ศิลปการพูดต่อที่ชุมชน*

ศิลปการพูดต่อที่ชุมชน*

ประสาร มฤคพิทักษ์
ประธานกรรมการบริษัทชีวิตธุรกิจ จำกัด

สวัสดีท่านปลัดอำเภอทุกท่านครับ วันนี้ผมจะมาเล่าประสบการณ์วิธีการพูดต่อที่ชุมชน หรือ
ศิลปการพูดต่อที่ชุมชน ก่อนที่ท่านจะพูดเรื่องอะไร ท่านต้องใช้วิธีการดึงดูดความสนใจมายังตัวท่านโดยใช้เทคนิคอะไรก็ได้ แต่วันนี้ผมจะยกตัวอย่างเรื่องฝนตกหนัก วันหนึ่งฝนตกหนัก คุณขับรถยนต์สปอตผ่านคน 3 คนคนที่1เป็นคนแก่ คนที่ 2 เป็นเด็ก คนที่ 3 เป็นผู้หญิงสาวสวย แล้วคุณจะรับใครคนใดคนหนึ่ง
คนที่ 1 เป็นคนแก่ คนที่ 2 เป็นเด็ก คนที่ 3 เป็นผู้หญิงสาวสวย นั้นเป็นการตัดสินใจในการใช้เทคนิค โดยให้ผู้ฟังของเรามีส่วนร่วม และใช้ความคิดร่วมกัน และแสดงความคิดซึ่งกันและกัน ก็จะได้ความคิดหลากหลาย ถือว่าเป็นส่วนร่วมอย่างหนึ่ง ที่ผมเริ่มต้นตรงนี้เพราะว่า ผมจะนำเสนอสิ่งหนึ่งในแง่คิดมุมหนึ่งหรือ ทัศนคติ
คำว่า “ ทัศนคติ “เป็นสิ่งที่มีค่าต่อทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม แม้แต่เรื่องการพูดในที่ชุมชน
“ ทัศนคติ “ เป็นสภาวะความพร้อมทางจิต ซึ่งเกิดขึ้นจากประสบการณ์ สภาวะความพร้อมนี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางหรือเป็นตัวกระตุ้นปฏิกิริยาตอบสนองของบุคคลหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ใจคุณคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยคิดได้ 2 อย่างคือ เชิงบวก และเชิงลบ แล้วเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญทุกเมื่อเชื่อวัน หากคนเราคิดในเชิงบวกก็จะทำให้ชีวิตเรามีคุณค่า เมื่อคิดเชิงลบก็จะทำให้ชีวิตไม่มีคุณค่า ในที่นี้ผมจะพูดในเชิงบวก
การคิดเชิงบวก (Positive thinking)
ในการคิดเชิงบวกมี 3 หัวข้อดังนี้
1. ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้ อะไรที่เกิดขึ้นแก้ไขได้อย่าคิดว่าทำไม่ได้ สงสัยพูดไม่ได้ประหม่าแน่เลย จะนำอะไรไปพูด สงสัยไม่รอด ขาสั่น ถ้าหากคิดอย่างนี้แล้วเราจะไม่มีความกล้าหาญที่จะพูด ปัญหาทุกอย่างในโลกนี้สามารถแก้ไขปัญหาได้ว่าจะอยู่ในระดับไหนเท่านั้นเอง
ก่อนอื่นเราต้องคิดอย่างเป็นระบบและเป็นโครงสร้าง ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่า ซื้อหมูหรือแพะมา 200บาท ขายไป300 บาท เสร็จแล้วตัวที่คุณขายไปซื้อคืนมา 400 บาท ขายไปอีกครั้งหนึ่ง 500 บาท ได้กำไร200 บาท
2. อะไรที่ทำได้ทันทีไม่ต้องรอเวลา ในการคิดดี ทำดี ทำได้เลย เช่น พูดตอนเช้า 5 นาที ตัดสินใจทำอย่างสง่าผ่าเผย แสดงออกแล้วพูดประเด็นที่เตรียมมาในโลกทำได้หลายเรื่องไม่ต้องรอเวลาใครบ้างที่ซองผ้าป่าถาวร
3. ทุกคนมีส่วนดี นำส่วนดีมาใช้ ทำให้ชีวิตมีคุณค่า มีความหมาย และเราสามารถควบคุมได้
อย่างน้อยควบคุมในระดับหนึ่งอะไรที่เราคุมได้เราต้องใช้ความพยายามปัจจุบันนี้ข้าราชการต้องบริการประชาชน จะเห็นว่าอธิบดีกรมการปกครองเน้นเรื่องการบริการประชาชน(อำเภอยิ้ม) เป็นอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ข้าราชการปรับเปลี่ยนมากในเรื่องการให้บริการประชาชน ทำให้เร็ว สะดวก ทันใจ เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำบัตรประชาชนไม่ถึง 15 นาทีเสร็จ ทำใบขับขี่ 15 นาทีได้
*เก็บความและเรียบเรียงจากการบรรยายหลักสูตรปลัดอำเภอผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งที่ได้รับการปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งใหม่รุ่นที่ 1 และรุ่นที่ 2 เมื่อวันพุธที่ 14 กรกฏาคม 2547 ณ วิทยาลัยการปกครอง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
สิ่งที่เราจะเรียนรู้การพูดในที่ชุมชนมีคำของหลวงวิจิตร วาทการ (นักปราชญ์ของเมืองไทย) พิมพ์หนังสือไว้หลายเล่ม เช่น พุทธานุภาพ เมาะลำเลิง กำนัลใจ เลือดสุพรรณ หลวงวิจิตรวาทการบอกว่า
ถ้าท่านไม่อาจยืนพูด
ต่อน่าชุมชนได้
อย่าปรารถนาเป็นผู้นำ
ก็แปลว่า คนที่เป็นผู้นำจะเป็นคนที่สามารถพูดต่อหน้าชุมชนได้คงไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องเป็นนายเขา หรือเป็นรัฐมนตรี ใดๆ แต่ความเป็นปลัดอำเภอ คุณใหญ่รองจากนายอำเภอ หมายถึง เขาให้บทบาทคุณ หากนายอำเภอไม่อยู่ พวกท่านต้องขึ้นบนเวทีพูดแทนนายอำเภอ พวกท่านต้องพูดให้เป็น เช่น ทำการเปิดงานต่าง ๆ ทำการสัมมนา การอวยพรเจ้าบ่าวเจ้าสาว ฯลฯ เพราะฉะนั้นจะต้องทำหน้าที่ตรงนี้ การพูดเป็นอย่างไร การพูดมี 3 แบบ 4 วิธี 11 ข้อแนะนำ
การพูดมี 3 แบบ ดังนี้คือ
1. บอกเล่าหรือบรรยาย (Descriptive speech)
2. จูงใจหรือชักชวน(Persuasive speech)
3. บันเทิง (Recrative speech)
1. บอกเล่าหรือบรรยาย(Descriptive speech) คือ การพูดเหมือนครูอาจารย์ในโรงเรียน หรือ ในมหาวิทยาลัยที่คุณเรียนมา ประสบการณ์ที่คุณผ่านมาทุกคน คุณนึกออกไหมที่มีครูอาจารย์ที่สอนหนังสือคุณ ทำให้ไม่มีการจูงใจ ไม่สนุก
2. จูงใจ หรือชักชวน (Persuasive speech) เป็นการพูดที่นักการเมืองเป็นผู้ใช้ เช่น อบต. สส. สว. สท. เพื่อให้ถูกเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ สส. สว. อะไรก็แล้วแต่
3. บันเทิง(Recreative speech) หมายถึง บรรดานักแสดง ตัวตลก เช่น ตระกูลเชิญยิ้ม นักพูดหลายคนสามารถพูดได้ เช่น สภาโจ๊ก ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ITV
การพูดทั้ง 3แบบเหล่านี้จะทำให้เราพูดประสบผลสำเร็จหากนักพูดคนใด ขาดข้อใดข้อหนึ่งจะทำให้น่าเบื่อ พูดได้ 15 นาที ก็ชวนหลับเสียแล้ว เช่น อาจารย์ผู้สอนนักเรียนหากไม่มีการพูดแบบจูงใจเอาแต่บอกเล่าอย่างเดียว นักเรียนหลับ แสดงว่า ผู้พูดเป็นผู้กำหนดพฤติกรรมของผู้ฟัง ผู้พูดเฉื่อยเนื่อยผู้ฟังก็เฉื่อยเนื่อย ผู้พูดเหี่ยวเฉา ผู้ฟังก็เหี่ยวเฉาไปด้วย ผู้พูดกระตือรือร้น ผู้ฟังก็กระตือรือร้นไปด้วย
การพูดมี 4 วิธี ดังนี้
1 ท่องจำมาพูด (Memorized speech)
2. อ่านร่างหรือต้นฉบับ (Reading the speech or Manuscripted)
3. พูดจากความเข้าใจหรือจดเฉพาะหัวข้อ (Extempo speech)
4. พูดอย่างกระทันหัน (Impromptu speech)
วิธีที่ 1 การท่องจำมาพูด (Memorized speech) หมายถึง ทุกตัวอักษรที่คุณจะพูด คุณท่องมา เช่น ท่องของครึ่งหน้ากระดาษเอสี่ วิธีนี้ เป็นวิธีที่ไม่นิยม เขาไม่ใช้กัน เพราะว่า เวลาท่องใจเราจดจ่อกับคำและบรรทัดต่อไปประโยคต่อไปจะมีปัญหาและสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นจะทำให้เดือดร้อน น้ำเสียงไม่เป็นธรรมชาติ สายตาไม่สอดส่าย เสียงเป็นโทนเดียวกันตลอด การท่องหมายถึง การนำคำคม คำพังเพย คำสุภาษิต มาสอดมาใส่ มาแทรก ให้กลมกลืนกับเนื้อเรื่อง เช่น ผูกไมตรีอย่ารู้ร้าง สร้างกุศล อย่ารู้โรย ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง มีควันโยงผูกสายไว้ที่ปลายเสา เหล่านี้เราหยิบมาใส่ไว้ หากคุณท่องของแท้มาสอดใส่ แต่หากท่องทั้งหมดเป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้
วิธีที่ 2 อ่านจากร่างหรือต้นฉบับ (Reading the speech or Manuscripted) คือ มีคำกล่าวเตรียมไว้หรือมีตัวหนังสือที่เป็นเนื้อเรื่องเตรียมไว้ให้อ่าน เช่น หากวันพรุ่งนี้ พูด 5 นาทีในตอนเช้าหลังจากเคารพธงชาติ แล้วคุณท่องมาทั้งหมดตั้งแต่คำแรกถึงคำสุดท้าย คนที่จะอ่านจากร่างนั้นเขาจะใช้ในพิธีการ เช่น เปิดประชุม เปิดสัมมนา
วิธีที่ 3 พูดจากความเข้าใจหรือจดเฉพาะหัวข้อ (Extempo speech) วิธีนี้เป็นวิธีที่จะยืด หรือจะหดก็ได้ สามารถปรับได้ตามสถานการณ์ ผมพูดผมใช้วิธีที่ 3 เวลาอาจจะเพิ่มขึ้นก็ได้ หากวิทยากรอีกคนไม่มา แทนที่ผมจะพูด 2 ชั่วโมง ผมกับพูด 3 ชั่วโมงผมสามารถขยายได้ ผมต้องพูด 3 ชั่วโมงปรากฏว่าวิทยากรคนก่อนกินเวลาผมก่อนครึ่งชั่วโมง ผมเลยต้องหดเหลือ 2 ชั่วโมงครึ่ง ผมก็สามารถจะหดได้ เป็นการพูดจากความเข้าใจ
วิธีที่ 4 พูดอย่างกระทันหัน(Imprompth speech) เป็นการพูดแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว คุณอาจจะรู้ล่วงหน้าก่อนนิดหน่อย เช่น ไปถึงงานปั๊บไปอวยพร เจ้าบ่าวเจ้าสาว เพราะว่านายอำเภอไม่มา คุณเป็นปลัดอำเภอคุณต้องพูดแทน คุณต้องทำได้ วิธีนี้มีข้อแนะนำอยู่เล็กน้อยคนที่เขียนเป็นนักกลอน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้เลย วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยให้เกิดการนำล่องเพื่อที่จะพูดต่อได้ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรพูดต่อได้หมดเลย โดยใช้คำเกริ่นนำดังนี้ก่อน
อันวันไหนไม่สำคัญเท่าวันนี้
เป็นวันที่ที่สำคัญกว่าวันไหน
วันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ดีอย่างไร
ก็ยังไม่สำคัญเท่าวันนี้
คำกล่าวนี้ใช้ได้ทุกงาน ยกเว้น งานศพ อย่านำไปใช้ คำกล่าวช่วยให้การเกิดตั้งต้น แต่ต่อออกไปได้เลย เช่น วันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ดีอย่างไร ก็ยังไม่สำคัญเท่าวันนี้ แล้วเราต่ออกไปเป็น เพราะวันนี้เป็นวันที่คุณอิสริยา และคุณประเสริฐ กำลังจะใช้นามสกุลเดียวกันต่อหน้าสักขีพยานจำนวน 200 – 300 คน ที่อยู่ ณ ที่นี้ เป็นต้น
งานเปิดสัมมนา งานเลี้ยงส่ง ก็ยังใช้ได้ เขาเรียกว่าเป็นกลอนหากินต่อไปเป็นหลักในการพูดต่อที่ชุมชน
หลักการพูดต่อที่ชุมชน 11 ประการ
หลักการพูดต่อที่ชุมชน มี 11 ประการ ดังนี้คือ
1. พูดเรื่องที่รู้ดี คำว่า “ รู้ดี “ หมายความว่าคุณสัมผัสกับมัน คุณทำงานและเรียนรู้อยู่กับมัน เกี่ยวข้องกับมันโดยตรง แล้วคุณไปพูด คุณมีความสามารถในการรู้เรื่องความปลอดภัย คุณมีความรู้เรื่องงานทะเบียนราษฎรคุณก็พูดเรื่องงานทะเบียนราษฎรได้ คุณควรพูดในเรื่องที่ถนัด เช่น ให้ไปพูดเรื่องการตลาด ผมไม่สัดทันก็พูดไม่ได้ดี
2. มีการเตรียมตัว การเตรียมตัวมี 2 อย่าง คือ
1. รู้เขา
2. รู้เรา
รู้เขา รู้เรา เป็นคำกล่าวของซุนวูที่ว่า รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง และ รู้สภาพแวดล้อม รู้เขาคือรู้คน รู้สภาพแวดล้อม(อยู่ในรู้เขาก็ได้) เช่น เมื่อเช้านี้ผมบรรยายอีกกลุ่มหนึ่งผมบรรยาย 09.00 น. แต่ผมมาตั้งแต่ 08.00 น. ผมขอมาเร็วเพื่อจะได้เข้าใจสภาพ ผมก็เลยรู้ว่าจะต้องตื่น 05.00 น. คุณต้องออกมาบริหาร่างกาย 10 ท่าพญายม แล้วมีการจ๊อกกิ้ง คุณอยู่ในห้องนอนหนึ่งมี 3 คน แล้วหลังเคารพธงชาติคุณมาพูดสารคดี 5 นาที แล้วไปศึกษาดูงาน ผมรู้ทำให้ผมมีข้อมูลที่จะสื่อสารกับพวกท่านได้ มีลักษณะที่ใกล้เคียงและเป็นเรื่องเดียวกันหน่อย ไม่ได้ห่างกันคนละโยชน์ คนละทาง
3. เชื่อมั่นในตนเอง หากคุณมี ข้อ 1 และ ข้อ 2 อยู่ในตัว คุณก็มีความเชื่อมั่น 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว คุณมีการเตรียมตัว คุณก็เพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็น 75 เปอร์เซ็นต์ คุณสร้างพลังความเชื่อมั่นให้กับตนเอง เพราะตอนเช้าถึงคิวที่จะมาพูด แล้วคิดว่าคนก่อนคุณเขาพูดดี แล้วเราจะทำอย่างไร สงสัยคงไม่รอดแน่ เขาให้ใช้คำพูดว่า
“ สู้ตาย “ เพื่อเป็นการเพิ่มพลัง หายใจลึก ๆ ยาว ๆ ออกมาอย่างสง่าผ่าเผยด้วยความเชื่อมั่นในตนเอง มาถึงไมโครโฟนแล้วยังสั่นอยู่ มือเย็น เขาให้เปล่งเสียงดัง ๆ เพื่อข่มความกลัว “ เพื่อนสมาชิกปลัดอำเภอทั้งหลายครับ “ ทำให้เขากลัวเราและเงียบที่จะฟังเรา ไม่ใช่มาข่มในที่ประชุม แต่ว่าอย่าเสียงดังตลอดเพราะจะทำให้แสบคอ เป็นการใช้เสียงดังตอนแรกเพราะจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเองนี้เป็นเรื่องที่เพื่อจะออกมาหน้าเวที หากมีลูกเล่นในการใช้ ใช้อารมณ์ขันก็สามารถจะช่วยได้หรือการที่คุณสร้างการมีส่วนร่วม ผมทักทายคุณว่า คุณคิดอะไรบ้างกรณีพูดต่อหน้าชุมชน เช่น ปัญหาของคุณคืออะไรบ้างบอกผมมาเพื่อเป็นการสร้างความเป็นกันเองขึ้นมา
4. แต่งกายเหมาะสมเรียบร้อย แต่งกายให้พอเหมาะ ไม่ใช่แต่งตัวแพรวพราวมีสร้อย 8 เส้น แหวน 8 วง จึงกลายเป็นว่ามาโชว์ด้วยเครื่องแต่งกายและเครื่องประดับอย่าให้เป็นแฟชั่น เช่น ใส่กางเกงสีเขียว เสื้อสีแดง ผูกเน็คไทสีเหลือง ใส่รองเท้า อาดิดัส ใส่นาฬิกาเซลามูน เหมือนคนบ้า อย่าให้การแต่งกายเป็นปัญหาเมื่อแต่งกายดีแล้วก่อนจะพูด ควรเข้าห้องน้ำสำรวจดูว่าเน็คไทคุณไม่เบี้ยวเฉไปเฉมา เสิ้อคุณอยู่ในกางเกงเรียบร้อยหรือยังเพื่อให้หมดกังวลกับการแต่งกายแล้วเราจะสบายในการพูดแต่ถ้าเรากังวลกระเป๋าตุงหรือเปล่า ก็จะไม่เรียบร้อยเสียบุคลิกภาพ
5. ปรากฏกายกระตือรือร้น จงทำตัวกระตือรือร้นแล้วจะกระตือรือร้นไปเอง เหนื่อย เพลีย ง่วงนอน จงทำเป็นเหมือนแกล้งทำ แต่เรามีความรับผิดชอบต่อที่ประชุมอย่าให้เกิดความเฉื่อยชา
6. ใช้ท่าทางประกอบการพูด ใช้ท่าทางแบบไหน เช่น เราจะใช้ไมโครโฟน เราต้องยืนห่างจากไมโครโฟน โดยเท้า 2 ข้าง ไม่ห่างไม่เกินคืบ เราจะรู้สึกว่ามั่นคงการเคลื่อนไหวกายส่วนบนจะง่ายและสะดวกอย่ายืนชิดเพราะจะทำให้ลำตัวท่อนล่างไม่มั่นคงอย่ายืนถ่าง น่าเกลียด หากยืนพูด 5 นาที ทิ้งน้ำหนักลง 2 เท้า พอ ๆ กัน อย่าพักขาหากพูดนาน ๆ อยากจะพักบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่ากัน มือทั้ง 2 ข้าง ทิ้งข้างตัวลงธรรมดา
7. สบสายตา เป็นเรื่องที่สำคัญ คำว่า “ ดวงตาเป็นหน้าต่างของดวงใจ ” หมายความว่าผู้พูดจะต้องสบตากับผู้ฟัง ส่ายหน้าไปส่ายหน้ามา
8. พูดภาษาเดียวกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากสื่อสารกันแล้วไม่เข้าใจในภาษาที่พูดจะทำให้ไม่ตรงกับเป้าหมายที่เราต้องการ ในฐานะที่คุณเป็นผู้สื่อความหมายคุณจะต้องสร้างความเข้าใจให้มาก ๆ
9. กลั่นจากความจริงใจ เป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่เกิดความปะหม่า เช่น กรณีของยายไฮ ที่คุณสรยุทธ สุทัศนรจินดา สัมภาษณ์ จะเห็นว่า คุณยายจะตอบจากใจ ซึ่งคุณยายไฮ ไม่ได้ฝึกหัดการพูดมาก่อนเลย แต่ทำให้ความประหมาไม่มี ถึงแม้จะอยู่ในห้องส่งของสถานีโทรทัศน์ก็ตาม
10. ให้ตัวอย่างอารมณ์ขัน ยกตัวอย่างให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ขัน เช่น ใครที่ชื่อมีคำว่าภร จะเห็นว่าเป็นคนสวย อย่างเช่น อภัสรา หงสกุล อาริยา ศิริโสภา หากพบก่อนมาใช้คำว่ามฤคพิทักษ์ก็ได้ (หัวเราะ)
11. หมั่นฝึกหัด หมายความว่า วันพรุ่งนี้เราจะพูดคุณก็เตรียมตัวคืนนี้ได้เลย และฝึกหัดพูดกับเพื่อนร่วมห้อง เพื่อให้เพื่อนตำหนิก็จะดี จะได้หาทางปรับปรุงแก้ไขต่อไป

สุดท้ายผมขอฝากเรื่องศิลปการพูดต่อที่ชุมชน 3 แบบ 4 วิธี 11 ข้อแนะนำที่กล่าวมาข้างต้นให้พวกท่านนำไปปฏิบัติงานให้เกิดผลสำเร็จยิ่ง ๆ ขึ้นไป และหากพบกันในวันข้างหน้า กรุณาทักทายกันบ้าง บางครั้งผมจำไม่ได้ผมขออภัยด้วย เพราะผมพบคนเป็นร้อยเป็นพัน ขอแสดงความปรารถนาดีมายังว่าที่ปลัดอำเภอที่คุณกำลังจะได้รับหน้าที่ หลังจากก้าวเข้าสู่วันที่คุณได้ผ่านการทดลองงานแล้ว ขอให้โชคดีทุกคนครับ

*******************************
เก็บความและเรียบเรียงโดย
นางพรรณธิภา ธนสันติ นพบ.6
วิทยาลัยการปกครอง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *