สาขาแห่งอนาคต เรียนอะไรไม่ตกงาน
สาขาแห่งอนาคต เรียนอะไรไม่ตกงาน
ในยุคของโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่การค้าระหว่างประเทศมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับนโยบายการเปิดเสรีการค้าตามข้อตกลง FTA ที่ประเทศไทยจะต้องเข้าร่วมทั้งในฐานะผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และนักลงทุน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนที่จะขับเคลื่อนสินค้าบริการ ข้อมูลและการเงิน จึงมีความสำคัญที่จะทำให้ประเทศสามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ โลจิสติกส์นับเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะนำมาใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าซึ่งจะทำให้สินค้าและบริการมีต้นทุนถูกลง สินค้าและบริการถึงมือผู้บริโภคเร็วขึ้นและถูกต้องตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งจะทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศขยายตัวและก่อให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ความหมายของโลจิสติกส์
The Council of Logistics Management (CLM) ได้ให้คำนิยามของโลจิสติกส์ ดังนี้
โลจิสติกส์ หมายถึงกระบวนการวางแผน การดำเนินงาน และการควบคุมการเคลื่อนย้ายทั้งไปและกลับ การเก็บรักษาสินค้า บริการ และข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการผลิตไปสู่จุดสุดท้ายของการบริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
กระบวนการจัดการโลจิสติกส์จะครอบคลุมกิจกรรม 2 ประเภทดังนี้
1. กิจกรรมหลัก (Key Activities) ประกอบด้วย
1.1 การบริหารสินค้าคงคลัง
1.2 การบริหารการขนส่ง
1.3 การบริหารการสั่งซื้อ
1.4 การบริหารข้อมูล
1.5 การบริหารการเงิน
2. กิจกรรมสนับสนุน (Supporting Activities) ประกอบด้วย
2.1 การบริหารคลังสินค้า
2.2 การดูแลสินค้า
2.3 การบริหารการจัดซื้อ
2.4 การบริหารบรรจุภัณฑ์
2.5 การบริหารอุปสงค์
ดังนั้นหัวใจสำคัญของการดำเนินกิจกรรมโลจิสติกส์ คือการจัดหาสินค้าหรือบริการตามความต้องการของลูกค้า และส่งมอบสินค้าไปยังสถานที่ที่ลูกค้าระบุไว้ถูกต้องตรงตามเวลา และสินค้าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม