วิธีป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
วิธีป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
• คุณภาพชีวิต
หยุดแพร่เชื้อ ตัวการสำคัญป้องกันไข้หวัดใหญ่
ในช่วงฤดูระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่คือ หน้าฝน ประมาณตั้งแต่เดือนพฤษภาคมพบว่า ร้อยละ 40 ของเด็กก่อนวัยเรียน และ ร้อยละ 30 ของเด็กในวัยเรียนนั้นมีอาการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ นอกจากนั้นผลวิจัยยังพบว่า เด็กเล็กอายุไม่ถึง 1 ปี ที่มีสุขภาพอนามัยแข็งแรง เป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงมากต่อการเป็นโรคแทรกซ้อนร้ายแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ เท่ากับกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เลยทีเดียว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุน้อยกว่า 23 เดือน ซึ่งโรคแทรกซ้อนร้ายแรงมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้น ได้แก่ โรคปอดบวมโดยมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย การสูญเสียน้ำ รวมไปถึงโรคไซนัส และการติดเชื้อในหู นอกจากนี้แล้วกลุ่มเด็กเล็กที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหืดหอบ โรคเบาหวาน โรคระบบหลอดเลือดหัวใจ และเด็กที่ร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ก็มีความเสี่ยงมากที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนได้เช่นกัน
สำหรับวิธีป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่นั้น เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การฉีดวัคซีนซึ่งจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายได้ โดยวัคซีนสามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่แล้ว ยังจะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในเด็กเล็กอีกด้วย การฉีดวัคซีนแนะนำให้ฉีดทุกปี และควรฉีดในช่วงก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งพบว่ามีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่มาก ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นภายหลังได้รับวัคซีนประมาณ 14 วัน สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้จากสถานพยาบาล และโรงพยาบาลทั่วไป
ประสิทธิภาพการป้องกันโรคจากการฉีดวัคซีนนั้น มีสูงถึง ร้อยละ 60-90 นอกจากประโยชน์ทางตรงที่ได้รับจากการฉีดวัคซีนคือ ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยแล้ว การฉีดวัคซีนยังมีประโยชน์ทางอ้อมคือ ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการไปพบแพทย์ ค่ารักษาพยาบาล รวมไปถึงเวลาที่ผู้ปกครองต้องหยุดงานเพื่อพาเด็กไปพบแพทย์
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่คือ การหยุดแพร่กระจายเชื้อ เนื่องจากเด็กเล็กเป็นตัวการสำคัญในการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไปสู่คนอื่นๆ ในบ้าน เพราะพบว่าเด็กเมื่อติดเชื้อจะมีเชื้ออยู่ในตัวมาก เพราะเด็กไม่มีภูมิคุ้มกัน เชื้อจะแบ่งตัวได้มาก ดังนั้น เด็กจึงสามารถแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่า และนานกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ สำหรับการแพร่เชื้อนั้น เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูกหรือคอ และแพร่จากการสัมผัสคนๆ หนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยผ่านทางละอองน้ำมูก เมื่อมีการไอจามรดกันหรือการสัมผัสสิ่งที่มีเชื้อเจือปน ดังนั้น จึงพบว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้เด็ก ผู้ใหญ่ก็จะป่วยด้วยโรคนี้ลดลงด้วย เช่น ในประเทศญี่ป่น ได้มีการรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ให้เด็ก ปรากฏว่าผู้ใหญ่ในประเทศก็ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ลดลงเช่นเดียวกัน
ดังที่ได้กล่าวถึงความอันตรายของโรคไข้หวัดใหญ่ และความสำคัญของการป้องกัน U.S. Advisory Committee on Immunization Practices ได้ออกมารณรงค์การได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้แก่เด็กเล็ก และผู้ที่มีปัญหาโรคเรื้อรังในทุกช่วงอายุ และยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้หวัด โดยการฉีดวัคซีนสำหรับกลุ่มเด็กต่อไปนี้เป็นพิเศษ
เด็กเล็กทุกคนที่มีอายุระหว่าง 6-23 เดือน รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาชิกในครอบครัว หรือต้องดูแลเด็กทารกอายุต่ำกว่า 6 เดือน และเด็กเล็กตั้งแต่ 6-23 เดือน เด็กเล็กอายุ 2 ปี ที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เด็กและวัยรุ่น ที่มีอายุ 6 เดือน ถึง 18 ปี ที่ได้รับการบำบัดโรคโดยใช้ยาแอสไพรินเป็นเวลานาน
สุขลักษณนิสัยที่ช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ยับยั้งการแพร่ของเชื้อ คือ ปิดจมูกและปากด้วยกระดาษทิชชูเมื่อมีอาการไอและจาม ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ โดยเฉพาะหลังอาการไอและจาม หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา จมูกและปาก บ่อยครั้งที่เชื้อโรคจะแพร่กระจายโดยวิธีนี้ เด็กๆ ควรได้รับการดูแลรักษาระหว่างที่ไม่สบายอยู่ที่บ้าน เพื่อลดการแพร่ระบาดที่โรงเรียน
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน