สภาวะลื่นไหล (2)
สภาวะลื่นไหล (2)
(1) ทำยาก
นี่อาจเป็นสิ่งที่ดูเหมือนว่าจะขัดแย้งในความรู้สึกของคนทั่วไป ที่เข้าใจว่าถ้าเราทำอะไรที่มันง่ายๆ ชนิดที่หลับตาทำก็ยังได้แล้ว นั่นจึงจะเรียกว่าเราอยู่ในสภาวะไหลลื่น ซึ่งไม่จริงเลย จริงๆ แล้ว การทำอะไรที่มันง่ายเกินไป ง่ายชนิดที่ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรไปมากมายนัก กลับกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่ายไปเสียด้วยซ้ำ นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนที่ทำงานอะไรอย่างชนิดซ้ำซากจำเจมาเป็นระยะเวลานาน จึงมีความรู้สึกเบื่อหน่ายในการทำงานไปได้ในที่สุด และดูเหมือนว่าความชำนาญที่มากขึ้นนั้น กลับไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของงานนั้น เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่น้อย บ่อยครั้ง มันลดลงเสียด้วยซ้ำไป! งานชนิดนี้นี่แหละที่เขาเรียกว่า “งานรูทีน” (Routine) และนี่ก็เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “คนบางคนทำงานมาเป็นสิบปี แต่เหมือนทำอยู่แค่ปีเดียวเท่านั้น เพียงแต่ทำซ้ำกันอยู่สิบรอบ!”
การทำอะไรที่มันง่ายๆ หรือถึงแม้มันอาจจะยากในทีแรก แต่พอทำจนชำนาญแล้ว มันก็จะง่ายไปในที่สุด นั้น ถึงที่สุดแล้ว หากไม่มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาใดๆ แล้ว เราก็มักจะเกิด “ความเบื่อหน่าย” ผมนิยามคำว่า “ความเบื่อหน่าย” ในบริบทนี้ว่า คือการที่มีความรู้ ความสามารถ ความชำนาญในงานนั้นๆ ไปอย่างมากแล้ว แต่ยังต้องมาทนทำในสิ่งเดิมๆ สิ่งซ้ำๆ ซากๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ความเบื่อหน่ายก่อให้เกิดอาการ “หมดไฟ” ในการทำงาน และไม่ก่อให้เกิดสิ่งใหม่ใดๆ หรือไม่ก่อให้เกิดนวัตกรรมใดๆ เพิ่มขึ้นได้เลย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ กล่าวไว้ดีทีเดียวว่า “การทำสิ่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยหวังว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างไปจากเดิมนั้น เป็นความวิกลจริตชนิดหนึ่ง!”
“ความเบื่อหน่าย” นี้อาจถือเป็นมะเร็งร้ายที่กัดกร่อนศักยภาพของบุคคล ให้ไม่สามารถบรรลุความเป็นเลิศของตัวเขาเองได้ หลายคนพัฒนาศักยภาพมาจนอยู่ในขั้นสูง แต่อาจจะยังไม่ถึงขั้นสูงสุด แล้วก็ไม่สามารถไปต่อได้ จึงอาจรู้สึกว่าชีวิตนี้ หรืองานนี้ มันจืดชืดน่าเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรตื่นเต้นให้ทำแล้ว จึงทำงานให้มันผ่านพ้นไปวันๆ อันนับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากที่คนคนหนึ่ง ที่มีประสบการณ์สูงมากในการทำงาน แต่กลับกลายเป็นตอไม้ที่ตายแล้ว กลับเป็นเสมือนจอกแหนที่ล่องลอยไปเรื่อยเปื่อย ทั้งที่เขาผู้นั้น ยังอยู่ในวัยที่จะสามารถสร้างคุณูปการให้ทั้งแก่ตนเอง และต่อผู้อื่นโดยส่วนรวมได้อีกมากมาย และที่สำคัญ เขายังมีพลังงานอย่างเหลือเฟืออยู่อีกถึงราว 90% ที่ยังไม่ได้เอาออกมาใช้งานเลย นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก (Dr.Robert Cooper นักวิชาการด้านประสาทวิทยาสมัยใหม่ เขียนหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “The Other 90%” ซึ่งเขาได้ค้นคว้าวิจัยแล้วพบว่า คนเราส่วนใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้ว นำพลังงานในตัวเองออกมาใช้กันในราวเพียง 10% เท่านั้นเอง ยังเหลืออีกตั้ง 90% ที่ยังไม่ได้เอาออกมาใช้เลย! นี่อาจทำให้เราสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ธรรมชาติได้สร้างเรามาให้สามารถรับมือกับทุกอย่าง มีพลังงานในตัวเราอย่างชนิดที่เรียกได้ว่า “เหลือเฟือ” ชนิดที่สามารถข้ามพ้นทุกอุปสรรคขวากหนาม หรือสามารถรับมือกับงานยากๆ งานหินๆ ปานใดก็ตาม ได้อย่างสบายมาก )
สิ่งที่พวกเราควรทำในข้อนี้ก็คือ เราควรแสวงหา “งานยาก” ทำ! ให้มันสอดคล้องกับความรู้ความสามารถ หรือทักษะขั้นสูงของเรา งานยากในที่นี้ คืองานที่ท้าทายขึ้น อาจจะในแง่ที่มีความซับซ้อนขึ้น มีผลในวงกว้างหรือในทางลึกมากขึ้น อาจจะพัฒนาต่อยอดจากงานเดิมที่เราทำอยู่ แต่คิดปรับปรุงพัฒนาให้มันเร็วขึ้น มากขึ้น ดีขึ้น ง่ายขึ้น ประหยัดขึ้น ฯลฯ หรืออะไรก็ตามที่มันทำให้เกิด “ความแตกต่าง” อย่างสร้างสรรค์ขึ้น หรือมิฉะนั้น เราก็ควรนำประสบการณ์ของเราไปถ่ายทอดให้กับผู้อื่น ไปปั้นคน ไปสร้างคน ไปบ่มเพาะอนุชนรุ่นหลัง เป็นต้น
หากในงานเดิมนั้น ไม่สามารถทำสิ่งที่ว่าไปข้างต้นได้แล้ว ไม่ว่าในประการใดๆ เราก็อาจต้องเสี่ยง “เปลี่ยนงาน” ไปเสียเลย อาจเปลี่ยนไปอยู่ในสายงานอื่น ในองค์กรเดิม หรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง เช่น ลาออกไปอยู่องค์กรอื่น หรือไปทำกิจการส่วนตัว นี่อาจต้องใช้ความกล้าหาญเป็นอย่างสูงมากทีเดียว ถ้ายังไม่อาจทำได้ถึงขนาดนั้น เราก็น่าจะหางานที่ท้าทายมาทำเป็น “อาชีพคู่ขนาน” (Parallel Career) คือทำควบคู่ไปกับงานเดิมนั้น โดยอาชีพคู่ขนานนี้ อาจเป็นงานอดิเรกที่ไม่ได้มีมูลค่าเป็นตัวเงินก็ได้ แต่ต้องแบ่งเวลามาทำอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ เป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งหากมันเป็นสิ่งที่เรารักเราชอบแล้ว มันก็จะไม่หนักหนาอะไรนัก และปรากฏหลักฐานอยู่เสมอว่า หลายคนกลับสามารถทำงานประจำเดิมได้อย่างมีความสุขขึ้น ผ่อนคลายขึ้น เสียด้วยซ้ำไป
อีกทางเลือกหนึ่งก็คือ สำหรับผู้ที่มีไม่ปรารถนาในสิ่งที่เป็นด้านวัตถุแล้ว เขาก็อาจผันตัวเองไปเป็น “ผู้ประกอบการเชิงสังคม” (Social Entrepreneaur) ไปทำงานที่เป็นกิจกรรมเพื่อสาธารณะ เพื่อส่วนรวม เพื่อสังคมไปเสียเลย นี่ก็นับว่าเป็นงานที่ท้าทายด้วยเช่นกัน
มีข้อสังเกตสองประการในองค์ประกอบนี้ ก็คือ หนึ่ง หากงานยากนั้น มันเป็นงานที่สอดคล้องกับความถนัดเฉพาะตัว หรือพรสวรรค์ หรือจุดแข็ง ของคนๆ นั้นแล้วละก็ งานยากนั้นก็จะกลับกลายเป็นงานท้าทาย งานน่าตื่นเต้น งานที่เร้าอารมณ์ให้ไปลงมือทำอย่างชนิดที่แทบจะอดใจไม่ไหวไปได้ในทันทีเลยทีเดียว (หากจะอ่านข้อเขียนเรื่อง “ต้นแบบ จุดแข็ง ความถนัด อัจฉริยะ พรสวรรค์ : คนละเรื่องเดียวกันหรือไม่?” ในเว็บไซต์นี้ประกอบ ก็จะทำให้เข้าใจในประเด็นนี้ได้มากขึ้น)
ข้อสังเกตประการที่สอง ก็คือ “ทัศคติ” และหรือ “ความเชื่อ” ต่องานที่ว่า “ยาก” นั้น ก็มีส่วนสำคัญมากทีเดียว ไม่ว่าจะมีพรสวรรค์หรือไม่ก็ตาม คนที่มีทัศนคติเชิงบวกต่องานยากนั้น ก็อาจจะสามารถพัฒนาความรู้ ความสามารถของตนเพื่อรับมือกับงานนั้นไปได้อีกขั้นหนึ่ง แม้ว่าท้ายสุดแล้ว เขาก็อาจไม่สามารถทำมันได้อย่างดีเลิศได้ก็ตาม ดังนั้น เมื่อต้องเจอกับงานที่ดูเหมือนว่าจะยากนั้น ขอให้มองมันว่าเป็นสิ่งท้าทาย เมื่อเจอปัญหาใดๆ ในงาน ก็ให้มองว่ามันเป็นโอกาส (อย่างน้อยก็อาจเป็นโอกาสที่เราจะสามารถค้นพบว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะกับความถนัดแท้จริงของเรา) เมื่อเจอกับอุปสรรค ก็ให้มองว่ามันเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเราเอง (มีคำกล่าว่า “เราต้องไปมีประสบการณ์ในสิ่งที่ไม่ใช่เราเสียก่อน เราจึงจะสามารถค้นพบว่าเราจะสามารถเป็นอะไรได้ดีที่สุด!”) กล่าวโดยสรุปคือ จงมีทัศนคติในแง่บวกต่องานยากเอาไว้ก่อน เพราะไม่ว่าผลจะลงเอยอย่างไร มันย่อมอยู่ในทิศทางที่สร้างสรรค์เสมอ
จงจำไว้เป็นประการแรกก่อนว่า การได้มีโอกาสทำงานยากนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งของ “สภาวะไหลลื่น”