วิธีคิด 10 มิติ

วิธีคิด 10 มิติ

ยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ “ความรู้ คือ อำนาจ” อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะสามารถใช้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ให้เกิดอำนาจได้นั้น จำเป็นต้องมีความสามารถ ในการใช้ปรับข้อมูลข่าวสาร ให้อยู่ในรูปขององค์ความรู้ และนำมาใช้ประกอบการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งผู้ที่จะสามารถเป็นเช่นนั้นได้ จะต้องมีคุณสมบัติประการหนึ่งในชีวิต นั่นคือ “คิดเป็น”

การคิด (Thinking) คือ การที่คนคนหนึ่งพยายามใช้พลังทางสมองของตน ในการนำเอาข้อมูล ความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ที่มีอยู่ มาจัดวางอย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้มา ซึ่งผลลัพธ์ เช่น การตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ดีที่สุด เป็นต้น

การคิด เหมือนการเรียงหินที่กระจัดกระจาย ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยนำหินแต่ละก้อน มาประกอบกันในแต่ละที่ อย่างเหมาะสม “การเรียงหิน” เปรียบได้กับ “การจัดระเบียบข้อมูล” ที่เราได้ใช้การคิดไตร่ตรองอย่าง ละเอียดรอบคอบ ลึกซึ้ง และมีระบบระเบียบ คนที่ “คิดเป็น” จะสามารถจัดข้อมูลให้เรียงกัน อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อให้ได้ความคิดที่ดีที่สุด เช่นเดียวกับหิน ที่ได้รับการจัดวางเรียงอย่างเหมาะสม ย่อมกลายเป็นอาคารที่งดงามได้ในที่สุด ในขณะเดียวกัน คนที่ “คิดไม่เป็น” ก็เหมือนกันคนที่โยนก้อนหินมากองๆ รวมกัน หรือจัดอย่างสะเปะสะปะ ไม่รู้ว่า ก้อนใดควรอยู่ที่ใด ความคิดที่ออกมา จึงไม่ได้เป็นความคิดที่มีความชัดเจน และเป็นระบบระเบียบ
ความสามารถในการคิด ทำให้มนุษย์มีความเป็นมนุษย์ ที่มีความแตกต่างจากสัตว์ สามารถแก้ปัญหาให้กับตนเองได้ สามารถคิดสร้างสรรค์เครื่องทุ่นแรง สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ได้ สามารถสร้างความสุข ให้กับตนเอง และปกป้องตนเองให้พ้นจากภัยธรรมชาติได้ การคิด ทำให้คนไม่ถูกหลอก ด้วยการตีความ หรือยอมรับการตีความข้อมูลอย่างผิดๆ และไม่เชื่อถือสิ่งต่างๆ อย่างง่ายๆ แต่จะวินิจฉัยไตร่ตรอง และพิสูจน์ความจริง อย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจเลือก
วิธีคิด : การเรียงหินสะเปะสะปะ เพราะคิดไม่เป็น

การคิดของคนในสังคมไทย เป็นการคิดที่จะสร้างปัญหา มากกว่าก่อให้เกิดการพัฒนา ตั้งแต่ในระดับปัจเจกบุคคล จนถึงแม้บางครั้ง ระดับผู้นำทางความคิดในสังคม สังคมไทยจึงอยู่ในภาวะอ่อนแอทางความคิด

เราเป็นคนที่เชื่อง่าย ถูกหลอกง่าย เพราะเราไม่คิด หรือคิดไม่เป็น เรามักเชื่อตามบุคคลที่น่าเชื่อถือ เช่น ผู้อาวุโส นักวิชาการ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ หรือไม่ก็เชื่อตามโชคชะตา หรือคิดไปเองว่า ใช่แน่ๆ หลายครั้งเราจึงถูกหลอกทางความคิดอย่างง่ายๆ เพราะไม่เรียนรู้ที่จะเสาะแสวงหาข้อเท็จจริง ของสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง และไม่พยายามตั้งคำถาม กับสิ่งที่ควรสงสัย

เราตัดสินใจเลือกในสิ่งที่ผิด เพราะคิดผิด ดราไม่ได้คิดวิเคราะห์ และคิดเปรียบเทียบ ผลดี ผลเสีย อย่างรอบคอบ ขาดการคิดอย่างบูรณาการ และการคิดเชิงอนาคต จึงทำให้คิดผิด โดยคิดมุ่งหวังเพียงผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือคิดอย่างไม่สมดุล และเข้าข้างตนเองอย่างอคติ บางครั้งเราเห็นคนอื่นๆ ทำบางสิ่งได้ ก็มักคิดว่า สิ่งนั้นถูกต้อง และสมควรเลียนแบบ เช่น ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เรามุ่งรวยแบบเก็งกำไร ทั้งเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ และตลาดหุ้น โดยไม่คำนึงถึงผลเสีย ซึ่งที่หากวิเคราะห์ตามข้อเท็จจริง ย่อมเข้าใจได้ว่า มันน่าจะเกิดปัญหาขึ้นในที่สุด เป็นต้น
เราไม่สามารถคิดแก้ปัญหาให้กับตนเองได้ เช่น เราแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้กับตนเองไม่ได้ ต้องพึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อย่างเกินเหตุ ในการเข้ามาจัดการแก้ไขทางเศรษฐกิจ ของประเทศ ทั้งๆ ที่เขาก็ไม่ได้ประยุกต์สูตรการแก้ไขปัญหา แบบเข้าใจบริบทที่แตกต่างของสังคมไทย จนทำให้เมื่อนำมาใช้อย่างเถรตรง จึงเกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย

เราไม่สามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ เช่น เราคิดเทคโนโลยีใหม่ๆ เองไม่ได้ เพราะเราไม่เคยลงทุนอย่างจริงจัง ในการทำวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน เราไม่มีนักคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม อย่างเพียงพอ ภายในประเทศ ซึ่งทำให้เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยี จากต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากค่านิยมสังคม ระบบ และบริบทต่างๆ ในสังคมไทย ไม่เอื้อให้คนคิด อาทิ

ค่านิยมสังคม “ไม่ต้องคิด” สังคมไทย เป็นสังคมที่มีความเป็นเผด็จการทางความคิด กล่าวคือ ไม่เปิดโอกาสให้คนคิดแตกต่าง แต่เน้นการเชื่อฟัง มากกว่าการมีอิสระเสรีภาพทางความคิด ตั้งแต่ระบบครอบครัว ที่เน้นการเชื่อฟังเป็นหลัก พ่อแม่เป็นผู้ออกคำสั่ง เด็กที่อยู่ในโอวาท เชื่อฟัง จะได้รับการชมเชย ส่วนเด็กที่ชอบคิด ใช้เหตุผลที่แย้งจากผู้ใหญ่ ก็จะถูกมองว่า ชอบเถียง สะท้อนจากภาษิต และคำพังเพยต่างๆ อาทิ เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด อาบน้ำร้อนมาก่อน ฯลฯ
ค่านิยมสังคม “ไม่ต้องคิด” ไม่สอนให้คนคิดเป็น ทำเป็น ประยุกต์ใช้เป็น แต่สอนให้จำ วิธีประเมินผล คือ คนที่ท่องจำได้มากเป็นคนเก่ง คนที่เชื่อฟังครู ไม่ซักถาม ไม่โต้แย้ง คือ นักเรียนที่ดี เด็กที่คิดมากๆ ทั้งคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ คิดถกเถียงวิพากย์ ใช้เหตุผลกับครูผู้สอน จึงมักอยู่ในระบบการศึกษาไทยไม่ได้ เพราะถูกมองว่า ก้าวร้าว ไม่เชื่อฟัง การเรียนจึงไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กคิดเป็น เมื่อเติบโตมา จึงกลายเป็นสภาพที่คนในประเทศส่วนใหญ่ มีลักษณะที่คิดไม่เป็น และแก้ไขปัญหาให้กับตนเองไม่ได้

ระบบการเมือง “ไม่ต้องคิด” เราอยู่ในระบบของการรวมศูนย์อำนาจ จาก “บนลงล่าง” มาโดยตลอด ทำให้เรา แม้ไม่ต้องคิด ก็มีคนมาช่วยเหลือ สั่งการ ยิ่งกว่านั้น การคิดมากเกินไป อาจเป็นการทำร้ายตนเองได้ โดยไม่รู้ตัว คนที่คิดแตกต่างจากฝ่ายมีอำนาจปกครอง มักจะได้รับการมองว่า เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ
ถ้าคิด … อาจมีปัญหา คนที่ไม่ต้องใช้ความคิดเลย ก็สามารถอยู่ในสังคมได้ หากเขาเชื่อฟัง และกระทำตาม ในทางตรงกันข้าม คนที่มีความสามารถในการคิด การใช้เหตุผล คิดมาก คิดสร้างสรรค์ คิดวิพากย์ในสังคม นอกจากจะมีน้อยแล้ว อาจถูกต่อต้าน หากความคิดนั้นขัดแย้งกับผู้มีอำนาจในสังคม นอกจากนี้ สังคมยังไม่ส่งเสริมให้คนมีความคิดแตกต่างหลากหลาย เช่น นักวิชาการที่มีแนวคิดใหม่ๆ มักจะต้องถูกดูดเข้าสู่กระบวนการไตรภาวะ คือ ภาวะกดคน ที่เกิดขึ้นเมื่อพบว่า คนมีฝีมือ หรือทำดีเด่นมากเกินกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งหากคนนั้น สามารถแหวกผ่านภาวะนี้ไปได้ ก็ต้องเข้าสู่ ภาวะลองของ คือ สังคมเปิดโอกาสให้เขาแสดงฝีมือ แต่ด้วยใจที่อยากให้เขาไปไม่รอด มากกว่าที่จะสนับสนุน และหากลองของแล้ว ความสามารถผ่าน ก็จะเข้าสู่ ภาวะใช้ประโยชน์ คือ ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งมีน้อยคนนัก ที่จะหลุดผ่าน จนมาถึงขั้นสุดท้ายได้ ส่วนใหญ่จะไม่มีใครกล้าทำดี เพราะกลัวภัย หรือกลัวมีปัญหา เนื่องจาก “ไม่มีใครอยากเห็น เราเด่นเกิน” อันเป็นอุปสรรคในการสร้าง ผู้มีปัญญาในสังคมไทย

สังคมเน้น “เลียนแบบ” มากกว่าคิดเอง สังคมไทยเป็นสังคมที่ชื่นชมแนวคิดตะวันตก ทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว หากพิจารณาแนวคิดการพัฒนาประเทศ ที่เรานำมาใช้ในทุกวันนี้ ล้วนลอกเลียนมาจาก แนวคิดตะวันตกแทบทั้งสิ้น เท่าที่สำรวจดู แทบจะไม่มีแนวคิดใด ที่คนไทยเป็นผู้ที่คิดขึ้นมา จากรากของความเป็นไทย ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปไตย ธรรมรัฐ ประชาสังคม คนไทยเพียงแต่แปลคำภาษาไทยสวยๆ กำกับไว้ และอ้างราวกับว่า ตนเองเป็นผู้ที่คิดแนวคิดนั้นขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้ว ก็เพียงแต่เป็นการรับแนวคิดตะวันตก โดยไม่อ้างอิงจากนักคิดบางคน ที่ตนชื่นชอบมานั่นเอง และหลายครั้งก็ไม่ได้คิดประยุกต์อย่างรอบคอบ ว่า ความคิดที่นำเข้ามานั้น เหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่

การเปิดกว้าง เพื่อรับความเจริญ หรือความคิดสำเร็จรูป จากประเทศตะวันตก โดยปราศจากการคิด จากรากฐานของความเป็นไทย ส่งผลให้สิ่งที่เรารับมานั้น สวมเข้าได้ไม่สนิทกับสังคมไทย เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่มีเอกลักษณ์ ทางวัฒนธรรมเฉพาะตัว มีค่านิยมสังคม มีความรู้ความสามารถ และความเข้าใจในเรื่องที่รับมานั้น แตกต่างกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง สู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ค่านิยมเดิมยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจนิยม อาวุโสนิยม อุปถัมภ์นิยม ไม่ได้ยึดหลักประชาธิปไตยนิยมอย่างแท้จริง สะท้อนให้เห็นจาก การที่ประเทศไทยปกครอง โดยรัฐบาลเผด็จการทหาร มานานกว่าครึ่งหนึ่งของระยะเวลา นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ระบอบการผปกครองเช่นนี้ ไม่ได้เอื้อให้คนในสังคมต้องคิด แต่เน้นการเชื่อฟัง อยู่ใต้อำนาจผู้ปกครองเป็นหลัก
คนไทยจึงมีวัฒนธรรมการคิดอยู่น้อย เราไม่มีวัฒนธรรมการคิด และการเขียน มีแต่วัฒนธรรมการฟัง กับการพูด คนส่วนใหญ่ไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่ชอบดูรายการโทรทัศน์ หังรายการวิทยุ ดราย่อมคิดไม่เป็น เพราะเราใช้เวลาส่วนใหญ่วันละ 2-3 ชั่วโมง ดูรายการโทรทัศน์ที่มักไม่ประเทือง หรือแม้พยุงปัญญา และไม่ได้ใช้เวลาที่มีอยู่ ในการอ่านหนังสือสนทนาเชิงปัญญา หรือแสวงหาความรู้ เราไม่ชอบสั่งสมข้อมูล ไม่สนใจประวัติศาสตร์ ไม่สนใจที่จะต่อยอดความรู้ก่ายกันขึ้นทางปัญญา แต่นิยมที่จะเลียนแบบ และคัดลอกมาทั้งหมด อย่างสำเร็จรูป คนไทยต้องเรียนรู้ที่จะ “คิด”

การพัฒนาประเทศ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการลอกเลียนแบบความเจริญ จากประเทศที่เจริญแล้ว ว่า “ลอกแบบ” ได้เหมือนเพียงใด แต่การพัฒนาประเทศให้เจริญไปสู่ทิศทางใดนั้น ขึ้นอยู่กับ “ฐานคิด” ของคนในประเทศ ที่สอดคล้องกับความเจริญ ที่เราต้องการจะไปเป็นสำคัญ

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีปัญหาหลากหลายด้าน การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างยากลำบาก ปัญหาสำคัญ เนื่องจาก สังคมไทยขาด “นักคิด” ที่ทำหน้าที่ในการนำความคิด ของคนในประเทศ นำแนวทางการพัฒนาอย่างมีเป้าหมายที่ชัดเจน และขาดประชาชนที่ “คิดเป็น” ดังนั้น หากเราต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาต่อไปได้ ไม่เสียเปรียบ ไม่ถูกหลอกง่าย และสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ เราจำเป็นต้องให้คนไทย “คิดเป็น” คือ รู้จักวิธีการคิดที่ถูกต้อง เมื่อข้อมูลเข้ามาปะทะ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้อง อย่างไม่ผิดพลาด

ผมขอเสนอแนวทางของผมเองว่า การที่คนในประเทศ จะสามารถคิดเป็นนั้น จำเป็นต้องได้รับการเปิดทาง และแนะแนวให้มีความสามารถในการคิด ครบ 10 มิติ นั่นคือ

ประการแรก การคิดเชิงวิพากย์ (Critical Thinking) หมายถึง ความตั้งใจที่จะพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยการไม่เห็นคล้อยตามข้อเสนออย่างง่ายๆ แต่ตั้งคำถามท้าทาย หรือโต้แย้งสมมติฐาน และข้อสมมติที่อยู่เบื้องหลัง และพยายามเปิดแนวทางความคิด ออกลู่ทางต่างๆ ที่แตกต่างจากข้อเสนอนั้น เพื่อให้สามารถได้คำตอบที่สมเหตุสมผล มากกว่าข้อเสนอเดิม

ประการที่สอง การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) หมายถึง การจำแนกแจกแจงองค์ประกอบต่างๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง ของสิ่งที่เกิดขึ้น

ประการที่สาม การคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis-Type Thinking) หมายถึง ความสามารถในการดึงองค์ประกอบต่างๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ

ประการที่สี่ การคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thinking) หมายถึง การพิจารณาเทียบเคียงความเหมือน และ/หรือ ความแตกต่าง ระหว่างสิ่งนั้น กับสิ่งอื่นๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สามารถอธิบายเรื่องนั้นได้อย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการคิด การแก้ปัญหา หรือการหาทางเลือดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ประการที่ห้า การคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking) หมายถึง ความสามารถในการประสานข้อมูลทั้งหมด ที่มีอยู่ เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใด ได้อย่างไม่ขัดแย้ง แล้วนำมาสร้างเป็นความคิดรวบยอด หรือกรอบความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น

ประการที่หก การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) หมายถึง การขยายขอบเขตความคิดออกไป จากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ สู่ความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุด ให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น

ประการที่เจ็ด การคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking) หมายถึง ความสามารถในการนำเอาสิ่งที่มีอยู่เดิม ไปปรับใช้ประโยชน์ในบริบทใหม่ ได้อย่างเหมาะสม โดยยังคงหลักการของสิ่งเดิมไว้

ประการที่แปด การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) หมายถึง ความสามารถในการกำหนดแนวทางที่ดีที่สุด ภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าหาแกนหลักได้อย่างเหมาะสม เพื่ออธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ประการที่เก้า การคิดเชิงบูรณาการ (Integrative Thinking) หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมโยงแนวคิด หรือองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าหาแกนหลักได้อย่างเหมาะสม เพื่ออธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

ประการที่สิบ การคิดเชิงอนาคต (Futuristic Thinking) หมายถึง ความสามารถในการคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคต อย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม

ในยุคของการล่าอาณานิคมในอดีต ที่บีบให้ประเทศไทยต้องปรับตัว ให้ทันสมัย เพื่อความอยู่รอดของประเทศ อย่างตั้งตัวไม่ทัน ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนเฉพาะ “หน้าฉาก” กล่าวคือ ระบบต่างๆ ที่มีความทันสมุย เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ โดยที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง “หลังฉาก” ด้วย กล่าวคือ ไม่ได้เปลี่ยนที่รากฐานความคิดของคนในประเทศ ให้พร้อมกับสิ่งใหม่ๆ ที่ได้รับการหยิบยื่นให้ อย่างมีจุดยืน ที่เป็นตัวของตัวเอง แต่การทำให้คนของเราคิดเป็นเช่นนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลง “หลังฉาก” กล่าวคือ เปลี่ยนที่รากฐานความคิด ของคนในสังคม

ถ้าคนในสังคมของเรารู้จักวิธีคิดทั้ง 10 มิติ จะช่วยให้เราเป็นผู้ชนะในศตวรรษที่ 21 ได้ เพราะจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จ และยากที่จะผิดพลาดในการติดสินใจ ทำสิ่งใดๆ เราจะไม่หลงเชื่อสิ่งใดอย่างง่ายๆ แต่จะคิดไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนตัดสินใจ สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์ และสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีกลยุทธ์ ทำให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ อีกทั้งสามารถเตรียมความพร้อม ให้กับอนาคต ที่จะมาถึง ได้อย่างรอบคอบ ซึ่งรายละเอียด และการสอนวิธีคิดในแต่ละมิตินั้น ผมได้เขียนหนังสือ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดมิติละหนึ่งเล่ม เพื่อให้สามารถบรรจุเนื้อหา และรายละเอียดในการคิดแต่ละมิติ ได้อย่างครบถ้วน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *