สร้างกำลังใจ..ด้วยคำชมเชย
|สร้างกำลังใจ..ด้วยคำชมเชย |
วันที่ : 11 มิถุนายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ |
ในทางจิตวิทยาเคยมีการสำรวจพบว่า ทรัพย์สินเงินทองกลับไม่ใช่สิ่งยอดปรารถนาของคนทั่วไป แต่เป็นการได้รับการยกย่องนับถือในองค์กรหรือบริษัทที่ตนทำงานอยู่
สะท้อนให้เห็นว่าคนเราทุกคนล้วนต้องการเป็นคนสำคัญและได้รับการชื่นชมจากผู้อื่น อาจกล่าวได้ว่า เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องการได้รับคำชมเชย เมื่อทำบางสิ่งบางอย่างได้ดี หรือประสบความสำเร็จ อันจะทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ เกิดความมั่นใจในความสามารถของตนเอง และมีกำลังใจที่จะทำสิ่งนั้นต่อไป
ดังนั้น ในฐานะผู้นำ สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ หากต้องการสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง มุ่งมั่นทำงานอย่างเต็มกำลัง ร่วมผูกพันอย่างเต็มใจ บรรลุเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือ การกล่าวชมเชย
ที่สำคัญ เราควรเรียนรู้ว่าจะเอ่ยชมเมื่อใดและอย่างไรด้วย เพื่อให้คำชมของเรานั้นเกิดผลในเชิงบวกต่อทีมงาน สิ่งที่เราควรเรียนรู้ ได้แก่
ชมเชยด้วยความจริงใจ
บุคคลหนึ่งกล่าวจากประสบการณ์ว่า “คำชมเชยที่ปราศจากความจริงใจนั้น แย่เสียยิ่งกว่าไม่พูดอะไรเลยเสียอีก” คำกล่าวนี้เป็นจริงอย่างปฏิเสธไม่ได้ เพราะคนรับย่อมสัมผัสได้ถึงความจริงใจ ดังนั้น เราจึงควรชมผู้ร่วมงานออกมาด้วยความจริงใจ ควรเอ่ยชมทีมงานตามความเป็นจริง ตามที่เขาควรจะได้รับเท่านั้น มิใช่เสแสร้งหรือเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง
ชมเชยสิ่งดีที่ได้ทำ แม้เล็กน้อย
เราต้องคิดไว้เสมอว่า ทุกคนย่อมมีบางสิ่งบางอย่างที่เราสามารถเอ่ยชมเขาได้ แม้เป็นสิ่งเล็กน้อยก็ตาม เมื่อเราทีมงานกระทำสิ่งดี มีนิสัยส่วนตัวที่ดีที่ได้แสดงออก เช่น ความมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมงาน การเสียสละเวลาส่วนตัวเพื่อไปช่วยเหลืองานภาพรวมขององค์กร เป็นต้น เราไม่ควรละเลยที่จะเอ่ยชม เพื่อเป็นกำลังใจให้กระทำสิ่งนั้นต่อไป
ชมเชยอย่างยุติธรรม
เมื่อผู้ร่วมงานของเรากระทำสิ่งดี มีค่าแก่การชมเชย เราควรให้เกียรติเขาด้วยการชื่นชมอย่างเปิดเผยต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้เกียรติแล้วยัง เป็นการช่วยให้ทีมงานคนอื่น ๆ ได้เห็นแบบอย่างการกระทำที่น่ายกย่อง และเรียนรู้ที่จะกระทำตามบ้าง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังสำหรับผู้นำคือ เราจำเป็นต้องชมเชยให้ทั่วถึง ไม่เพียงเลือกชมเพียงบางคน แต่ต้องคิดว่า แต่ละคนนั้นต่างมีส่วนดีที่เราสามารถชมเชยเขาได้เสมอ เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่า เราในฐานะหัวหน้ามีความยุติธรรม ไม่ลำเอียง เพราะหากหัวหน้าเลือกชมบางคน จะทำให้คนที่ไม่เคยได้รับคำชมเชยเลยนั้นเกิดความรู้สึกท้อแท้ใจ รู้สึกไม่มีคุณค่าในสายจากหัวหน้างาน เกิดความรู้สึกหมดกำลังใจในการทำงานให้ดีต่อไป
อย่าประหยัดคำชม – แต่ไม่พร่ำเพรื่อ
เราไม่ควรยั้งปากของเราในการเอ่ยชมเชยทีมงาน เมื่อเห็นเขาทำบางสิ่งได้ดีหรือทำสิ่งที่มีค่าควรแก่การชม อย่าประหยัดคำพูดชมเชยเพราะคิดว่าเขารู้แล้ว หรือเกรงว่า หากชมมาก ๆ อาจทำให้ได้ใจ หยิ่งทะนง คิดว่าตนดีหรือเก่งกว่าผู้อื่น ในทางกลับกัน เราต้องตระหนักว่า คนที่ตั้งใจทำงาน แต่ไม่มีใครชมเขา โดยเฉพาะหัวหน้างาน ย่อมเท่ากับเป็นการสร้างความรู้สึกท้อแท้ใจ หรือรู้สึกขาดความมั่นใจในสิ่งที่ทำ หรือบางคนอาจไม่รู้ตัวเลยว่า เขามีสิ่งดีที่ควรค่าแก่การได้รับคำชม จนกระทั่งได้ยินจากปากของเรา
ขณะเดียวกัน เราไม่ควรชมคนอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดความเคอะเขินแก่ผู้รับแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดความรำคาญ เกิดความรู้สึกว่าไม่จริงใจก็ได้ เราควรรู้จักขอบเขตของคำชมเชย นั่นคือ เอ่ยคำชมหรือแสดงความชื่นชมเท่าที่เขาจะรู้และสัมผัสได้เท่านั้น
“คำชมเชยเปรียบได้กับกระจกสะท้อนคุณค่าให้ผู้อื่นเห็นคุณความดีที่เขามีหรือที่เขาได้ทำ เพื่อเป็นกำลังใจให้เขามุ่งมั่นทำสิ่งนั้นต่อไป
ผมได้กล่าวไว้ในหนังสือ สุขวาทะ เรื่อง นิยมชมเชย ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพูดชมเชยผู้อื่นเมื่อเขากระทำสิ่งที่ดี คำกล่าวชมเชยของเราในฐานะ “ผู้นำ” นั้น ย่อมเป็นเหมือนรางวัลอันมีค่า ช่วยสร้างแรงจูงใจและเพิ่มพลังที่ช่วยให้เกิดกำลังใจให้ทีมงานที่ได้รับคำชมจากเรานั้น ทุ่มเททำงานอย่างเต็มที่ สุดกำลังความสามารถต่อไป
|