สภาวะลื่นไหล (5)
สภาวะลื่นไหล (5)
(4) ได้ทำ
นี่คือองค์ประกอบสุดท้ายที่จะทำให้คนเราสามารถเข้าไปอยู่ในสภาวะไหลลื่นได้ นอกเหนือจากการได้มีโอกาสทำงานยาก ทำงานท้าทาย และเขามีความสามารถ มีทักษะสูงพอที่จะทำมันได้ รวมทั้งเขามีแรงจูงใจ มีความอยากมากเพียงพอที่จะทำมันแล้ว ที่เหลือก็คือ เขาก็ต้องลงมือทำมันจริงๆ เสียที! เขาต้องเริ่มต้นจากตรงไหนสักแห่ง เขาต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อการนั้น
เรื่องนี้ ก็จะมีเงื่อนไขบางสิ่งบางอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่จะเป็นเครื่องชี้ว่าเขาผู้นั้นจะได้ทำจริงๆ ได้หรือไม่ อาทิเช่น :-
– เขาผู้นั้นมีโอกาสเข้าไปอยู่ในอาชีพที่ถูกต้องหรือไม่?
– เขาผู้นั้นเข้าไปอยู่กับกลุ่มคน หรือองค์กรที่ถูกต้องหรือไม่?
– เขาผู้นั้นเข้าไปอยู่ในเวลา และหรือสถานที่ที่ถูกต้องหรือไม่? และสุดท้าย..
– เขาผู้นั้นได้ทำสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่?
ซึ่งอาจอธิบายในประเด็นเหล่านี้แต่พอสังเขปได้ดังนี้
การที่จะได้ทำในสิ่งที่ต้องทำ ให้ได้จริงๆ นั้น คนผู้นั้นก็ควรหาทางพาตนเองให้เข้าไปอยู่ในวงการ ไปอยู่ในอาชีพที่สอดคล้องกับพรสรรค์ หรือความถนัดแท้จริงของเขาให้ได้ เขาต้องค้นหา “งานแห่งชีวิต” ของเขาให้พบให้ได้โดยเร็ว เพราะเวลาที่เหลือ เขาจะได้มุ่งสร้างสรรค์สู่ความเป็นเลิศเท่านั้น มิใช่มัวไปมะงุมมะงาหราค้นหาอะไรอยู่ ถ้ารู้ตัวว่าเป็นมังกร ก็อย่าเสียเวลาไปเกยน้ำตื้นอยู่ จงมุ่งหาหนทางไปฟาดหัวฟาดหางที่กลางทะเลลึกโน่นให้จงได้!
มีคำกล่าวว่า “สิ่งที่สำคัญจริงๆ นั้น ไม่อาจกระทำสำเร็จได้โดยลำพัง” และ “ความสำเร็จของคนเรานั้น มักเป็นผลมาจากผู้อื่นเสมอ” ดังนั้น ในข้อนี้ เขาผู้นั้นก็ต้องพาตัวเองให้เข้าไปอยู่ในหมู่คนที่จะสามารถพาเขาขึ้นสู่ที่สูงให้ได้ เขาจะต้องจำไว้ให้ขึ้นใจทีเดียวว่า “พญาอินทรีนั้นจะไม่ไปคลุกคลีกับอีแร้งอย่างเด็ดขาด!” และเขาต้องตราไว้ในใจทีเดียวว่า “ต้องช่วยผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จก่อนเท่านั้น เราจึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้”
สำหรับเรื่องของ “จังหวะ” และ “เวลา” นั้น อาจยังไม่ใช่ประเด็นใหญ่โตอะไรนักที่จะต้องนำมาพิจารณา เพราะการทำสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมาย มีความยิ่งใหญ่ เป็นประโยชน์ต่อผู้คนและโลกใบนี้ นั้น มันเป็นเรื่องที่ “ถูกเวลา” เสมอ (ต่างกับเรื่องทางธุรกิจ เพราะการนำเสนอสินค้าและบริการ ในเวลาที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกเวลา อาจหมายถึงความหายนะ!) สิ่งที่ควรมุ่งเน้นในประเด็นนี้ ก็คือ ความกล้าตัดสินใจที่จะลงมือทำในสิ่งที่ต้องทำ โดยไม่ต้องรอให้มีใครมาบอกให้ทำ ไม่ต้องรอแรงบันดาลใจอะไรไปมากมาย ไม่ควรพิรี้พิไร อย่าโอ้เอ้วิหารราย อย่ามัวแต่เงื้อง่าราคาแพง อย่าเป็นแบบที่สำนวนนิยายกำลังภายในของจีนที่ว่าไว้ว่า “ขนาดจะผายลม ยังต้องถึงกับถอดกางเกง!”
ในประเด็นนี้ ก็อาจมีเรื่องต่อเนื่องที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปด้วย คือ เหตุใดคนที่รู้ว่าควรต้องทำอะไร และเขาก็ทำมันได้เสียด้วย มิหนำซ้ำเขาก็อยากทำมันจริงๆ แต่เขากลับไม่ยอมลงมือทำอะไรเสียทีหนึ่ง? เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นไปได้? คำตอบมันน่าจะอยู่ที่ว่า เขาผู้นั้นมี “ความบกพร่องในการเลือกและตัดสินใจ” และอาจหมายถึงว่าเขาผู้นั้นติดอยู่ใน “กับดักของความกลัว” มากจนเกินไป เขากลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์ (ความหมายเดียวกับกลัวไม่เป็นที่ยอมรับ กลัวความแปลกแยก) หรือมิฉะนั้นเขาก็อาจกลัวการเปลี่ยนแปลง (ความหมายเดียวกับกลัวความไม่มั่นคง กลัวไม่ปลอดภัย) หรือเขาอาจจะกลัวความล้มเหลว (ความหมายเดียวกับกลัวความสำเร็จ กลัวตัวจริงของตัวเอง) ดังนั้น การที่จะสามารถได้ทำจริงๆ ในสิ่งที่ต้องทำนั้น ก็ต้องเอาชนะความกลัวทั้งหลายแหล่นั้นให้ได้ ต้องมี “ความกล้าหาญ” มากพอที่จะทำมัน บางคนอ่านข้อความที่ ดร.ซูซาน เจฟเฟอร์ส กล่าวไว้ (ดังที่ได้อ้างไว้ในตอนหนึ่งของข้อเขียนนี้) แล้ว เขาก็ค่อยมีความกล้าขึ้น (จะให้ดี ลองไปหาหนังสือนี้มาอ่านทั้งเล่ม ก็จะเป็นประโยชน์มาก หนังสือ “Feel the fear and do it anyway” ของ ดร.ซูซาน เจฟเฟอร์ส นี้ สำนักพิมพ์โกมล คีมทอง ได้นำมาแปลและจัดพิมพ์ในภาคภาษาไทย โดยมีชื่อว่า “ก้าวพ้นความกลัวด้วยตัวคุณเอง”)
เมื่อความเหมาะสมของเงื่อนไขต่างๆ มันพร้อมแล้ว มันถูกต้องแล้ว ที่เหลือเราก็แค่ “ทำในสิ่งที่ถูกต้อง” เท่านั้น นี่ก็อาจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคนิค วิธีการ เครื่องมือต่างๆ ที่จะสามารถทำให้เราสามารถทำสิ่งนั้นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เราต้องมีการบริหาร การจัดการที่ดี มีการวางแผน มีการจัดสรรสรรพกำลัง (หรือจัดการกับทรัพยากรต่างๆ ทั้งคน เงิน สิ่งของ องค์ความรู้ เทคโนโลยี ฯลฯ) มีการบริหารขับเคลื่อนทั้งของและคนที่เราต้องเกี่ยวข้องให้ดำเนินไปอย่างทรงพลัง และมีการควบคุม ประเมินผลอย่างถูกต้องเหมาะสม สิ่งเหล่านี้นับเป็นเรื่องจำเป็น เพราะความตั้งใจที่ดี แต่ด้วยวิธีทำที่แย่ นั้น มันก็ไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ได้เช่นกัน
คนเรานั้น เมื่อเกิดมาชาติหนึ่ง ก็ควรทำงาน และหรือทำกิจกรรมใดๆ ได้อย่างมี “สภาวะไหลลื่น” หรือสามารถเข้าไปอยู่ใน “มณฑลแห่งพลัง” นั้นให้ได้ เพราะการเข้าไปอยู่ในสภาวะนี้ได้ มันจะทำให้เราบรรลุถึงศักยภาพสูงสุด มีพลังสร้างสรรค์สูงสุด มีความสุข มีความพึงพอใจ มีความอิ่มเอมใจ มีความปิติ สูงสุด และที่สำคัญ มันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนและโลกใบนี้ได้อย่างสูงสุด! นี่จึงอาจกล่าวได้ว่า เกิดมาแล้ว นับว่าไม่เสียชาติเกิดจริงๆ!!