สร้างฐานให้ Intangible Asset

สร้างฐานให้ Intangible Asset

โดย แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ [11-5-2007]

ทิ้งท้ายไว้ด้วยเรื่องของ Intangible Asset ที่เป็นหัวใจของ Knowledge Based Economy ที่ดูเหมือนบ้านเรายังไม่มีความพร้อมมากนักในแง่ของการสร้างคนระดับปัญญาชนป้อนให้กับภาคธุรกิจและ
อุตสาหกรรม
หันมาดูกันในแง่ของการส่งออกกันบ้าง เพราะสินค้าส่งออกของบ้านเราก็คือกลไกหลักในการหารายได้เข้าประเทศ ซึ่งน่าคิดว่าในบรรดาสินค้าที่ส่งออกไปนั้นมีมูลค่าเพิ่มที่ได้จากทรัพย์สินทางปัญญาของเรามากน้อยแค่ไหน คงต้องลองวิเคราะห์ดูจากอันดับสินค้าส่งออกของบ้านเรากัน
อันดับ 1 Computer & Computer Parts อันนี้ต้องยอมรับว่าบ้านเรารับจ้างผลิตและส่งออกไป และนำเข้าอีกครั้งหนึ่ง เพราะเราไม่มีอุตสาหกรรมนี้ในประเทศอย่างจริงจัง ไม่มีทั้ง R&D อุตาสาหกรรมนี้
ในบ้านเราจึงแค่อาศัยแรงงานอย่างเดียวเท่านั้น
อันดับ 2 รถยนต์ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ ซึ่งก็เช่นเดียวกัน เพราะบ้านเราไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยีของไทยเป็นแต่เพียงแรงงานเท่านั้น
อันดับ 3 แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ก็ไม่ใช่เทคโนโลยีของไทย อาศัยแต่แรงงานเช่นเดียวกัน
อันดับ 4 ยางพารา วัตถุดิบทั้งหมดเป็นของไทย และส่งออกเป็นวัตถุดิบเพื่อให้ประเทศเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์อื่นที่มีราคาสูงกว่า
อันดับ 5 Plastic Material ก็ใช้แรงงานในการผลิตเท่านั้น เพราะบ้านเรายังไม่มีเคมีภัณฑ์ หรือสูตรต่างๆ ในการพัฒนาวัตถุดิบ
อันดับ 6 Jewelry เครื่องประดับ ซึ่งไทยออกแบบลวดลายต่างๆ ได้ และการเจียระไน ซึ่งมีทรัพย์สินทางปัญญาในด้านนี้อยู่พอสมควรแต่ก็ยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับตลาดโลก
อันดับ 7 น้ำมัน ซึ่งเราเป็นผู้นำเข้ามา และทำการกลั่นเพื่อส่งออกอีกทีหนึ่ง
จากทั้งหมดนี้ เมื่อวิเคราะห์แล้ว จะพบว่าเราเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าส่งออกของเราเองได้น้อยมาก เพราะเกือบทั้งหมดนั้นมีผลงานการค้นคว้าและการวิจัยพัฒนา เพิ่มเข้าไปน้อยมาก ตอกย้ำความเป็นจริงที่ว่าเราถนัดแต่การขายแรงงานมากกว่า
การที่ไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าในแง่ทรัพย์สินทางปัญญา หรือการสร้างมูลค่าเพิ่มจาก Intangible Asset ได้เป็นเพราะระบบการศึกษาของไทยหรือมีข้อจำกัดอื่นๆ อีกหรือไม่ ก็คงต้องมาดูกรณีศึกษาของประเทศที่ผลักดันเรื่องนี้ได้สำเร็จ เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ค
เริ่มจากฟินแลนด์ที่มีประชากรแค่ 5.2 ล้านคน แต่มีรายได้ต่อประชากรค่อนข้างสูง คือ 32,800 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี โดยอุตสาหกรรมมีชื่อเสียง คือโทรศัพท์มือถือโนเกียที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงที่สุดในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
หรือสวีเดน ที่มีรายได้ต่อประชากรใกล้เคียงกันคือ 31,600 เหรียญสหรัฐฯ มีประชากร 9 ล้านคน โดยอุตสาหกรรมที่มีชื่อเสียง คือ Ikea ซึ่งเป็นร้านเฟอร์นิเจอร์ที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดในโลก เครื่องใช้ไฟฟ้า Electrolux และรถยนต์ Volvo, SAAB
ส่วนเดนมาร์ก มีประชากร 5.4 ล้านคน อุตสาหกรรมมีชื่อเสียง คือของเล่นเด็ก LEGO ที่บ้านเรารู้จักกันดี ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้สรุปให้เราเห็นได้ว่าประเทศใหญ่หรือเล็กไม่สำคัญ แต่อยู่ที่คุณภาพของคนเป็นหลัก
กลับมาที่บ้านเรา หากพูดถึงยี่ห้อของไทยที่จะมีความสามารถสร้างเป็นยี่ห้อระดับโลกนั้นยาก ทั้งที่รู้ว่าคุณค่าของยี่ห้อมีคุณค่าและพลังมาก แต่ต้องปูพื้นความพร้อมเอาไว้ตั้งแต่เด็กๆ เช่น ฟินแลนด์ให้ความสำคัญตั้งแต่เกิด คือทุกคนเกิดแล้วมีกองทุนให้ทันที ครอบครัวนี้มีเด็กกี่คนพ่อแม่จะต้องมีทุนอุดหนุนเด็กตั้งแต่เกิด
รัฐบาลยังส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีความสามารถ และสร้างนิสัยรักอ่าน จนมีผลวิจัยว่ากว่า 40% ของเด็กฟินแลนด์รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ และหากวิเคราะห์เฉพาะนักศึกษาเทียบกับหลายๆประเทศพบว่าฟินแลนด์มีความสามารถในการวิเคราะห์และมี logic ที่ดีที่สุด
ความพร้อมทั้งหมดนี้แปลออกมาเป็นแรงงาน เป็นนักอุตสาหกรรม และเป็นนักบริหารที่ดี โดยรัฐบาลก็จะให้การสนับสนุนไปตลอด เช่นมีห้องสมุดมากกว่าพันแห่ง พิพิธภัณฑ์อีก 300 แห่งสร้างให้ทุกที่เอื้ออำนวยให้เรียนรู้ ซึ่งทั้งหมดนี้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าฟรีทั้งหมด
ในขณะที่รายการโทรทัศน์ ก็ให้การส่งเสริมรายการที่ดีและจุดประกายให้เด็กรุ่นใหม่สนใจใฝ่รู้เรื่องต่างๆรอบตัว ทั้งความรู้วิชาการและความรู้รอบตัว ซึ่งรายการส่วนใหญ่ยังแฝงการเรียนรู้ภาษาต่างๆไปด้วยในตัว
ความสำเร็จของฟินแลนด์สะท้อนให้เราเห็นว่าความสำเร็จของประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับทุกส่วน ตั้งแต่ครอบครัว ระบบการศึกษา วัฒนธรรม ค่านิยมในสังคม ธุรกิจ อุตสาหกรรม และนโยบายของรัฐบาล
ทั้งหมดนั้นต้องประสานเสียงให้เป็นหนึ่งเดียว และต้องก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน ซึ่งมองในมุมนี้แล้วผมคิดว่าจะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าให้ได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของคนไทยแน่นอนครับ แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาจริงและลงมือทำอย่างจริงจังแค่ไหน เพื่อเป็นการนำพาเข้าสู่ความเจริญและความสามารถในการแข่งขันกับนานาประเทศ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะแปรกลับมาที่ความอยู่ดี กินดี และคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศเราดีขึ้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *