สภาวะลื่นไหล (1)

สภาวะลื่นไหล (1)
เมื่อปี ค.ศ.1990 นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน เชื้อสายฮังกาเรียนท่านหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกยาก เขียนยากเป็นกำลังว่า มิฮาย ซิกเซนต์มิฮายยี (Mihaly Csikzentmihalyi) ได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “Flow : The Psychology of Optimal Experience” หรืออาจแปลเป็นไทยได้ว่า “สภาวะไหลลื่น : จิตวิทยาของการมีประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด” อันเป็นหนังสือที่ได้เสนอแนวคิดว่า หากคนเราสามารถทำกิจกรรมใดๆ ในชีวิต โดยอยู่ในสภาวะไหลลื่นได้แล้วละก็ เราก็จะมีความพึงพอใจสูงสุด อันจะนำไปสู่ความสุขในชีวิตได้ในที่สุด
วิศิษฐ์ วังวิญญู เรียกการอยู่ในสภาวะไหลลื่นดังกล่าวว่า คือการได้เข้าไปอยู่ใน “มณฑลแห่งพลัง” (จากหนังสือของเขาที่ชื่อ “มณฑลแห่งพลัง : ญาณทัสนะแห่งการเข้าถึงตัวตนที่แท้” : 2548)

ในที่นี้ ผมจะขออภิปรายเพื่ออธิบายเรื่อง “สภาวะไหลลื่น” ตามความเข้าใจของผม ด้วยการนำเสนอตามแบบของผม ซึ่งอาจไม่เหมือนกับต้นฉบับของมิฮายยี และอาจไม่เหมือนกับที่ วิศิษฐ์ วังวิญญู ได้อธิบายไว้ในหนังสือของเขาเสียทีเดียว ซึ่งท่านผู้อ่านที่สนใจ ก็สามารถหาหนังสือทั้งสองเล่มนี้มาอ่านได้ เพียงแต่ต้นฉบับหนังสือเรื่อง Flow ของมิฮายยีนั้น ยังไม่มีใครนำมาแปลเป็นภาษาไทยไว้แต่ประการใด

ในความเห็นของผมนั้น การที่คนเราจะสามารถมีสภาวะไหลลื่นในการทำกิจกรรมใดๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการทำงาน) ได้นั้น จะต้องมีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ :-

1. ทำยาก (สิ่งที่ทำนั้นต้องมีความท้าทาย)
2. ทำได้ (ต้องมีความสามารถที่จะทำสิ่งที่ท้าทายนั้นได้)
3. อยากทำ (ต้องมีแรงจูงใจที่อยากจะทำสิ่งนั้น) และ
4. ได้ทำ (มีโอกาสที่จะได้ทำสิ่งนั้นจริงๆ)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *