ศูนย์ศึกษา แหล่งสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

ศูนย์ศึกษา แหล่งสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง

วันที่ : 24 สิงหาคม 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

ความโดดเด่นอีกประการที่ส่งผลให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เติบโตอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในใจของคนทั่วโลก คงหนีไม่พ้นความมีชื่อเสียงของคณะ (Schools / Faculties) ที่มีอยู่ถึง 10 คณะ ที่มีชื่อเสียง ได้แก่ คณะศิลปะและวิทยาศาสตร์ (Faculty of Arts and Sciences) คณะแพทย์ศาสตร์ (Faculty of Medicine) วิทยาลัยบริหารธุรกิจ (Harvard Business School) วิทยาลัยจอห์นเอฟเคเนดี้ (John F. Kennedy School of Government) วิทยาลัยกฎหมาย (Harvard Law School) วิทยาลัยการออกแบบ (Graduate School of Design) และ วิทยาลัยศึกษาศาสตร์ (Harvard Graduate School of Education)

นอกจากนี้ยังมี วิทยาลัยดิวินิตี้ (Harvard Divinity School) ที่สอนเกี่ยวกับศาสนา วิทยาลัยเรดคริฟฟ์เพื่อการศึกษาขั้นสูง (Radcliffe Institute for Advanced Study) ที่เป็นศูนย์การเรียนการสอนแบบสหวิทยาการ และวิทยาลัยสาธารณสุข (Harvard School of Public Health) ที่สอนเกี่ยวกับการสาธารณสุข โภชนาการ

ภายใต้คณะต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ประกอบด้วยศูนย์ศึกษาหรือสถาบัน (Centers / Institutes) โดยแต่ละศูนย์ศึกษาหรือสถาบันนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละคณะ ในการทำการศึกษาลงลึกไปในศาสตร์สาขาของตนเอง เพื่อทำให้เกิดความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น อีกทั้งสามารถสร้างชื่อเสียงแก่คณะ และมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี เนื่องจาก

เป็นศูนย์รวม และสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมในเรื่องที่เจาะจง การจัดตั้งศูนย์ศึกษาต่าง ๆ ล้วนเกิดมาจากการสะสมองค์ความรู้ในเรื่องนั้น และขยายขอบเขตการศึกษาจนกลายมาเป็นศูนย์ที่ดำเนินการศึกษา วิจัย คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยบูรณาการกับองค์ความรู้ด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการขยายพรมแดนความรู้ในเรื่องนั้นอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ตัวอย่างเช่น

Arthur Rock Center for Entrepreneurship ในวิทยาลัยบริหารธุรกิจที่เกิดจากความสนใจศึกษาเรื่องความสำคัญของผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กรธุรกิจ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1937 และค่อย ๆ พัฒนาตนเองกลายเป็นศูนย์เพื่อการวิจัย และการสอนเกี่ยวกับความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงการสานต่อการเรียนการสอนและองค์ความรู้ในเรื่องนี้ให้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในสังคม
Harvard Stem Cell Institue เพิ่งตั้งขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยเชื่อว่างานวิจัย สเต็มเซลล์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการบำบัดโรคภัยขั้นร้ายแรงของมนุษย์ ศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแหล่งรวมนักวิจัยของมหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลที่อยู่ในเครือทั้งหมด เพื่อศึกษาวิจัย สเต็มเซลล์ที่พบได้ในตัวอ่อนมนุษย์ และพัฒนาไปจนถึงขั้นที่สามารถนำไปสร้างอวัยวะและเนื้อเยื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคร้ายแรงเช่น โรคพาร์คินสัน และเบาหวานต่อไป

เป็นแหล่งสร้างและดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ จากจุดประสงค์ในการจัดตั้งศูนย์แต่ละแห่งที่ต้องการศึกษาลงลึกไปในศาสตร์ที่สนใจนั้น เป็นสิ่งจุดประกายให้ผู้เชี่ยวชาญที่สนใจในเรื่องนั้นปรารถนามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างองค์ความรู้ในเรื่องที่ตนสนใจ ให้เกิดความก้าวหน้ามากขึ้น ประกอบกับทางคณะหรือศูนย์ มีกลยุทธ์ในการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญ ผู้ที่มีความสนใจและมีผลงานที่โดดเด่นจากทั่วโลก มาอยู่กับศูนย์ในฐานะนักวิชาการ ภายใต้ตำแหน่งต่าง ๆ อาทิ นักวิชาการอาวุโส (Senior Fellow) นักวิชาการสังกัด (Associate) นักวิชาการผู้มาเยือน (Visiting Scholar) เพื่อใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำวิจัย เขียนบทความวิชาการ ร่วมจัดสัมมนา เสนอผลงานวิชาการ เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษา และอาจได้รับเชิญให้สอนนักศึกษาบ้าง ยกตัวอย่างเช่น

The Institute for Strategy and Competitiveness ศึกษาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กรธุรกิจ ที่มีศาสตราจารย์ไมเคิล พอร์เตอร์ เป็นผู้ก่อตั้งสถาบัน
ปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตตำรา งานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขัน ทฤษฎีทางธุรกิจออกสู่สายตานักธุรกิจทั่วโลกอย่างสม่ำเสมอ

Weatherhead Center for International Affairs ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก สังกัด Faculty of Arts and Sciences ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับนานาประเทศทั่วโลก โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญระดับรางวัลโนเบลดังเช่น ศาสตราจารย์ อมาตยะ เซน นอกจากนี้ยังมี ศาสตราจารย์ ไมเคิล เฮอร์ซเฟลด์ ซึ่งคนไทยหลายคนรู้จักท่านดีในฐานะผู้เชี่ยวชาญและสนใจศึกษาเรื่องประเทศไทย มาร่วมเป็นกรรมการ รวมถึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญกว่า 240 คนทั่วโลกมาร่วมเป็นนักวิชาการในศูนย์
ผมเองเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมเป็นนักวิชาการสังกัด (Associate) ของศูนย์นี้เช่นเดียวกับเพื่อนนักวิชาการที่มาจากหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บราซิล เม็กซิโก ซึ่งแต่ละคนต่างมีความสนใจเฉพาะด้าน และมีผลงานที่โดดเด่นน่าประทับใจทั้งสิ้น นอกจากนี้ผมยังได้รับเชิญจากศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ให้เป็นนักวิชาการอาวุโส (Senior Fellow) โดยมีภารกิจคือ ศึกษาวิจัยด้านการเชื่อมโยงหลักการเศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจมาเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาสาธารณะ ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้มักจะเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า การประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise) การดูงานวิทยานิพนธ์นักศึกษาที่ทำกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด รับบรรยาย ร่วมบรรยายในสัมมนาวิชาการ ตีพิมพ์ผลงานที่ผลิตออกมา เป็นต้น

เป็นแหล่งระดมทุนชั้นเยี่ยมจากองค์กรธุรกิจ และผู้ที่สนใจ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่แต่ละศูนย์มีการศึกษาลงลึก ให้ความสำคัญกับการเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำงานวิจัย ต่อยอดทางความคิด ให้คำแนะนำนักศึกษาในการทำวิจัย ได้ก่อเกิดการสะสมองค์ความรู้จนกลายเป็นผลงานทางวิชาการที่มีคุณค่า และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่การเรียนการสอนในคณะนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจ องค์กรรัฐบาล รวมถึงสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ที่ต้องการนำงานวิจัยเหล่านั้นไปใช้พัฒนาตนเอง โดยไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ อาทิเช่น

The C. Roland Christensen Center for Teaching and Learning ภายใต้การดูแลของวิทยาลัยบริหารธุรกิจ ภารกิจของศูนย์ที่ทำหน้าที่ฝึกฝนภาวะผู้นำและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบกรณีศึกษา รวมถึงการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ของวิทยาลัยธุรกิจ
ความโดดเด่นในความเป็นเจ้าของกรณีศึกษากว่า 7,000 กรณี และในทุก 2 ปี นักศึกษาของวิทยาลัยแห่งนี้ จะสามารถสังเคราะห์กรณีศึกษาออกมาราว 500 กรณี รวมถึงการออกสื่อสิ่งพิมพ์ภายใต้ชื่อของวิทยาลัยแห่งนี้ สามารถสร้างรายได้จำนวนไม่น้อยแก่วิทยาลัย โดยในปี 2006 การจำหน่ายสิ่งพิมพ์ กรณีศึกษา หนังสือสร้างรายได้กว่า 119 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2005 ที่มีรายรับด้านนี้ 106 ล้านเหรียญ

Dana-Farber Cancer Institute หนึ่งในสถาบันที่สังกัดคณะแพทย์ศาสตร์ ได้ร่วมมือกับบริษัทยาเอกชนผลิตยารักษามะเร็งขึ้นมา โดยประยุกต์จากการวิจัยพื้นฐานในมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญกับการร่วมมืออย่างใกล้ชิด ระหว่างนักวิจัยในมหาวิทยาลัย กับนักวิจัยจากบริษัทยา ทำให้เกิดการพัฒนายาใหม่ ๆ เสมอ สร้างรายได้มหาศาลแก่ทั้งบริษัทยาเอกชน และวิทยาลัยที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาดังกล่าว

สะท้อนกลับมาสู่มหาวิทยาลัยไทยที่ขณะนี้จะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาเฉพาะทาง วิทยาลัยเฉพาะทางขึ้น เพื่อทำการศึกษาเรื่องที่สนใจอย่างเจาะจง รองรับกับความต้องการขยายแนวคิด องค์ความรู้ในเรื่องนั้น ๆ ให้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายมากขึ้น นับว่า เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

สิ่งสำคัญที่เราไม่ควรมองข้าม คือ ในบริบทที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความจำกัดเรื่องงบประมาณ หากแต่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องเร่งพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาองค์ความรู้ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเชี่ยวชาญในองค์ความรู้เฉพาะทางนั้น การเริ่มต้นจากการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นจุดแกร่งของมหาวิทยาลัย เป็นข้อเสนอที่ผมเคยเสนอมาตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านใดด้านหนึ่งอย่างเจาะจง รวมถึงเป็นการสร้าง “ความสามารถในการแข่งขัน” และสร้าง “จุดขาย” ให้แก่มหาวิทยาลัย เพราะแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัย มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่แตกต่างกัน อันจะมีส่วนสนับสนุนการผลิตบุคลากร และองค์ความรู้ในจุดแกร่งที่จะมีส่วนเพิ่มขีดความสามารถด้านต่าง ๆ ให้แก่ประเทศได้ต่อไป

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *