สมองเสื่อม-นายสุดสายชล หอมทอง
สมองเสื่อม
นายสุดสายชล หอมทอง
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์
เมื่อพูดถึงโรคสมองเสื่อม คนส่วนมากจะนึกถึงโรคอัลไซเมอร์ก่อนอย่างอื่น แต่ความจริงสมองเสื่อมมิได้เป็นโรค แต่เป็นภาวะหนึ่งของสมอง ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ โดยที่อัลไซเมอร์ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุเหล่านั้น ภาวะสมองเสื่อม(dementia) นั้นต่างจากความจำเสื่อม(forgetfulness)โดยมักมีอาการอื่นนอกจากความจำเสื่อมร่วมด้วย และมักมีผลต่อชีวิตประจำวัน อาการอื่นๆเช่น นึกคำพูดไม่ออก บวกลบเลขง่ายๆไม่ได้ ไม่สามารถทำอะไรง่ายๆที่เคยทำเป็นประจำได้ เช่น ติดกระดุมเสื้อเองไม่ค่อยได้ พฤติกรรมหรือบุคลิกเปลี่ยนไปจากเดิม เช่นเดิมเป็นคนเรียบร้อย พูดจาไพเราะก็กลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง บางคนเคยรักความสะอาด รักสวยรักงามก็กลายเป็นคนไม่ดูแลตัวเอง ปล่อยให้บ้านรกรุงรัง
อาการของสมองเสื่อมมีสาเหตุอยู่ด้วยกันหลายประการด้วยกันคือ 1.มีอาการเสื่อมหรือตายของเนื้อสมองซึ่งส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ ไม่ทราบว่าสิ่งใดกระตุ้นทำให้เกิดอาการดังกล่าวโรคที่พบบ่อยในกลุ่มนี้คือ อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน 2. หลอดเลือดสมองมีการหนาตัว หรือแข็งตัว หรือมีการตีบของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ถ้าลดลงมากจนถึงระดับที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งานของสมองจะทำให้เนื้อสมองฝ่อและตายจากการขาดเลือด 3. ติดเชื้อในสมอง ทำให้เนื้อสมองเสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่สมองเสื่อมที่ เกิดจากสาเหตุนี้มักพบในคนที่มีอายุน้อย 4. เกิดจาการขาดสารอาหารบางชนิด โดยเฉพาะวิตามิน เช่นผู้ที่ดื่มเหล้าจัดหรืออเป็นพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินมังสวิรัชนานๆโดยไม่สนใจเรื่องอาหารหลักห้าหมู่ ทำให้ขาดสารอาหารบางตัว เช่นวิตามินบีสิบสอง 5.เกิดจากเนื้องอกในสมองโดยเฉพาะเนื้องอกที่เกิดด้านหน้าสมอง ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการแบบที่พบในเนื้องออกสมองงส่วนหน้าเช่น แขนขาไม่มีแรง มองเห็นภาพซ้อน แต่จะมีอาการเกี่ยวกับบุคลิกภาพ ความจำ และการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงอันเป็นลักษณะของผู้ป่วยสมองเสื่อม 6. ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนแบบซ้ำซาก เช่น ประสบอุบัติเหตุ ถูกทำร้ายบริเวณศีรษะ เพราะมีการต่อสู้ เช่นนักมวย นักกีฬาที่ต้องใช้ศีรษะกระแทก ทำให้เนื้อสมองที่ถูกกระแทกตายไป จึงทำให้การทำงานของสมองไม่ปกติ 7. เกิดจากการทำงานผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ตับ ทำให้การขับสารพิษมีประสิทธิภาพน้อยลง หรือไตที่ไม่สามารถขับของเสียได้
สำหรับความรุนแรงของสมองเสื่อมสามารถแบ่งได้เป็น 3 ระยะดังนี้ ระยะแรกมักจำเรื่องบางเรื่องไม่ได้ โยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งพูดหรือเพิ่งทำไป จึงพูดเรื่องซ้ำๆทำกิจกรรมซ้ำๆแต่ยังจำเรื่องสมัยหนุ่มสาวได้ชัดเจน แต่ถ้าเกตดีๆจะเห็นว่าการเล่าเรื่องแต่ละครั้งรายละเอียดบางอย่างไม่เหมือนกัน บางครั้งเรียกสิ่งของที่เป็นชื่อเฉพาะไม่ถูก เช่น นาฬิกา รู้แต่เพียงว่าใช้ดูเวลา ใช้เวลาในการทำกิจกรรมบางอย่างนาน เช่น การเข้าห้องน้ำเรี่ยราด ระยะนี้ผู้ป่วยจำนวนมากเริ่มรู้ว่าตัวเองผิดปกติ แต่เมื่อไปพบแพทย์มักไม่สามารถตรวจพบความผิดปกติที่ชัดเจนได้ ระยะที่สองเป็นระยะที่ผู้ป่วยมักสูญเสียความทรงจำใกล้ๆมากขึ้น เช่นจำไม่ได้ว่ากินข้าวไปแล้ว ไม่อาบน้ำ ลืมไปว่าต้องตัดเล็บ จนอาจมีปากเสียงกับคนรอบข้าง บางคนชอบออกนอกบ้านและหลงทางเพราะจำทิศทางไมได้ ทั้งที่เคยไปอยู่เป็นประจำ บางครั้งเรียกชื่อคนผิดๆถูกๆ ความเฉลียวฉลาดลดลง ไม่สามารถบวกเลขได้ถูกต้อง ระยะที่สามเป็นระยะที่ผู้ป่วยมีความจำเสื่อมลงมาก จำคนใกล้ชิดไม่ได้ แม้แต่สามี ภรรยา ลูก บางครั้งจำตัวเองไม่ได้ กินอาหารเลอะเทอะมอมแมมไม่สามารถบอกเกี่ยวกับการขับถ่ายได้ อุจาระปัสสาวะไม่เลือกที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลงทุกที
สำหรับการรักษาสมองเสื่อมมีรายงานทางการแพทย์อธิบายว่าบางอาการรักษาได้ แต่บางอาการรักษาไม่ได้ เพราะสมองเสื่อมเกิดจากหลายสาเหตุดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ถ้าสมองเสื่อมเกิดจากการสารอาหารบางอย่าง หรือผู้ป่วยมีอาการแปรปรวนของระบบเมทาบอลิก(metabolic) ของร่างกาย เมื่อได้รับการรักษาแล้ว อาการมักดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมีอาการมากาน้อยเพียงใด ความเสียหายของสมองมีมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มากนักละได้รับการรักษาแล้ว อาการมักดีขึ้น อาการจะทรงอยู่ในลักษณะนั้นเรื่อยๆไป ส่วนกรณีที่เกิดจากการเสื่อมสลายของสมอง ปัญหาหลอดเลือดสมอง การติดเชื้อในสมองการกระทบกระแทก มักไม่สามารถรักษาได้ อาจมียาบางอย่างช่วยให้การดำเนินของสมองเสื่อมช้าลง แต่ในที่สุดอาการจะรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ยังไม่สามารถค้นพบสาเหตุของการเป็นสมองเสื่อมที่ชัดเจน การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการประคับประคอง รักษาไปอาการ หรือชะลอการดำเนินไปของสมองเสื่อม ดังนั้นเมื่อเกิดความผิดปกติจึงควรพบแพทย์ เพื่อรับวินิจฉัยว่าเป็นเสื่อมหรือไม่ นอกจากวิธีการรักษาแล้วยังมีรายงานการวิจัยซึ่งกล่าวไว้ว่า การออกกำลังกายหรือการใช้สมอง ใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา รวมถังการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สามารถช่วยลดหรือชะลอความเสื่อมของเซลล์ในสมองและส่วนต่างๆของร่างกายได้ ดังนั้นเมื่อผู้ฟังได้รับความรู้เกี่ยวกับสมองเสื่อมไปแล้วหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงจะนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์กับตนเองและคนใกล้ชิด รวมทั้งอย่าลืมออกกำลังกายบ้าง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบห้าหมู่ รู้จักใช้ความคิดบ้างไม่ใช่อยู่ไปวันๆโดยไม่คิดอะไรเลย เมื่อท่านผู้ฟังปฏิบัติแค่นี้ท่านก็สามารถชะลอความเสื่อมของสมองได้แล้วแถมยังมีร่างกายที่แข็งแรงด้วย.