สภาวะลื่นไหล (3)

สภาวะลื่นไหล (3)

(2) ทำได้

หากความสามารถสูง แต่ต้องไปทำแต่งานง่ายๆ มันทำให้คนเราเกิด “ความเบื่อหน่าย” ไม่สามารถเข้าไปอยู่ใน “สภาวะไหลลื่น” (Flow) ตามที่ได้กล่าวไปในองค์ประกอบที่หนึ่งแล้วละก็ การต้องไปเจอกับงานที่ยาก ในขณะที่ความสามารถต่ำนั้น มันก็ก่อให้เกิด “ความเครียด” และทำให้เราต้องตกอยู่ใน “สภาวะติดขัด” (Clog) ไปได้เหมือนกัน
มีข้อสังเกตสองสามประการในเรื่องนี้ กล่าวคือ
ประการแรก คนที่สามารถค้นพบว่าตนเองนั้นมีความถนัดแท้จริงในด้านใด หรือมีพรสวรรค์ หรือมีจุดแข็งในเรื่องใด หรือมีความเป็นอัจฉริยะในด้านใด และมีโอกาสได้ทำงานที่สอดคล้องกับความถนัดนั้น พรสวรรค์นั้น หรือจุดแข็งนั้น แล้วละก็ องค์ประกอบนี้ก็แทบจะไม่เป็นปัญหาเลย เพราะเขาจะไม่รู้สึกว่ามันจะเป็นเรื่องยากลำบากอะไรเลย แม้เขาอาจจะยังทำไม่ได้ แต่เขาก็รู้สึกลึกๆ อยู่ในใจว่าเขาสามารถฝึกฝนมันได้ เขาจะเพลิดเพลินในการฝึกฝนเรียนรู้อย่างชนิดไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และเขาก็จะฝึกฝนเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วมากด้วย เขาแทบจะหลงลืมเรื่องเวลาไปเลย เขาได้เข้าไปอยู่ในสภาวะไหลลื่น และหรือเข้าไปอยู่ในมณฑลแห่งพลังเรียบร้อยแล้ว
ประการที่สอง ไม่ว่าจะสอดคล้องกับพรสวรรค์หรือไม่ คนที่มีทัศนคติในแง่บวกก็ยังจะสามารถรับมือกับสถานการณ์นี้ได้ดีพอสมควร เขาจะฝึกฝนเรียนรู้อย่างเต็มที่จนถึงที่สุดเพื่อจะพัฒนาทักษะของตนให้สามารถจัดการกับงานยากนั้นให้จงได้ แม้ในท้ายที่สุดเขาจะพบว่าถึงอย่างไรก็ไม่สามารถทำงานนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลสูงสุด แต่เขาก็ยังได้เรียนรู้ประสบการณ์ล้ำค่าที่สุดบางอย่าง อย่างน้อยเขาก็ยังมีทางเลือกว่าจะทนทำงานนั้นต่อไป ซึ่งเขาก็อาจทำได้ดีพอสมควร แม้ว่าจะไม่ดีที่สุด หรือตัดสินใจไปอยู่ให้ถูกที่ถูกทางมากกว่านี้ เพื่อจะได้สามารถบรรลุความสามารถสูงสุดของตัวเขาเองได้ ในขณะที่คนซึ่งมืออ่อนตีนอ่อนไปตั้งแต่ต้น มีทัศนคติในแง่ลบอยู่ตลอด แถมยังขาดความกล้าหาญ ก็จะต้องจำทนอยู่ในสถานการณ์คับขันนั้นด้วยความรู้สึกที่ตึงเครียด จำยอม ติดกับ ไม่มีทางออก อยู่ก็ไม่สบาย ตายก็ไม่สะดวก! สภาพการณ์ไม่ต่างกับการตกนรกทั้งเป็นเลยทีเดียว
ประการที่สาม บางครั้งหากไม่ต้องไปคิดอะไรให้มันลึกซึ้งนัก ประเด็นมันอาจจะอยู่ที่ ลักษณะของอุปนิสัยของคนๆ นั้นก็เป็นได้ เช่น เป็นคนเกียจคร้าน หนักไม่เอา เบาไม่สู้ ใจเสาะ ขี้แพ้ ขี้แย อ่อนแอในทุกเรื่อง ไม่มีระเบียบวินัยในชีวิตและในการงาน ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่รักความก้าวหน้า ไม่รักการพัฒนาตนเอง ขี้คร้านที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง ฯลฯ คนที่มีอุปนิสัยเหล่านี้ แค่หายใจขัดนิดหน่อย ก็ถอดใจ อยากหยุดหายใจเอาง่ายๆ ได้เลยทีเดียว ดังนั้น ไม่ว่าอะไร เขาก็ว่ามันเป็นงานยากหมดแหละ ไม่ว่าอะไร เขาก็มักบอกว่าเขาทำไม่ได้อยู่วันยังค่ำ เขาสามารถหาเหตุผลว่าทำไมทำไม่ได้เป็นร้อยเป็นพันข้อ ในขณะที่ขอเพียงคิดให้ได้เพียงข้อเดียวว่าจะทำอย่างไรให้ได้ เขากลับไม่ทำ! การนั่งๆ นอนๆ งอมืองอเท้า ไม่ยอมทำอะไรเลย อาจจัดว่าเป็นสภาวะไหลลื่นของเขาไปเสียแล้วกระมัง? ในประการนี้ อาจต้องนำไปพิจารณาในองค์ประกอบที่สาม ซึ่งจะได้กล่าวเป็นลำดับถัดไป
แนวคิดด้านจิตวิทยา ที่ว่าด้วยเรื่อง “อัจฉริยภาพด้านการรับมือกับปัญหาและอุปสรรค” (AQ : Adversity Quotient) นั้น ได้กล่าวเอาไว้ว่า “ความรู้สึกว่าไร้ความสามารถ” นั้น ก่อให้เกิด “ความสิ้นหวัง” และ “ความเครียด” ความรู้สึกว่าไร้ความสามารถนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรู้สึกว่าสูญเสียการควบคุมสถานการณ์ รู้สึกว่าตนเองนั้นไม่มีพลัง ไม่มีอำนาจ!
ข่าวดีก็คือ ในวิชาว่าด้วย AQ ดังกล่าว ยืนยันว่า ความรู้สึกว่าไร้ความสามารถนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของ “ความคิด” และหรือ “ความรู้สึก” ซึ่งเราสามารถปรับเปลี่ยนมันไปในเชิงบวกได้ เราสามารถ สร้างความรู้สึกว่าเราควบคุมมันได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราสามารถจัดการมันได้ เราสามารถสร้างความรู้สึกว่าเรามีอำนาจควบคุม เราสามารถพัฒนาความสามารถในการ “ฟื้นตัว” ได้อย่างรวดเร็วในสภาวะอารมณ์ลบนั้นได้ และในทาง “วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ด้านสมอง” (Neuro Science) นั้น ยังระบุว่าคนเราสามารถโปรแกรมปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อในสมองของเราเสียใหม่ก็ยังได้ (Neuro Linguistic Programming : NLP)
ข้อสรุปในองค์ประกอบข้อนี้ ก็คือ จงพยายามค้นให้พบงานที่สอดคล้องกับพรสวรรค์ กับจุดแข็ง กับความถนัดแท้จริงของตนเองให้ได้ คนที่สามารถค้นพบ “งานแห่งชีวิต” ของตนได้แล้ว ก็จะไม่รู้สึกว่าจะมีอะไรยากเกินกว่าจะรับมือได้เลย เขาจะสามารถทำมันได้ หรือสามารถจะฝึกฝนเรียนรู้ทักษะต่างๆ ที่จะสามารถทำงานยากนั้นได้อย่างไม่มีความเครียด แต่หากไม่ว่าประการใด ใครที่ยังไม่สามารถค้นพบงานแห่งชีวิตดังว่านั้นได้ ก็ยังมีทางแก้ไขอยู่บ้าง คือปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ และความรู้สึกของตนเองเสียใหม่ต่องานนั้น หรือต่อกิจกรรมนั้นๆ นี่ก็เป็นดังคำพูดเก่าๆ ที่ว่า “หากเรายังไม่สามารถทำในสิ่งที่เรารัก ก็จงสร้างความรักในสิ่งที่เราทำ” จนกว่าในท้ายที่สุดแล้วมันเอาไม่อยู่จริงๆ ก็จงตัดสินใจไปหาประสบการณ์อื่นเพื่อจะสามารถค้นให้พบงานแห่งชีวิตของตนเองให้ได้ ชีวิตนี้มันสั้นนัก อย่าทนทุกข์ทรมานทำในสิ่งที่เราไม่ได้เกิดมาเพื่อจะเป็น หรือเพื่อจะทำมันได้อย่างชนิดดีที่สุดอยู่เลย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *