สร้างต้นทุนชีวิตเด็กไทยด้วยแนวคิด “เด็กพลัส” คิดบวก-แก้ปัญหาเป็น-สะกดความโกรธ-ทำประโยชน์ให้สังคม

สร้างต้นทุนชีวิตเด็กไทยด้วยแนวคิด “เด็กพลัส” คิดบวก-แก้ปัญหาเป็น-สะกดความโกรธ-ทำประโยชน์ให้สังคม
by Webmaster | พุธ, 10/21/2009 – 15:22

เด็กพลัส คืออะไร ?
“เด็กพล้ส” ชื่อเล่นของ แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งร่วมกับหลายองค์กร ในการพัฒนากระบวนการสร้างเสริม “ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน” เพื่อเป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังกลุ่มเด็กและเยาวชนจากสภาพแวดล้อมและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่ง “ต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชน”(Developmental Asset; DA) ก็คือ การสร้างคุณลักษณะที่ดีให้กับเด็กด้วย “พลัง 5 พลัง” ได้แก่ พลังตัวตน คือ ต้นทุนที่ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด และการที่หล่อหลอมจากครอบครัวและโรงเรียน พลังครอบครัว คือ ความรัก ความผูกพัน ความอบอุ่น และการสนับสนุนจากคนในครอบครัว พลังสร้างปัญญา คือ การเรียนรู้ของเด็กทั้งจากในและนอกห้องเรียน พลังเพื่อนและกิจกรรม คือ กิจกรรมเสริมทักษะทั้งศิลปะ ดนตรี กีฬา และศาสนา ที่จะช่วยพัฒนาการเข้าร่วมกิจกรรมของเด็กกับกลุ่มเพื่อนและคุณธรรม จริยธรรมไปพร้อมๆ กัน และ พลังชุมชน คือ การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ให้ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ มีจิตอาสา และสามารถอยู่ร่วมกันผู้อื่นได้ ซึ่งเราเรียกเด็กที่มี “ต้นทุนชีวิต” ครบทั้ง 5 พลัง ว่า “เด็กพลัส” หมายถึง เด็กที่มีชีวิตเชิงบวกคิดบวก แก้ไขปัญหาเป็น สะกดอารมณ์โกรธ โมโห ฉุนเฉียวได้ รู้จักทำประโยชน์ให้สังคม พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาที่มีสุขภาวะอย่างเต็มเปี่ยม และมีความพร้อมที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติในอนาคต เหมือนดังสโลแกน “KID D. DO D.(คิดดี ดูดี)”
ใคร คือ เด็กพลัส ?

เด็กและเยาวชนไทยทุกคน สามารถเป็น “เด็กพลัส” ด้วยการสร้างพลังงานทั้ง 5 พลัง ให้กับตนเอง และประกอบกับพลังด้านต่างๆ ที่ช่วยกันหล่อหลอมและช่วยเพิ่มพลังของเด็กพลัสเหมือนอย่างที่ “แก้ว ไดอารี่” ผู้ติดเชื้อ HIV เจ้าของเว็บไซต์ www.kaediary.com พูดถึงพลังตัวตนและพลังครอบครัวว่า “พลังครอบครัว ที่มีความอบอุ่น ความรัก ความเข้าใจ ที่ภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี เมื่อเราต้องประสบกับปัญหาต่างๆ ก็สามารถแก้ปัญหาและผ่านมันไปได้ เพราะครอบครัวเป็นกำลังใจที่สำคัญ ทำให้แก้วสามารถยืนหยัดต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ได้

อีกหนึ่งเด็กพลัส “น้องใหม่” ณัชฎา คงศรี นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ให้ความสำคัญกับพลังเพื่อนและกิจกรรม ชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่เด็กจนวันนี้ได้เป็นนายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) ซึ่งน้องใหม่ได้กล่าวถึงเส้นทางการเป็นนายก อมธ.ว่า “เกิดจากการพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนๆ ว่าอยากจะมีส่วนเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของนักศึกษาที่มองว่า อมธ. เข้าถึงยาก ซึ่งพวกเราพยายามจะเป็น อมธ. ที่เข้าถึงเพื่อนๆ นักศึกษาให้มากที่สุด” และหลังจากที่ผ่านกิจกรรมของมหาวิทยาลัยมาหลายกิจกรรม เช่น งานไหว้ครู น้องใหม่ บอกว่า ภูมิใจในกิจกรรมที่ทำ เพราะได้เรียนรู้ ได้จัดกิจกรรมร่วมกับเพื่อน กับคนอื่น ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ได้สร้างประโยชน์หรือช่วยเหลือผู้อื่น” น้องใหม่ กล่าว

จะเป็นเด็กพลัสได้อย่างไร?

“เด็กพลัส” หรือเด็กแนวบวก กำลังเพิ่มและขยายจำนวนขึ้นในทุกๆ พื้นที่ของสังคมไทย ใครยังไม่แน่ใจว่ามี “พลัง” ครบทั้ง 5 พลังหรือไม่ และมากพอจะเป็นเด็กพลัสแล้วหรือยัง สามารถเช็คระดับความเป็นเด็กพลัสได้ที่ www.dekplus.org แล้วมาร่วมสร้างชุมชน “เด็กพลัส”…เพิ่มต้นทุนชีวิตภายใต้แนวคิดเชิงบวก
ที่มาข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *