สร้างลูกให้เก่งด้วย Brain Based Learning (BBL)
สร้างลูกให้เก่งด้วย Brain Based Learning (BBL)
โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ปรึกษาด้านวิชาการ SE-ED Learning Center
ฉบับที่ 2 ประจำเดือน กันยายน พ.ศ. 2550 (พบกันทุก ๆ วันที่ 15 – 20 ของทุกเดือน)
1.4 เด็กอยากจะที่จะค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง
สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมักจะต้องพูดถึงเสมอถึงปัญหาในการเรียนรู้ในสังคมเมืองไทยก็คือ เด็ก ๆ มักไม่ชอบเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง ตามสถิตินั้นคนไทยอ่านหนังสือปีละไม่ถึง 4 หน้า ผิดกับประเทศสิงคโปร์ที่ในปีหนึ่ง ๆ เด็กจะอ่านหนังสือประมาณ 50 เล่ม เด็กไทยชอบอ่านหนังสือเฉพาะที่เรียนในห้องเรียน อ่านเฉพาะที่จะออกเป็นข้อสอบ แต่ไม่รักการอ่าน และการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง ไม่รู้จักการตั้งคำถามให้กับตัวเอง การที่เด็กไม่สามารถตั้งคำถามให้กับตัวเองนั้น ผู้เขียนขออธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่พ่อแม่จะต้องเอา Brain Based Learning มาใช้เป็นแนวทางในการเรียนรู้ของลูกนั้น เป้าหมายของการนำเอา Brain Based Learning มาใช้นั้นไม่ใช่ว่าต้องการทำให้เด็กเป็น “อัจฉริยะ” เท่านั้น จะมีประโยชน์อะไรถ้าเด็กอัจฉริยะคนหนึ่งไม่สามารถเข้ากับใครในสังคมได้ ไม่ได้รับความรัก และการยอมรับจากสังคม จะมีประโยชน์อะไรที่เด็กอัจฉริยะคนหนึ่งเก่งแต่คิดคำนวณ แต่ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ท่ามกลางสังคมที่มีการแข่งขันรุนแรงขึ้นทก ๆ วัน ดังนั้นผู้เขียนจึงย้ำว่าเป้าหมายของการเรียนรู้ที่แท้จริงมีอยู่ 3 ประการ คือ
การที่เด็กจะเติบโตขึ้นมาเป็น “คนเก่ง” ซึ่งคำว่า “เก่ง” นี้ผู้เขียนได้เคยอธิบายไว้ว่ามีคำจำกัดความถึง 7 มิติด้วยกันคือ
– เก่งสังเกต เด็กจะต้องมีความสามารถในการช่างสังเกต และจับประเด็นสำคัญในการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับกับความต้องการของเด็ก และเป็นความรู้ที่มีความจำเป็นในการแข่งขัน และดำรงชีวิตในสังคม
– เก่งค้น เด็กจะต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจในการที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง สนุกที่จะค้นคว้าหาความรู้ รักการอ่าน
– เก่งคิด เด็กจะต้องมีตรรกะความคิดอย่างเป็นระบบ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถย่อยความรู้ที่ค้นคว้ามาให้ตกผลึกจนเกิดป็นปัญญาที่นำมาใช้ประโยชน์ได้
– เก่งทำ เด็กจะต้องมีความสามารถในการนำเอาความรู้ และปัญญาที่เกิดขึ้นมาประยุกต์ใช้ ลงมือปฏิบัติ หรือสามารถเชื่อมโยงกับการดำรงชีวิตประจำวันได้
– เก่งเล่า เด็กจะต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดความคิด และความรู้ที่ตนเองได้รับให้กับผู้อื่นอย่างเข้าใจได้ ทั้งการพูด และการเขียน
– เก่งยิ้ม เด็กจะต้องมีความสุข และสนุกที่จะเรียนรู้ มีความสมดุลระหว่างความท้าทาย และความรู้สึกผ่อนคลาย
– เก่งดี เด็กจะต้องมีคุณธรรม มีสำนึกที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมตามวัยที่จะรับได้
การที่เด็กสามารถเลี้ยงชีพได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถบริหารความเสี่ยงในการดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม มีความสามารถในการแข่งขันกับผู้อื่นท่ามกลางสังคมแห่งการแข่งขัน ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น
การที่เด็กสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ได้รับความรักจากสังคมที่ตัวเองดำรงชีวิตอยู่ ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นประชากรที่มีประโยชน์ และมีความภูมิใจในการเป็นมนุษย์ของตัวเอง
ซึ่งคุณสมบัติของ “การพร้อมเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง” นั้นเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก ๆ ที่จะทำให้เป้าหมายในการเรียนรู้ทั้ง 3 ข้อบรรลุผล ผู้เขียนคิดว่าบทบาทของคุณพ่อคุณแม่ จะต้องใช้คำถาม เป็นตัวกระตุ้นให้เด็กรักที่จะค้นคว้า ใช้การค้นคว้าร่วมกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กมีความสุขที่จะค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง
เมื่อเด็ก ๆ เกิดคำถาม หรือความสงสัยเกิดขึ้น ผู้เขียนคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ ไม่ควรที่จะตอบคำถามโดยทันที ควรจะต้องแนะแนวทางให้กับเด็กเพื่อไปค้นคว้าหาความรู้ ถ้าเด็กบ่ายเบี่ยงที่จะค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง ในเบื้องต้นให้คุณพ่อคุณแม่ชักชวนให้ลูกไปร่วมกันค้นหา เช่นอาจจะเปิดอินเตอร์เน็ตค้นหาด้วยกัน เปิดหนังสือด้วยกัน เป็นการค่อย ๆ บ่มเพาะนิสัยในกาค้นคว้าหาความรู้ให้เกิดขึ้นกับเด็ก ผู้เขียนคิดว่าการไปค้นคว้าหาความรู้ด้วยกันเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กมีความสุขที่ได้เรียนรู้
ในบางครั้งเด็ก ๆ สงสัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์ คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่มีความรู้ที่จะตอบคำถามได้ แต่ก็สามารถที่จะนัดหมายชักชวนกันไปพิพิธภัณฑ์ในวันหยุดเป็นการท่องเที่ยวผ่อนคลายเชิงความรู้ไปด้วยกันนอกจากจะส่งเสริมให้เด็กสนุกที่จะเรียนรู้ ยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวอีกด้วย
นอกจากนี้ผู้เขียนคิดว่า หากคุณพ่อคุณแม่สามารถต่อยอดด้วยการ “สอนลูกด้วยคำถาม” จะดีมาก การสอนลูกด้วยคำถามนี้เป็นการทำให้เด็กได้รู้จักช่างสังเกต ช่างเกิดสมมติฐาน เช่น ในหนังสือเรียนมีคำว่า “ดอกยี่โถ” ในวรรณกรรม คุณพ่อคุณแม่อาจจะถามต่อว่า “รู้ไหมว่า ดอกยี่โถ หน้าตาเป็นอย่างไร” จากนั้นในครั้งแรก ๆ อาจจะเฉลยหากเด็กตอบไม่ได้ แต่ในครั้งต่อ ๆ ไป ก็ต้องกระตุ้นให้เด็กค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเอง กุศโลบายแบบนี้จะทำให้เด็กใส่ใจที่จะเรียนรู้ และค้นคว้าได้ด้วยตัวเองตลอดเวลา การที่เด็กคนหนึ่งใส่ใจที่จะเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็ก จะทำให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมเรียนรู้ตลอดชีวิต และพร้อมที่จะเก่งขึ้นในทุก ๆ วัน และนั่นเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กเติบโต และอยู่รอดได้ในสังคมในโลกแห่งความเป็นจริง
1.5 เด็กมีความรู้สึกว่าสิ่งที่ได้เรียนไปนั้นเป็น “สิ่งที่จับต้องได้ (Intangibility)”
การที่มนุษย์จะมีความศรัทธาใน “ความรู้” ก็เพราะว่ามนุษย์มีความเชื่อว่า “ความรู้ที่ได้เรียนรู้ไป จะได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์” ดังนั้นผู้เขียนคิดว่า คุณพ่อคุณแม่จะต้องใส่ใจกับเนื้อหาการเรียนรู้ของลูก และพยายามกระตุ้นให้ลูกได้นำเอาความรู้มาใช้ เช่น เวลาไปรับประทานอาหารกันข้างนอก ก็อาจจะให้ลูกทดลองบวกเพื่อทายว่าราคาทั้งหมดของอาหารมื้อนี้เป็นราคาเท่าไหร่ ได้เอาความรู้มาใช้จริง ๆ
บางครั้งเวลาขับรถก็อาจจะถามลูกว่า เหลือระยะทางอีก 120 กิโลเมตร จะถึงสถานที่ท่องเที่ยว คิดว่าต้องใช้เวลาอีกกี่ชั่วโมง หรือกี่นาทีถึงจะถึง แล้วก็บอกลูกว่าตอนนี้ขับรถด้วยความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น การพาลูก ๆ หรือเด็ก ๆ ไปดูของจริง เช่น หุ่นยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ และอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า “สิ่งที่เขาเรียนรู้ นั้นเป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์ผลงานทางวิศวกรรม ให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้” ก็จะทำให้เด็กเข้าใจว่า “ทำไมต้องเรียนรู้”
การยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในชีวิตจริง และเชื่อมโยงกับความรู้ จะสามารถตอกย้ำให้เด็กตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้อยู่เสมอ เช่น เวลาที่คุณพ่อคุณแม่ และลูกดูสารคดีเกี่ยวกับพันธุกรรม การโคลนโคลนนิ่ง คุณพ่อก็อาจจะยกตัวอย่างว่า “การที่ตั้งใจเรียนรู้วิทยาศาสตร์ จะทำให้สามารถค้นพบสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อโลกได้ในอนาคต” หรืออย่างเวลาเด็กถามว่า ทำไมต้องเรียนวิชาศิลปะด้วย และเด็กมีความต้องการที่จะเรียนวิชาคณิตศาสตร์อย่างเดียว คุณพ่อคุณแม่อาจจะยกตัวอย่างจากชีวิตจริง เช่น การออกแบบ หรือผลิตรถยนต์ หากวิศวกรมีแต่ความรู้ด้านคณิตศาสตร์อย่างเดียว ก็จะไม่สามารถผลิตรถยนต์ที่มีความสวยงามได้ และถ้ารถยนต์ที่ผลิตขึ้นมา แม้ว่ามีประสิทธิภาพสูง วิ่งได้เร็ว แต่ถ้าไม่สวยงาม ก็จะไม่มีใครซื้อ
ผู้เขียนคิดว่าการยกตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้จริงของความรู้ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกว่า “ความรู้เป็นสิ่งใกล้ตัว” และรับรู้ว่า “ความรู้สามารถนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้” และ “มนุษย์ต้องทำหน้าที่ในการนำเอาความรู้มาใช้ประโยชน์”
การให้เด็ก ๆ ได้เล่นของเล่น ที่เชื่อมโยงกับการเรียนหนังสือในห้องเรียนนั้น ก็เป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ อย่างเช่น ของเล่นที่ใช้ในการฝึกทักษะด้านคณิตศาตร์ ก็จะทำให้เด็กได้หัดเอาความรู้มาใช้ประโยชน์ในการเล่นเกมได้ในเบื้องต้น เป็นกุศโลบายที่ผลักดันให้เด็ก ๆ ได้นำเอาความรู้มาใช้ ผู้เขียนเชื่อว่าหากฝึกให้เด็กเอาความรู้มาใช้ผ่านเกม และของเล่นประเทืองปัญญาบ่อย ๆ เข้า เด็กจะยิ่งอยากที่จะเรียนรู้ เพราะเขาได้เคยใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์มาแล้ว และเป็นที่แน่นอนว่า การใช้ประโยชน์จากความรู้ในเบื้องต้นคือ “การเล่นเกม” แต่ในอนาคต ประโยชน์จากความรู้จะต้องส่งผลถึง “การประกอบอาชีพ” อย่างแน่นอน
องค์ประกอบที่ 2 ด้านสังคม
ในองค์ประกอบด้านวิชาการนั้น ผู้เขียนได้อธิบายถึงความจำเป็นของมิติด้านสังคมไปพอสมควร ผู้เขียนยังคงย้ำให้กับผู้อ่านทุกท่านเข้าใจว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” การที่คุณพ่อคุณแม่ให้ลูกเรียน ๆ ๆ แล้วก็เรียน เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก ดังนั้นเมื่อผู้เขียนถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการเลือกโรงเรียนให้กับลูก ๆ ผู้เขียนมักจะแนะนำโรงเรียนใกล้บ้าน ที่เด็ก ๆ สามารถมีเวลาหลังเลิกเรียนเล่นกับเพื่อน ๆ ไม่ต้องเร่งรีบตื่นแต่เช้า พอถึงเวลาเลิกเรียนก็ต้องรีบกลับบ้าน เพราะบ้านอยู่ไกลจากโรงเรียน
ปัจจุบันนี้เด็ก ๆ เกิดขึ้นมาในยุคที่สังคมไทยเป็นสังคมครอบครัวเดี่ยว บางคนเกิดมาปุ๊บก็มีชีวิตอยู่ในคอนโดมีเนียม บ้านจัดสรร ไม่มีโอกาสที่จะออกไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อน ไปขี่จักรยานเล่นกับเพื่อน พ่อแม่ก็ดูเหมือนจะห่วงมากเกินไป จนทำให้เด็กมีโทรทัศน์ และเกมคอมพิวเตอร์ เป็นเพื่อน สถานการณ์แบบนี้ทำให้ประสิทธิภาพทางสังคม การรับรู้ และการเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวของเด็กด้อยลง ผู้เขียนมีความเชื่อว่า ด้วยรูปแบบของสังคมที่เป็นแบบนี้ส่งผลให้เด็กในยุคปัจจุบันมีอัตราการเป็นโรค Learning Disability ในอัตราที่สูงขึ้น เพราะไม่ได้รับการขัดเกลา “ความเป็นสัตว์สังคม” จากเพื่อน ๆ และสังคมรอบข้าง โทรทัศน์ และเกมคอมพิวเตอร์ไม่สามารถตอบโต้ (Interaction) กับเด็กได้เหมือนมนุษย์
การดูโทรทัศน์ เด็กสามารถเลือกช่องที่จะดูได้ตามใจชอบ หากเด็กต้องอยู่ในสภาพแบบนี้ไปนาน ๆ จะทำให้เด็กไม่ยอมฟัง ไม่ยอมรับรู้อะไรในสิ่งที่ตัวเองไม่อยากรับรู้ ไม่อยากเรียนวิชาอะไร ก็จะไม่ทดลองเรียนก่อน ไม่ชอบฟังเสียงคุณครู ก็จะไม่ฟังคุณครู
การดูโทรทัศน์คนเดียว เด็กไม่ได้ถูกฝึกให้โต้ตอบ แสดงความคิดเห็น ดังนั้นเด็กจะกลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจที่จะพูด หรือแสดงความคิดเห็น ดังนั้นการดูโทรทัศน์จึงสมควรที่จะเป็นกิจกรรมของครอบครัว มากกว่าที่จะให้เด็กนั่งดูโทรทัศน์คนเดียวทั้งวัน หรือทุกช่วงเวลาที่ว่าง
การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ จะทำให้เด็กไม่ได้ฝึกการสื่อสาร การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ถูกฝึกให้ก้าวร้าวตามรูปแบบของเกมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน มุ่งแต่จะเอาชนะอย่างเดียว อีกอย่างหนึ่งตามที่ผู้เขียนได้พูดถึงก่อนหน้านี้แล้ว เกมคอมพิวเตอร์นั้น หากเด็กเล่นแพ้ ก็สามารถที่จะโหลดขึ้นมาเล่นใหม่ได้ ทำให้เด็กไม่ได้ถูกฝึกให้ยอมรับกับผลการแข่งขัน ฝึกการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ เพื่อเดินหน้าต่อไป (The Show Must Go on)
การเล่นเกมออนไลน์ เด็กจะสนุกกับการหลอกตัวเอง ว่าตัวเองมีบุคลิกอย่างนั้นอย่างนี้ ตามตัวละครในเกมออนไลน์ และในโลกไซเบอร์นั้น เด็กจะมีความกล้าที่จะทำอะไรไม่ดี เพราะมีความเชื่อว่า “ไม่มีใครจับได้” ซึ่งการมั่วสุมเล่นเกมออนไลน์ จะทำให้เด็กไม่ยอมรับความเป็นตัวของตัวเอง ฝึกให้มีความกล้าในการทำสิ่งผิด ๆ ขาดวิจารณญาณในการตัดสินใจ
ด้วยแนวคิดของ Brain Based Learning คำว่าการเรียนรู้นั้นครอบคลุมไปถึงการเรียนรู้ด้านสังคมด้วย ไม่ใช่การเรียนรู้ทางด้านวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว ดังนั้นพ่อแม่ควรสนับสนุนให้ลูกมีทักษะทางสังคม คุณพ่อคุณแม่บางราย พาลูก ๆ ไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าประจำ ลูก ๆ ได้เล่นกับลูกพี่ลูกน้อง ได้เล่นกับเพื่อน ๆ แถวบ้านคุณปู่คุณย่า ก็เป็นการเรียนรู้ทางสังคมผ่านวิธีการแบบดั้งเดิม คุณพ่อคุณแม่บางคนให้ลูกไปเรียนดนตรี ศิลปะ ตามแต่ที่ลูกชอบ เพื่อจะได้มีโอกาสไปเจอกับเพื่อน ๆ การที่เด็กได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ กับเพื่อน ๆ เป็นแนวทางในการฝึกทักษะทางสังคมที่ดีมาก ๆ
ผู้เขียนมักจะถูกถามถึงสื่อการเรียนรู้ หรือของเล่น หรือเกม ที่สามารถฝึกทักษะด้านตรรกะวิชาการ และทักษะทางสังคมในเวลาเดียวกัน เพื่อจะได้เป็นการบูรณาการการเรียนรู้ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของ Brain Based Learning ที่เน้นการบูรณาการการเรียนรู้หลาย ๆ มิติที่เชื่อมโยงกันในเวลาเดียวกัน ผ่านสื่อที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ และสนุกท้าทายที่จะเข้าถึง ซึ่งผู้เขียนมักจะแนะนำให้เด็ก ๆ รู้จักกับบอร์ดเกม และของเล่นประเทืองปัญญา (Education Toys) ซึ่งผู้เขียนขอเล่าในรายละเอียดเพื่อความชัดเจนที่เพิ่มขึ้น
สื่อการเรียนรู้ตามแนวคิด Brain Based Learning (BBL)
1. บอร์ดเกม (Board Game) และการ์ดเกม (Card Game)
ในประเทศในแถบยุโรป และประเทศอเมริกา เด็ก ๆ จะได้เล่นเกมประเทืองปัญญาต่าง ๆ ก็มีทั้ง Card Game ซึ่งเป็นเกมที่ใช้การ์ด ส่วนบอร์ดเกม เป็นเกมกระดาน โดยทั้ง Card Game และ Board Game เป็นเกมที่เล่นกันหลาย ๆ คน มีลักษณะเป็น Sum Zero Game คือการตัดสินใจดำเนินการใด ๆ ของผู้เล่นอีกคนหนึ่ง จะมีผลต่อการตัดสินใจของผู้เล่นที่เหลืออยู่ Board Game แต่ละเกมจะมีกติกาในการเล่น มีเป้าหมายในการเล่นเกมที่ชัดเจน เช่น การแข่งขันสร้างเมือง การแข่งขันการค้าขาย เป็นต้น Board Game ที่คนไทยรู้จักกันก็คือ เกมเศรษฐี เกมบันไดงู เป็นต้น บอร์ดเกมในทศวรรษ 1970 – 1980 นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกมในครอบครัว (Family Game) เพื่อให้เป็นสันทนาการในครอบครัว และในหมู่เพื่อน ๆ เท่านั้น เมื่อเด็ก ๆ ได้เล่นบอร์ดเกมกับเพื่อน ๆ และคนในครอบครัว ก็จะทำให้เด็กได้มีโอกาสที่จะพูดคุยสื่อสาร รู้จักแพ้ชนะ ยอมรับในกติกาในสังคม บอร์ดเกมในยุคนั้นจึงนับว่าเป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะทางสังคมให้กับเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี
ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ด้วยกระแสของการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain Based Learning: BBL) ทำให้บอร์ดเกมปรับเพิ่มวัตถุประสงค์ในบอร์ดเกมมากขึ้น โดยเฉพาะ “ทักษะการคิด (Thinking Skill)” ซึ่งทำให้ Board Game เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาการทางความคิด ควบคู่ไปกับการพัฒนาการทางสังคม อย่างสมบูรณ์แบบ ประโยชน์ในการเล่น Board Game ในปัจจุบันนี้สามารถสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
1. เด็กได้มีโอกาสสื่อสารกับเพื่อน ๆ ได้สังเกตอากัปกิริยาของเพื่อน ๆ ระหว่างการเล่น ซึ่งต่างกับการเล่นเกมออนไลน์ ที่ทำให้เด็กทิ้งตัวตนของตัวเอง และพยายามฝึกให้เอาชนะเท่านั้น จึงสังเกตได้ว่าเด็กที่ติดเกมออนไลน์ จะมีพฤติกรรมก้าวร้าว อยากได้ต้องได้ และไม่จำกัดวิธีในการได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ หรือบางรายอาจจะมีบุคลิกเงียบเก็บตัว ซ่อนความเป็นตัวตนเอาไว้ ไม่มั่นใจในตัวเอง แต่จะมีความสุขมากเมื่อได้เล่นเกมออนไลน์
2. เด็กได้ฝึกการคิด ฝึกตรรกะในการวางแผน ตัดสินใจ และแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าทีเกิดขึ้น เด็ก ๆ จะถูกฝึกให้วิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการเล่นอย่างช้า ๆ ระหว่างการเล่นบอร์ดเกม แต่สำหรับเกมออนไลน์ หรือเกมคอมพิวเตอร์นั้น เมื่อเด็กตัดสินใจผิดพลาด เด็ก ๆ มักจะโหลดเกมขึ้นมาเล่นใหม่ ซึ่งทำให้เด็กไม่ได้รับการฝึกให้ยอมรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ผู้เขียนมักจะย้ำกับผู้ปกครองว่า โลกแห่งความเป็นจริงไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตได้ เพียงแต่ต้องทำให้เด็กมีทักษะที่จะยอมรับความเป็นจริง และแก้ไขปัญหาเพื่อเดินหน้าต่อไป
3. บอร์ดเกมเป็นเกมที่ต้องเล่นกันหลาย ๆ คน เด็ก ๆ จะเล่นได้เมื่อมีสมาชิกพร้อม ไม่สามารถเล่นคนเดียวได้เหมือนกับเกมคอมพิวเตอร์ จึงไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะเกิดการเสพติดเกมเหมือนกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือเกมออนไลน์ แต่อย่างใด
ในประเทศในแถบยุโรปมีการพัฒนา Board Game อย่างจริงจัง มีรางวัลสำหรับ Board Game ที่มีเล่นได้อย่างสนุกสนานควบคู่ไปกับการฝึกทักษะในการคิด โดยรางวัลใหญ่ ๆ นั้นมีอยู่ 2 รางวัลด้วยกัน คือ รางวัล Spiel Des Jahres และรางวัล International Gamers Awards ซึ่งมีการมอบรางวัลอยู่เป็นประจำทุก ๆ ปี
สำหรับบอร์ดเกมสำหรับคุณพ่อ คุณแม่ หรือคุณครูที่ต้องการใช้เป็นสื่อในการฝึกทักษะการคิดให้กับเด็ก ๆ นั้น ผู้เขียนได้รวบรวม คัดเลือกไว้บางส่วน โดยมีรายการชื่อเกมดังต่อไปนี้
1. เกม และของเล่นประเทืองปัญญา (Educational Toys)
คนไทยคงจะได้รู้จักกับเกมประเภท Crossword Game, Scrabble, Sudoku ตัวต่อเลโก้ หรือตัวต่อประเภทต่าง ๆ ซึ่งประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบของเล่นประเทืองปัญญาเหล่านี้จะเป็นประเทศอิสราเอล ความแตกต่างของเกมประเภทนี้กับ Board Game ก็คือ ของเล่นประเทืองปัญญาจะมีรูปแบบของการเรียนรู้จากการเล่นที่ไม่ได้เน้นไปที่การฝึกการวางแผน คิดเชิงกลยุทธ์ และการตัดสินใจ แต่เน้นไปที่การฝึกทักษะด้านวิชาการ และความคิดสร้างสรรค์เสียมากกว่า อย่างเกมบางเกมเป็นเกมที่ทำให้เด็กสนุกกับการคำนวณทางคณิตศาสตร์ เป็นเกมที่ส่งผลทางด้านวิชาการโดยตรง เกมบางเกมส่งผลต่อการจำศัพท์ภาษาอังกฤษโดยตรง ซึ่งโดยส่วนมากเกม และของเล่นประเทืองปัญญานั้นจะมีรูปแบบการเล่น และกติกา สอดคล้องกับเนื้อหาด้านวิชาการที่เด็กได้เรียนรู้โดยตรง โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งในประเทศไทยนั้นสามารถเข้าไปดูของเล่นเหล่านี้ได้ที่ www.multi-education.com ซึ่งจะมีของเล่นที่เกี่ยวข้องกับการฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์มากมาย ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตยกรูปมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้
สำหรับของเล่นประเทืองปัญญาจำพวกตัวต่อ หรือที่คนไทยมักจะคุ้นเคยกับเลโก้ ก็จะช่วยทำให้เด็กได้ฝึกจินตนาการ ซึ่งการเรียนรู้ผ่านรูปแบบสามมิติบ่อย ๆ จะทำให้เด็กมีความสามารถในการจินตนาการได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา : www.se-edlearning.com