สอนลูกรักเป็นนักบริหารเวลา

สอนลูกรักเป็นนักบริหารเวลา
 
วันที่ : 1 สิงหาคม 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : แม่และเด็ก
 
              เมื่อเอ่ยถึง “การบริหารเวลา” พ่อแม่จำนวนมากมักมองว่าเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ หรือนักธุรกิจ ผู้บริหารองค์กรระดับสูงที่มีงานและพนักงานอยู่ภายใต้การดูแลเป็นจำนวนมากซึ่งมีงานรัดตัวจำเป็นต้องบริหารเวลาที่มีอยู่ของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การบริหารเวลาจึงไม่น่าที่จะเกี่ยวข้องกับเด็กตัวเล็ก ๆ ที่มีหน้าที่อย่างเดียวคือเรียนหนังสือและมีเวลาว่างอย่างเหลือเฟือในแต่ละวัน และอาจเป็นการสร้างความตึงเครียดให้กับเด็กมากเกินไปอย่างที่ควรจะเป็น

              หากท่านเป็นพ่อแม่ที่คิดว่าการบริหารเวลาเป็นเรื่องที่ห่างไกลและไม่เกี่ยวข้องกับลูกของตนแล้ว ท่านกำลังคิดผิดอย่างมหันต์ และได้ละเลยโอกาสทองในการวางรากฐานความสำเร็จในชีวิตของลูกไปอย่างน่าเสียดาย    
  
              การบริหารเวลา รากฐานแห่งความสำเร็จในชีวิต 

              ในวัยเด็กของผมนั้นมีเพื่อนฝูงหลายคนที่เรียนหนังสือเก่งมาก แต่ในปัจจุบันกลับพบว่าประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสู้เพื่อนอีกลุ่มหนึ่งที่เรียนเก่งน้อยกว่าไม่ได้ จากการสังเกตดูเพื่อนในกลุ่มที่เรียนเก่งน้อยกว่าแต่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากกว่านั้น พบว่าเพื่อน ๆ ในกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่บริหารเวลาเก่งมาก ในวันหนึ่ง ๆ สามารถทำงานได้อย่างมากมายเมื่อเทียบกับเพื่อนในกลุ่มแรกที่หัวดีกว่าแต่บริหารเวลาไม่เป็น  

              เด็กที่ถูกฝึกในเรื่องการบริหารเวลาอย่างดีจะเป็นเด็กที่มีวินัยสูง มีความรับผิดชอบ ไม่เป็นคนผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่จับจด รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร เรียนเป็นเรียน เล่นเป็นเล่น เวลาไหนควรอ่านหนังสือ เวลาใดควรเป็นเวลาในการพักผ่อน ฯลฯ เด็กในกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ และมีความก้าวหน้าในการเรียนมากกว่าเด็กในกลุ่มที่ไม่รู้จักบริหารเวลาหรือควบคุมตนเอง เอาแต่เล่นสนุกไปวัน ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าชีวิตในช่วงสั้น ๆ จะเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนาน แต่ท้ายที่สุดกลับต้องทุกข์ระทมในผลที่ได้รับ อาทิ สอบตก เรียนซ้ำชั้น ทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ไม่รู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง มองตนเองด้อยค่า เมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ย่อมไม่สามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ 

              นอกจากนี้การบริหารเวลายังเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับเด็ก จากการวิจัยพบว่าเด็กส่วนใหญ่จะชอบอะไรที่เป็นกิจวัตรและสามารถคาดการณ์ได้ เนื่องจากเด็กจะรู้สึกมีความมั่นคงและสบายใจในสิ่งที่เขาสามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทราบว่าในแต่ละวันเขาจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น ในช่วงเวลาปิดเทอม หรือวันหยุดต่าง ๆ ที่ไม่ต้องเรียนหนังสือตามปกตินั้น เด็กต้องการทราบว่าเขาควรจะทำอะไรในช่วงเวลาดังกล่าว

              การฝึกฝนลูกให้เป็นนักบริหารเวลาที่ดีนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก เนื่องจากเป็นเรื่องของการฝึกวินัยดังนั้นเริ่มฝึกเร็วเท่าไรยิ่งดีเท่านั้นเข้าทำนองไม้อ่อนดัดง่ายไม้แก่ดัดยาก โดยการฝึกฝนลูกให้เป็นนักบริหารเวลาที่ดีนั้นเริ่มจาก 

              ในเด็กเล็กวัย 0-3 ปี
 
ซึ่งเป็นวัยที่อาจยังไม่สามารถเข้าใจในเรื่องของเวลาได้ดีพอ ไม่เข้าใจในเรื่องของการดูนาฬิกาบอกเวลา อย่างไรก็ตามวัยนี้เป็นวัยที่สำคัญในการปูพื้นฐานเรื่อง “วินัย” ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการเป็นนักบริหารเวลาที่ดีต่อไปในอนาคต โดยการฝึกฝนลูกผ่านการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีระบบระเบียบ โดยเฉพาอย่างยิ่งในกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ  เช่น

              เวลาตื่น-นอน  พ่อแม่ควรนำลูกเข้านอนเป็นเวลา ฝึกให้นอนแต่หัวค่ำและตื่นแต่เช้า

              …เวลากิน   หากเป็นเด็กทารกพ่อแม่ควรให้นมลูกเป็นเวลา ไม่ใช่ลูกร้องก็จับขวดนมใส่ปากทันที หรือ 
ตามใจลูกให้กินของจุบจิบไม่เป็นเวลาตามมื้ออาหาร  

              ในเด็กโตอายุ 3 ปีขึ้นไป
 หรือในวัยที่พอรู้ความ เริ่มรู้ภาษาเขียนและภาษาพูด เริ่มมีความเข้าใจในเรื่องของเวลาบ้างแล้ว เริ่มดูเวลาได้ อ่านเข็มนาฬิกาเป็น พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้ถึงคุณค่าของเวลาโดยอธิบายให้ลูกเข้าใจง่าย ๆ ว่าเวลาเป็นสิ่งที่มีจำกัด เราไม่สามารถหยุด สะสม หรือซื้อเวลาได้ เวลาเมื่อผ่านไปแล้วจะผ่านไปเลยไม่ย้อนมาอีก การปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์จะทำให้เราพลาดในสิ่งดีต่าง ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งสอนให้ลูกเห็นคุณค่าของการบริหารเวลาว่าจะทำให้ลูกสามารถทำในหลายสิ่งหลายอย่างได้มากมายเมื่อเทียบกับคนที่ไม่บริหารเวลา ฯลฯ

              อย่างไรก็ตามเราพบว่าเด็ก ๆ จะสามารถเข้าใจสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม และชอบในสิ่งที่สามารถจับต้องมองเห็นได้อย่างชัดเจน ดังนั้นการสอนให้เด็กเรียนรู้เรื่องการบริหารเวลาจึงต้องมีตัวช่วยที่ทำให้เด็กเห็นว่าเวลานั้นเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้ โดยตัวช่วยที่ผมขอแนะนำให้เป็นอุปกรณ์ในการสอนลูกเรื่องการบริหารเวลานั้นคือการทำ “ตารางเวลา”  ครับ 
              ตารางเวลาเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากของการเป็นนักบริหารเวลาที่ดี ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ การทำตารางเวลาจะช่วยให้เราเห็นคุณค่าของเวลามากยิ่งขึ้น ฝึกฝนการเป็นนักวางแผน ไม่พลาดหรือหลงลืมในนัดหมายหรือสิ่งสำคัญต่าง ๆ ที่เราต้องทำในแต่ละวัน   

              การฝึกให้ลูกทำตารางเวลาของตัวเองมีประโยชน์อย่างยิ่งในการฝึกฝนให้ลูกใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ฝึกให้เรียนรู้ที่จะไม่ทำตามใจตนเอง มีความรับผิดชอบ มีความคิดรอบคอบ มีเหตุมีผล มีการวางแผนล่วงหน้า มีกรอบกติกาชัดเจนรู้ว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง นอกจากนี้ยังเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ในการใกล้ชิดกับลูกรู้จักลูกมากยิ่งขึ้นและทราบว่าในแต่ละวันนั้นลูกได้ทำอะไรไปบ้าง ใช้เวลาไปในทำในสิ่งที่ไร้สาระหรือไปทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมดีงามมาหรือไม่ เพื่อหาทางช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น

              สอนลูกรักทำตารางเวลาอย่างไร      
              หลักการสำคัญ คือ ต้องทำให้ตารางเวลาเป็นเรื่องที่สนุกสำหรับเด็ก ให้ลูกรู้สึกตื่นเต้นและท้าทายเมื่อทำได้สำเร็จ โดยเริ่มจาก

              ประดิษฐ์ตัวตารางเวลา
 สามารถใช้กระดาษทั่วไป กระดาษสีโปสเตอร์ กระดานไวท์บอร์ด กระดานดำ หรืออาจดัดแปลงมาจากปฏิทินที่มีอยู่แล้วโดยเลือกปฏิทินแขวนหรือปฏิทินตั้งโต๊ะที่มีช่องขนาดใหญ่พอที่จะสามารถเขียนกิจกรรมต่าง ๆ ลงไปได้ และนำมาตกแต่งให้สวยงาม ตีตารางให้เป็นช่องขึ้นกับว่าเราจะทำเป็นตารางเวลารายวัน รายสัปดาห์หรือรายเดือน นอกจากนี้ยังสามารถใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในตีตารางหรือใช้โปรแกรมสำเร็จรูปที่สามารถเลือกรูปแบบของตารางเวลาและพิมพ์ออกมาได้เลย เช่น ในโปรแกรม Microsoft Outlook เป็นต้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันได้มีผู้ผลิตซอร์ฟแวร์สำหรับสอนเด็กทำตารางเวลาโดยตรง พ่อแม่สามารถสรรหามาใช้ได้เช่นกันครับ

              รวบรวมรายการกิจกรรม
โดยพ่อแม่ลูกช่วยกันคิดถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการใส่ลงไปในตารางเวลา โดยแบ่งกิจกรรมตามหมวดต่าง ๆ ได้แก่ 
หมวดกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ อาทิ เวลาเข้านอน ตื่นนอน ทานอาหาร เรียนหนังสือ ทบทวนตำราเรียน ทำการบ้าน ออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ เล่นเกม ดูทีวี เล่นกีฬา เล่นกับเพื่อน ๆ เรียนพิเศษวิชาต่าง ๆ   

              หมวดกิจกรรมในโอกาสพิเศษอื่น ๆ
 อาทิ ทบทวนตำราเรียนในช่วงฤดูกาลสอบ กิจกรรมที่วางแผนจะทำในช่วงปิดเทอม การเดินทางไปเยี่ยมญาติหรือท่องเที่ยวในวันหยุดยาวสุดสัปดาห์  ไปเลี้ยงอาหารเด็กกำพร้าในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น วันครบรอบวันเกิดของคนในครอบครัว เป็นต้น 

              จัดกิจกรรมลงตารางเวลา  
 โดยเริ่มจาก

              …ตั้งเป้าหมาย
ว่าในแต่ละสัปดาห์หรือในแต่ละเดือนนั้นมีสิ่งใดบ้างที่ลูกต้องทำให้เสร็จ ตัวอย่างเช่น .ลูกได้รับมอบหมายงานให้ทำงานประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ส่งคุณครูที่โรงเรียน โดยกำหนดเวลาให้ เสร็จภายใน 1 สัปดาห์ งานนี้พ่อแม่สามารถสอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะซอยเป้าหมายใหญ่ให้ย่อยลงมาด้วยการแบ่งชิ้นงานออกเป็นส่วน ๆ เช่น ใช้เวลา 2 วันในการหาวัสดุ และใช้เวลา 3 วันในการประดิษฐ์งานชิ้นนี้ให้เสร็จ
เป็นต้น

              นอกจากนี้พ่อแม่สามารถกำหนดเป้าหมายพิเศษในแต่ละสัปดาห์หรือในแต่ละเดือนให้กับลูกได้ด้วยเช่นกัน โดยอาจตั้งเป็นชื่อหัวข้อหรือ Theme ที่ดึงดูดน่าสนใจ เช่น ตั้งเป้าว่าให้สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งการท่องอาณาจักรสัตว์โลก โดยสัปดาห์นี้จะเน้นให้ลูกเรียนรู้จักสัตว์ชนิดต่าง ๆ ให้มากที่สุดในแต่ละวันผ่านทางรูปภาพหรือซีดีสื่อการสอน โดยพาลูกไปเห็นของจริงที่สวนสัตว์ด้วยกันในวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น
 
              …จัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องทำในแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือน ว่าสิ่งใดมีความสำคัญมากกว่ากัน อะไรควรทำก่อน อะไรควรทำทีหลัง โดยพ่อแม่ควรรับฟังความคิดเห็นของลูกในการจัดตารางเวลาด้วยเช่นกันและควรจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้สมดุลกันในทุกด้านไม่เอียงข้างจนเกินไป เช่น จัดเวลาให้ลูกเรียนพิเศษอย่างอัดแน่นโดยไม่มีเวลาให้ลูกได้ไปเล่น หรือพักผ่อนหย่อนใจเลย
 
              …ใส่กิจกรรมต่าง ๆ ลงไปในตารางเวลา โดยอาจใช้วิธีเขียนด้วยสีต่าง ๆ เป็นตัวแบ่งประเภทของกิจกรรม หรือใช้เป็นภาพสัญลักษณ์แทนก็ย่อมได้ โดยวางตารางเวลาที่เสร็จเรียบร้อยแล้วนี้ในบริเวณที่สามารถเห็นได้ชัดเจน เช่น หน้าโต๊ะเขียนหนังสือ  ติดที่ผนังกำแพง บานประตู เป็นต้น
 
              ควบคุมการใช้ตารางเวลา โดยการย้อนกลับมาดูและประเมินผลด้วยกันในแต่ละวันว่าลูกสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในตารางเวลาได้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีหรือไม่

              …หากลูกทำไม่สำเร็จ 
ช่วยกันหาว่าเป็นเพราะสาเหตุใด และหาวิธีการช่วยเหลือ เช่น หากสาเหตุมา มาจากตัวลูกเองที่เถลไถล ขี้เกียจ ไม่ทำการบ้านให้เสร็จ พ่อแม่อาจใช้วิธีลงโทษด้วยการสอนในเรื่องค่าเสียโอกาสให้กับลูกด้วยการยกเลิกโปรแกรมไปเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือไม่ให้ลูกเล่นเกมคอมพิวเตอร์ โดยให้ลูกใช้เวลาดังกล่าวไปทำการบ้านให้เสร็จ หรือไปทำความสะอาดบ้านเพื่อเป็นการลงโทษ หรือหากสาเหตุมาจากการวางตารางเวลาที่แน่นเกินไป พ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนให้ใหม่ให้ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับบริบทชีวิตจริง

              …หากลูกทำสำเร็จ
 ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าลูกได้ทำอย่างมุ่งมั่นตั้งใจในการทำตามตารางเวลาที่วางไว้ ไม่ท้อถอยหรือเลิกราไปกลางครัน พ่อแม่อาจให้กำลังใจลูกด้วยการให้เป็นรางวัล โดยการสะสมแต้มคะแนนในแต่ละสัปดาห์แล้วนำมาแลกเป็นรางวัล หรือด้วยการพูดให้กำลังใจให้ลูกทำดียิ่งขึ้นต่อไป      
              นอกจากนี้พ่อแม่ลูกอาจช่วยกันประเมินว่าตารางเวลาที่ทำไว้นั้นเหมาะสมดีหรือไม่ มีอะไรอยากปรับเปลี่ยน มีกิจกรรมอะไรที่มาแทรกกลางครันหรือมีกิจกรรมอะไรที่อยากใส่เพิ่มเติมลงไป ลูกสามารถใช้เวลาว่างต่าง ๆ ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้มากกว่านี้หรือไม่ เช่น ใช้เวลาว่างระหว่างนั่งรถไปโรงเรียนฟังเทปฝึกภาษาอังกฤษไปด้วยพร้อม ๆ กัน เป็นต้น 
              การสอนลูกให้เรียนรู้จักการทำตารางเวลาและการบริหารเวลาของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น เป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ทุกคนควรฝึกฝนลูกตั้งแต่เยาว์วัย เพราะ “เวลาคือชีวิต” ผู้ที่บริหารจัดการเวลาได้ดีย่อมจะบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้ดีเช่นกัน พ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งในเรื่องการเรียน การทำงาน ครอบครัว ฯลฯ จึงไม่ควรละเลยที่จะฝึกฝนลูกให้เป็นนักบริหารเวลาที่ดีตั้งแต่วันนี้ครับ  
 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *