัฒนาองค์กรคือ “บุคลากร”
สมมติว่าสินค้าสองชิ้นเหมือนกัน ราคาเท่ากัน บริการเหมือนกัน ต้องเรียก “คนขาย” มายิงลูกโทษตัดสินกัน ถ้าคนขายซ้อมมาดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง
หลายบริษัทจึงเริ่มมีตื่นตัวในการเสริมเขี้ยวเล็บให้บุคลากร วิธีที่คลาสสิกที่สุดคือ การจัดอบรมพนักงาน
เพราะเชื่อกันว่า “ความรู้” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาคน การอบรมก็เปรียบเสมือน การได้รับการถ่ายทอดความรู้นั่นเอง บางบริษัทถึงกับยอมจ่ายค่าอบรมปีละหลายล้านบาท
แต่เกิดคำถามว่า การอบรมเป็นวิธีพัฒนาบุคลากรที่ดีที่สุดหรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ เพราะอยู่ที่หลายองค์ประกอบ เช่น ไม่มีการติดตามผลหลังได้รับการอบรม พนักงานไม่ค่อยสนใจการอบรม ผู้อบรมถ่ายทอดความรู้ไม่เต็มที่ เป็นต้น
ทำให้เกิดวิธีการพัฒนาบุคลากรแบบใหม่ๆ ออกมาควบคู่กับการอบรม วิธีนี้เรียกว่า “การสำรวจตัวเอง”
“การสำรวจตัวเอง” เป็นเรื่องที่กำลังได้รับความนิยมในซีกโลกตะวันตก แต่ถ้าในแถบเอเชียการสำรวจตัวเองเป็นวิธีการที่มีมานานแล้ว แต่แฝงอยู่ในรูปแบบของคำสอนในศาสนา เช่น ศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋าเป็นต้น
การสำรวจตัวเองแตกต่างจากการประเมิน เพราะการประเมินใช้คนอื่นตัดสินวัดจากผลงานและคุณภาพของคน ผู้ประเมินถ้ามีจิตใจเอนเอียง หรือมองคนในมุมเดียว ทำให้ผลการประเมินอาจเบี่ยงเบนก็เป็นได้
แต่การสำรวจตัวเองวัดจากความซื่อสัตย์ในตัวเอง และมักได้มุมมองที่แปลกใหม่ เป็นต้นว่า ถ้าพนักงานคนหนึ่งสำรวจตัวเองแล้วพบว่า เขามีผลงานที่ดีกว่าความเป็นจริง เราอาจได้รู้สิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับพนักงานคนนั้น เช่น เขาอาจเป็นคนไม่จริงใจ เขาอาจเป็นคนหลงตัวเอง หรือ เขาไม่มีความสามารถมากพอ เป็นต้น
วิธีการสำรวจตัวเองง่ายๆ ที่จะแนะนำ คือ “การสำรวจตัวเองตามวิถีเต๋า” ลัทธิเต๋ามองโลกไว้เป็นสองขั้ว คือ หยินกับหยาง เช่น ร้อน-หนาว ขาว-ดำ ดี-ชั่ว
เราจะสมมติ ความถูกต้อง คือ หยาง,ความผิด คือ หยิน ถ้าในคณิตศาสตร์สมการนี้อาจจะดูด้วนๆไปหน่อย เพราะฉะนั้นเพิ่มเรื่อง การกระทำ และ การสำนึกเข้าไปด้วย
“การสำรวจตัวเองตามวิถีเต๋า” แบ่งคนไว้ 4 จำพวก
หยาง หยาง คือ ทำถูก และ รู้ว่าถูก
คนประเภทนี้มีพื้นฐานทางจริยธรรมและสังคมที่ดี มีความรับผิดชอบสูง มีโอกาสทำให้องค์กรก้าวหน้ามากที่สุด เพราะมีความรู้ที่ถูกต้องและปฏิบัติตามอย่างถูกต้อง เหมาะแก่การเป็นผู้นำ
หยิน หยางคือ ทำผิด แต่ คิดว่าถูก
ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เสมอ แม้ว่าจะทำผิด แต่เมื่อเขารู้ว่าถูกเป็นอย่างไร คนประเภท หยาง หยิน มักจะมองโลกในแง่ดี สามารถพัฒนาตัวเองได้ถ้าได้รับโอกาส
หยิน หยิน คือ ทำผิด และ รู้ว่าผิด
คนประเภทนี้จะรักอิสระ ไม่เหมาะแก่การรับผิดชอบงานใหญ่ แต่คนแบบนี้อาจชอบทดลองสิ่งแปลกใหม่เสมอ สามารถจะพัฒนาองค์กรได้ดีไม่แพ้คนประเภทหยาง หยิน ยิ่งถ้าคนประเภทนี้กล้ารับความผิด แสดงถึงจิตใจนักเลง ยอมรับตัวเอง
หยิน หยิน แบบพิเศษ คือ ทำผิด และ ไม่รู้ว่าผิด
คำโบราณบอกว่า คนไม่รู้ว่าผิดและทำผิด ไม่ถือว่าผิด อาจจะต้องคิดใหม่ได้แล้ว เพราะว่าคนประเภทนี้อันตรายที่สุดในองค์กร ลองคิดดีๆนะครับ
คนประเภทนี้มีลักษณะเหมือนองคุลีมาลตอนที่ยังไม่บรรลุ องคุลีมาลมีความเชื่อว่าการฟันมีดผ่านร่างกายคน ทำให้เขาถึงแก่ชีวิตไม่ถือว่าบาป เพราะไม่ต่างจากการฟันอากาศ
เขาอาจจะทำอะไรผิดพลาดโดยที่เขาไม่รู้ว่าเป็นเรื่องผิด และก็ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะไม่รู้ว่าความถูกต้องเป็นอย่างไร อันตรายมาก แต่ก็ควรให้โอกาสเขา
ว่าไปแล้วก็ลองหยิบปากกากับกระดาษขีดเส้นแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแรกให้เขียนเกี่ยวกับผลงาน ความผิดพลาด หรือ ความสำเร็จ ส่วนอีกฝั่งเขียนถึงความสำนึกว่าสิ่งนั้นถูกหรือผิด แต่ถ้าจะทำมาเป็นแบบทดสอบไม่ควรอธิบายให้รู้ก่อนนะครับ เดี๋ยวไม่แม่น
กฤษณนัยย์ พิรยารังสรรค์
นักวิเคราะห์โหรศาสตร์และฮวงจุ้ยไทย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *