สถิติน่าสนใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ที่เกิดในประเทศไทย

สถิติน่าสนใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ที่เกิดในประเทศไทย

อุบัติเหตุจราจรทางถนน ถือเป็นอุบัติภัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของมนุษย์ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ 11 ของโลกในปี พ.ศ.2545 ในช่วงที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางถนนไปแล้วทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคนต่อปี หรือประมาณ 3,200 คนต่อวัน และมีผู้บาดเจ็บประมาณ 50 ล้านคนต่อปี และส่วนหนึ่งต้องทุพพลภาพ พิการ ประมาณ 1 ล้านคน ต่อปี ความสูญเสียในทางเศรษฐกิจประมาณ 1-2 % ของผลผลิตมวลรวมของประเทศ (Gross national Product, GNP) ซึ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำคิดเป็น 1 % ประเทศที่มีรายได้ปานกลางคิดเป็น 1.5 % (ประมาณ 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และประเทศที่มีรายได้สูงคิดเป็น 2 % (ประมาณ 518 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับแนวโน้มข้างหน้าคาดการณ์ว่าตัวเลขเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 65 % ภายใน 20 ปี ข้างหน้า เว้นแต่จะมีการดำเนินการพันธกิจใหม่ ๆ ที่เหมาะสมเพื่อเป็นการป้องกัน (World Health Organization 2004) และคาดการณ์ว่าในปี 2563 อุบัติเหตุจราจรทางถนนจะเป็นสาเหตุของโรคและการบาดเจ็บทั่วโลก ในลำดับที่ 3

ในประเทศไทย จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2548 มีคดีอุบัติเหตุจราจรทางถนนทั่วประเทศเกิดขึ้น 122,040 คดี มีผู้เสียชีวิต 12,858 ราย มีผู้บาดเจ็บ 94,364 ราย (บาดเจ็บสาหัส 19,111 รายและบาดเจ็บเล็กน้อย 75,253 ราย) และมูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 3,238 ล้านบาท จากการประมาณมูลค่าความสูญเสียเบื้องต้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุในแต่ละปีมีค่าประมาณ 170,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2548) แม้ว่าแนวโน้มจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลอุบัติเหตุจราจรทางถนนใน ปี พ.ศ.2539 กับ ปี พ.ศ.2548 มีผู้เสียชีวิต 14,405 คน และ 12,858 คน ลดลง 1,547 คน หรือลดลงคิดเป็นร้อยละ 12.03 แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลจำนวนผู้บาดเจ็บและมูลค่าทรัพย์สินเสียหายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากผู้บาดเจ็บ 50,044 คน เป็น 94,364 คน เพิ่มขึ้น 44,320 คน หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 88.56 ส่วนมูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 1,562 ล้านบาท เป็น 3,238 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 1,676 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 107.30

ทั้งนี้เมื่อวัดระดับความรุนแรงในรูปของสัดส่วนอัตราการเกิดอุบัติเหตุ/ผู้เสียชีวิต/ผู้บาดเจ็บต่อประชากร 100,000 คน พบว่าในปี พ.ศ.2539 เปรียบเทียบกับปี พ.ศ.2548 จะพบว่า อัตราส่วนการเกิดอุบัติเหตุต่อประชากร 100,000 คน มีค่าเท่ากับ 147.31 และ 195.65 เพิ่มขึ้น 48.34 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.82 อัตราส่วนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน มีค่าเท่ากับ 23.96 และ 20.62 ลดลง 3.34 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.94 และอัตราส่วนผู้บาดเจ็บต่อประชากร 100,000 คน มีค่าเท่ากับ 83.25 และ 151.31 เพิ่มขึ้น 68.06 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 81.75

แม้อุบัติเหตุจราจรบนท้องถนนจะเป็นภัยคุกคามทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย แต่ผลการศึกษารูปแบบการเดินทางต่างๆ ในหลายประเทศทั่วโลกกลับพบว่า การเดินทางโดยรถโดยสารปลอดภัยที่สุด รองลงมาคือโดยสารเครื่องบิน มีผู้เสียชีวิต 0.1 และ 3.2 รายต่อพันล้านผู้โดยสาร-กิโลเมตร ตามลำดับ และในประเทศสหราชอาณาจักร พบว่า การเดินทางโดยรถโดยสารปลอดภัยที่สุด รองลงมารถไฟ เครื่องบิน รถจักรยานยนต์ปลอดภัยน้อยที่สุด มีผู้เสียชีวิต 1.4, 6, 20 และ 342 รายต่อร้อยล้านชั่วโมงของการเดินทาง ตามลำดับ

แต่สำหรับประเทศไทยการเดินทางโดยรถโดยสารยังมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ดูได้จากข่าวของการเกิดอุบัติเหตุกของรถโดยสารที่มีอยู่เป็นประจำ

อุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมา (พ.ศ. 2542 – พ.ศ. 2548) มีรถโดยสารขนาดใหญ่ประสบอุบัติเหตุจราจรทางถนนประมาณ 4,000 คันต่อปี กล่าวคือในปี พ.ศ.2542 จำนวนการเกิดอุบัติรถโดยสารขนาดใหญ่ มีค่าเท่ากับ 3,343 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.11 ของประเภทผู้ใช้ทางทั้งหมด ส่วนใน ปี พ.ศ.2548 จำนวนการเกิดอุบัติรถโดยสารขนาดใหญ่ มีค่าเท่ากับ 3,954 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 2.12 ของประเภทผู้ใช้ทางทั้งหมด เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลดังกล่าว พบว่า จำนวนการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้น 611 คัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.28

เมื่อจำแนกอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ ออกเป็น 2 พื้นที่ คือกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในปี พ.ศ.2548 พบว่าพื้นที่กรุงเทพฯ มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ 2,269 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 57.38 ของจำนวนรถโดยสารขนาดใหญ่ที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด และพื้นที่ต่างจังหวัด มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ 1,685 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 42.62 ของจำนวนรถโดยสารขนาดใหญ่ที่เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด

เมื่อนำมาจัดอันดับ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่มากที่สุด 10 อันดับ ของปี พ.ศ.2548 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (2,269 คัน) สมุทรปราการ (225 คัน) ภูเก็ต (198 คัน) เชียงใหม่ (152 คัน) นครราชสีมา (107 คัน) พระนครศรีอยุธยา (87 คัน) เพชรบุรี (65 คัน) ชลบุรี (67 คัน) สระบุรี (66 คัน) ปทุมธานี และนนทบุรี (43 คัน) ส่วนจังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ หนองบัวลำภู แม่ฮ่องสอน และนราธิวาส

ทั้งนี้ยังพบว่า แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ในพื้นที่ภูมิภาคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วง ปี พ.ศ.2542 (948 คัน) เปรียบเทียบกับ ปี พ.ศ.2547 (1,928 คัน) เพิ่มขึ้น 980 คัน หรือเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่า กรณีดังกล่าว หากขาดระบบการบริหารจัดการแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางถนน ที่เหมาะสม จะยิ่งทำให้ประเทศสูญเสียค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้เนื่องจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เทคโนโลยีด้านยานยนต์ และสภาพแวดล้อมของประเทศ

ด้านความสูญเสียจากอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง ประกอบด้วย ผู้เสียชีวิต 0.42 ราย บาดเจ็บสาหัส 0.90 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 2.69 ราย คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรรถโดยสารขนาดใหญ่ 1 ครั้งเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 2,000,000 บาทโดยประมาณ (กรณีเสียชีวิต 3,4000,000 บาทต่อราย , บาดเจ็บสาหัส 122,600 บาทต่อราย , บาดเจ็บเล็กน้อย 30,300 บาทต่อราย ; รายงานขั้นกลางระยะที่ 2 โดยการศึกษามูลค่าอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สำนักอำนวยความปลอดภัย กรมทางหลวง) เมื่อประมาณการมูลค่าความเสียหายจากการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ในประเทศไทย จากจำนวนการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่คิดปีละประมาณ 3,500 – 4,000 ครั้ง คิดเป็นค่าเสียหาย7,000 – 8,000 ล้านบาท

จากข้อมูลการรายงานอุบัติเหตุจราจรบนทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งเก็บรวบรวมจากระบบการรายงานอุบัติเหตุของกรมทางหลวงที่รายงานโดยแขวงการทางทั่วประเทศ พบว่าในปี พ.ศ.2549 รถโดยสารขนาดใหญ่ที่วิ่งบนทางหลวงทั่วประเทศ มีจำนวนอุบัติเหตุเกิดขึ้นทั้งสิ้น 360 ครั้ง รถโดยสารขนาดใหญ่ประสบอุบัติเหตุ 370 คัน มีผู้เสียชีวิต 153 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 1,042 ราย (บาดเจ็บสาหัส 252 รายและบาดเจ็บเล็กน้อย 790 ราย) ขณะที่ในปี พ.ศ.2547 มีจำนวนครั้งที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดถึง 670 ครั้ง รถโดยสารขนาดใหญ่ประสบอุบัติเหตุสูงสุด 695 คัน มีผู้เสียชีวิตสูงสุด 304 ราย และบาดเจ็บสูงสุด 2,460 ราย แยกเป็นบาดเจ็บสาหัส 638 ราย และบาดเจ็บเล็กน้อย 1,822 ราย นั่นหมายความว่า ตัวเลขเหล่านี้เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับ ปี พ.ศ.2547

อย่างไรก็ตามมีประเด็นที่น่าสนใจเมื่อดูข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารของบริษัทขนส่งจำกัดและรถร่วม ตั้งแต่ พ.ศ.2545-2549

เปรียบเทียบข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารระหว่างรถของบริษัท บขส. และรถร่วม บขส.

ตั้งแต่ พ.ศ. 2545 – พ.ศ. 2549
 
พ.ศ.
เกิดอุบัติเหตุ
ผู้เสียชีวิต
ผู้บาดเจ็บ
 
รถของ บขส.
รถร่วม
รถของ บขส.
รถร่วม
รถของ บขส.
รถร่วม
 
(ครั้ง)
(ครั้ง)
(ราย)
(ราย)
(ราย)
(ราย)
2545
298 (78%)
83 (22%)
28 (27%)
77 (73%)
165 (22%)
589 (78%)
2546
389 (80%)
96 (20%)
57 (39%)
89 (61%)
160 (21%)
602 (79%)
2547
264 (65%)
142 (35%)
21 (13%)
138 (87%)
210 (19%)
897 (81%)
2548
307 (65%)
166 (35%)
48 (28%)
125 (72%)
216 (18%)
956 (82%)
2549
368 (63%)
220 (37%)
45 (21%)
173 (79%)
344 (18%)
1,600 (82%)

ที่มา : งานอุบัติเหตุ กองกฎหมาย บริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) , 2550

หมายเหตุ ข้อมูล ปี พ.ศ.2546 และ 2547 ขาดข้อมูลรายงานประจำเดือนมีนาคม

………………………………………………………………………
เรียบเรียงจาก : รายงาน ‘โครงการวิจัยปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่ออุบัติเหตุรถโดยสารในประเทศไทย’ พ.ศ.2550

ที่มา : ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *